ก่วมแดง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ก่วมแดง
ก่วมแดงบนภูกระดึง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Sapindales
วงศ์: Sapindaceae[1]
สกุล: Acer
สปีชีส์: A.  calcaratum
ชื่อทวินาม
Acer calcaratum
Gagnep.

ก่วมแดง หรือ ไฟเดือนห้า[2] เป็นพืชในสกุลเมเปิล วงศ์เงาะ พบในประเทศไทย พม่า และเวียดนาม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ก่วมแดงเป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 12–25 เมตร ลำต้นแตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมยาว เปลือกเรียบ สีเทาอมน้ำตาล ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามเป็นคู่สลับตั้งฉาก ใบเว้าเป็น 3 แฉก ปลายใบแหลม ขอบเรียบ โคนใบเว้าตรงรอยต่อก้านใบชัดเจน ช่อดอกสั้นออกตามปลายกิ่ง ดอกเล็ก สีขาว ฐานดอกมีต่อมน้ำหวานรูปวงกลมสีแดง ผลแห้ง รูปไข่ มักเจริญเพียงผลเดียว ส่วนบนมีปีกยาวปลายมนสีแดง ผลอีกผลส่วนใหญ่จะไม่สมบูรณ์ ค่อนข้างลีบ มีขนาดเล็กมาก แต่ละช่อมีผล 1–4 ผล ช่อผลตั้ง ชูผลขึ้นข้างบน ออกดอกเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ผลแก่เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน[3]

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย[แก้]

ก่วมแดงมีเขตการกระจายพันธุ์แคบ พบตามป่าดิบเขาหรือตามริมลำธารบนภูเขาหินทราย ระดับความสูง 1,300–2,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยพบในประเทศจีน (ยูนนาน) พม่า เวียดนาม และไทย ในประเทศไทยพบทางภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน (อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ภูเข้ และอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน) ภาคกลางพบที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดเลย (อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง)[4][5]

อ้างอิง[แก้]

  1. Stevens, P. F. (2001). "Angiosperm Phylogeny". Website. Version 9 , June 2008 [and more or less continuously updated since].
  2. เต็ม สมิตินันทน์ (2006). "ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย". สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-01.
  3. ก่วมแดง พืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
  4. "ก่วม > ก่วมแดง". สารานุกรมพืชในประเทศไทย. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช. 29 เมษายน 2016.
  5. hooknoi. "เที่ยวน่านกันต่อ: ภูเข้ ภูงามแห่งเมืองน่าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มิถุนายน 2022. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Acer calcaratum ที่วิกิสปีชีส์