กู่กาสิงห์
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
กู่กาสิงห์ ตั้งอยู่ในวัดบูรพากู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นโบราณสถานสถาปัตยกรรมแบบเขมรอีกแห่งหนึ่ง มีขนาดค่อนข้างใหญ่และยังอยู่ในสภาพดีพอควร
ลักษณะ
[แก้]ประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีวิหารหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่าบรรณาลัย อยู่ทางด้านหน้าทั้งสองข้าง ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งมีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ถัดออกไปเป็นคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ปรางค์ประธานหรืออาคารหลักที่มี 3 องค์นั้น ตั้งเรียงอยู่บนฐานเดียวกันในแนวเหนือ-ใต้ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าอีก 2 องค์ที่ขนาบข้าง และมีมุขยื่นทางด้านหน้าเป็นห้องยาว มีประตูทางเข้า 3 ทาง คือด้านหน้าและด้านข้างของห้องยาวทั้งสอง ส่วนฐานขององค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาทรายยังคงปรากฏลวดลายสลักเป็นชั้นเป็นแนว เช่น ลายกลีบบัวและลายกนก ผนังก่ออิฐ ที่ห้องในสุดหรือส่วนครรภคฤหะได้ค้นพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของเทพสูงสุด (พระอิศวร) และความอุดมสมบูรณ์ตามลัทธิความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย นอกจากนี้ยังพบทับหลังอีกหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในซุ้มเรือนแก้ว โดยยืนอยู่เหนือหน้ากาล ซึ่งมีมือยึดจับท่อนพวงมาลัยอีกทีหนึ่ง และยังได้พบซุ้มหน้าบันสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่ามกลางลายก้านขดอีกด้วย ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบนั้น มีขนาดและลักษณะเดียวกัน ฐานก่อด้วยศิลาทราย ผนังก่ออิฐมีประตูเพียงด้านหน้า ภายในมีแท่นรูปเคารพวางอยู่จากลวดลายของศิลปกรรม แบบแผนผังและโบราณวัตถุที่พบแสดงให้ทราบว่า กู่กาสิงห์สร้างขึ้นในแบบศิลปะเขมรที่เรียกว่า "แบบบาปวน" อายุราว พ.ศ. 1560-1630 เพื่อเป็นเทวสถานอุทิศถวายแด่พระอิศวร เทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ประเพณีไทยดอตคอม เก็บถาวร 2005-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน