ขบวนการต่อต้านลาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ขบวนการต่อต้านลาว เป็นขบวนการของชาวลาวพลัดถิ่นและชาวม้งลาวที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนใหญ่เป็นชาวม้งที่อพยพลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยตามศูนย์อพยพต่างๆ ประกอบด้วยกลุ่มหลัก 3 กลุ่มคือ

  • กลุ่มแรกเป็นกลุ่มของรัฐบาลราชอาณาจักรลาวพลัดถิ่นและเจ้ามหาชีวิตลาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวลาวลุ่ม
  • กลุ่มสองของนายพลวังเปา เรียกว่าแนวโฮมกู้ชาติ นายเยี่ยล่ง แซ่มัว และนายเล่า แซ่ลี เป็นผู้ดูแลชาวม้งในสังกัดที่เข้าไปพำนักในที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอก มีเป้าหมายเพื่อยึดอำนาจการปกครองในลาว ได้รับการสนับสนุนจากนายพลวังเปาที่ลี้ภัยไปแล้วและม้งสัญชาติสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าอื่นที่อยู่กลุ่มนี้ด้วยคือ เผ่าเหย้า และกลุ่มลาวลุ่มฝ่ายรัฐบาลราชอาณาจักรลาวเดิมที่ตกค้างอยู่ โดยกลุ่มนี้จะอยู่ที่ศุนย์อพยพบ้านวินัย จ.เลย
  • กลุ่มสามคือพรรคเจ้าฟ้า มีทั้งที่อยู่ในไทยและลาว มีเป้าหมายเพื่อแบ่งแยกดินแดนออกจากการปกครองของลาว ได้รับการสนับสนุนในด้านการศึกษาและการฝึกอาวุธจากจีน กลุ่มที่อยู่ในไทยนำโดยนายปาเกา แซ่เฮ่อ กลุ่มที่เคลื่อนไหวในบริเวณภูเบี้ย-ภูซางในลาว นำโดยนายย้งยัว แซ่เฮ่อ ผู้นำทั้งสองคนเสียชีวิตไปแล้ว และกลุ่มอื่นเช่น กลุ่มนายหว้าจู๋จี๋ กลุ่มนายย่างเหลือ กลุ่มนายแต๊ง แซ่ย่างซึ่งเป็นผู้ดูแลชาวม้งในสังกัดที่เข้าไปพำนักในที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอก กองกำลังม้งในภูเบี้ย-ภูซางได้สลายกองกำลังไปอยู่ที่บอลิคำไซ สุวรรณเขต และจำปาศักดิ์

การต่อสู้ของทั้ง 3 กลุ่ม ใช้การรบแบบกองโจรตามแนวชายแดนไทย-ลาว ประสานกับกองกำลังชาวลาวและชาวม้งที่ฝังตัวในลาว การเคลื่อนไหวของขบวนการระหว่าง พ.ศ. 2518 – 2534 สร้างความเสียหายแก่ทหารลาวมาก ในปี พ.ศ. 2530-2531 เกิดกรณีพิพาทไทย-ลาว สมรภูมิบ้านร่มเกล้า ทางการไทยได้ทำการฝึกกลุ่มม้งในศูนย์อพยพที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอก โดยให้ศูนย์สงครามพิเศษเป็นหน่วยฝึก เป็นกองกำลังกองโจรแบบลับ ๆ ส่งเข้าไปทางจังหวัดน่านเพื่อเข้าไปทำการรบตามแนวชายแดนและเข้าไปหลังแนวข้าศึกในประเทศลาว ตัดการส่งกำลังบำรุงของลาวจากเมืองไชยบุรีไปยังชายแดนบ้านร่มเกล้าและเนิน1428 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลาวยอมเจรจากับไทย แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ยอมให้สัญชาติไทยกับคนม้งเหล่านี้ทั้งหมดตามที่ได้สัญญาไว้แต่ต้น จนกลายเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบัน หลายคนได้ไปประเทศที่สาม หลายคนได้สัญชาติไทย แต่หลายคนทุกวันนี้ยังอยู่ในไทยแต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยทั้งที่ไปรบช่วยประเทศไทยมา โดยทางกองทัพเคยให้เหตุผลว่าทำรายชื่อตกหล่น และตั้งแต่ พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้กดดันสลายกองกำลังม้งลาวกลุ่มต่าง ๆ ในไทย ทำให้บางส่วนต้องแฝงตัวกับชาวม้งที่มีสัญชาติไทยและยุติการเคลื่อนไหว หลบหนีไปยังที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี หรืออพยพไปยังประเทศที่สาม ต่อมา ชุมชนชาวม้งในที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอกได้ปิดตัวลงในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ชาวม้งลาวส่วนใหญ่ถูกส่งไปประเทศที่สามคือสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บางส่วนที่ได้สัญชาติไทยและยังไม่ได้สัญชาติกระจายไปอยู่ยังหมู่บ้านม้งเชื้อสายไทยตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น เชียงราย ตาก เพชรบูรณ์ พะเยา และน่าน เป็นต้น บางส่วนหลบหนีไปอยู่เมืองยอน ประเทศพม่า

อ้างอิง[แก้]

  • สิทธิเดช วงศ์ปรัชญา. ม้งลาวถ้ำกระบอกกับปัญหาความมั่นคงและการไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา ใน ม้งลาวในประเทศไทย นโยบายและการดำเนินการของภาครัฐไทย (2518 – 2552). สุภางค์ จันทวานิช และ ถวิล เปลี่ยนศรี, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์. 2554. หน้า 96 - 101
  • บันทึกการสัมภาษณ์ม้งศูนย์ที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอก และการนำเสนอรายการทางช่อง ThaiPBS