ข้ามไปเนื้อหา

หนูตะเภา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กินนี่พิก)
หนูตะเภา
เสียงร้องของหนูตะเภา
สถานะการอนุรักษ์
สัตว์เลี้ยงหรือปศุสัตว์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordate
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Rodentia
วงศ์: Caviidae
วงศ์ย่อย: Caviinae
สกุล: Cavia
สปีชีส์: C.  porcellus
ชื่อทวินาม
Cavia porcellus
(Linnaeus, 1758)
ชื่อพ้อง
  • Mus porcellus
  • Cavia cobaya
  • Cavia anolaimae
  • Cavia cutleri
  • Cavia leucopyga
  • Cavia longipilis

หนูตะเภา (อังกฤษ: Guinea pig, Cavy, ชื่อวิทยาศาสตร์: Cavia porcellus) เป็นสิ่งมีชีวิตที่จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทฟันแทะ ชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ แถบประเทศเปรู เป็นสัตว์เลี้ยง และสัตว์ทดลองที่ได้รับความนิยม

ในประเทศไทย ยังนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หนูแกสบี โดยมักใช้กับสายพันธุ์สัตว์เลี้ยงจากต่างประเทศที่ได้รับการพัฒนา มีลักษณะภายนอกแตกต่างจากหนูตะเภาทั่วไปที่มีในประเทศไทย ไม่ปรากฏการใช้ชื่อนี้ในภาษาอื่น

นิรุกติศาสตร์

[แก้]

ในภาษาอังกฤษ เรียก หนูตะเภา ว่า หมู อาจมีสาเหตุต่าง ๆ เช่น

  • นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าเนื่องจาก หนูตะเภา มีรูปร่างที่คล้ายลูกหมูที่ยังไม่หย่านมแม่ และเมื่อนำมาประกอบอาหารจะมีรสชาติคล้ายหมู ในภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า หมู (pig) ส่วนคำว่า กินนี อาจจะเพี้ยนมาจากคำว่ากายอานา ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งชาวยุโรปได้ติดต่อค้าขายด้วย [1]
  • ตำนานของคำว่า หนูตะเภา อีกแหล่งนึง คือ พ่อค้าชาวดัตช์เคยเอามาขายในราคา 1 กินนี ซึ่งเป็นเงินเหรียญโบราณที่เคยใช้ในทวีปยุโรปสมัยก่อน [1]
  • อีกตำนานที่น่าสนใจคือ ในครั้งแรกที่ชาวสเปนเดินทางไปถึงตลาดของชาวเปรู ได้พบเห็นหนูตะเภาถูกวางขายอยู่เป็นจำนวนมาก และดูคล้ายลูกหมูที่ยังไม่หย่านม และมีเสียงร้องคล้ายลูกหมู ก็เลยเรียกชื่อหนูตะเภานั้นว่าหมูของอินเดียนตัวเล็ก ส่วนคำว่าหนูตะเภา นั้นก็มาจากความเข้าใจผิดของชาวอังกฤษ ในอดีตอังกฤษทำการค้ากับทางชายฝั่งนิวกินี มากกว่าทางอเมริกาใต้ ดังนั้นเมื่อกะลาสี หรือพ่อค้าชาวดัตช์ นำเอาหนูตะเภาเข้าสู่ยุโรป ก็เลยเข้าใจผิดว่าหนูมาจากชายฝั่งนิวกินี ก็เลยเรียกหนูพวกนี้ว่า หนูตะเภา[1]
  • นอกจากนี้หนูตะเภานี้ยังถูกใช้เป็นสัตว์ทดลองในห้องปฏิบัติการด้วย คำว่าหนูตะเภา ในภาษาอังกฤษยังมีความหมาย โดยนัยว่า สัตว์ลองยา เนื่องจากใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ หนูตะเภาพันธุ์พิเศษจะถูกขยายพันธุ์ และขายให้กับห้องปฏิบัติการ ส่วนใหญ่ในปีหนึ่ง ๆ ประมาณว่ามีหนูตะเภาถูกใช้ในการทดลองถึง 500,000 ตัว[1]

เควี่

[แก้]

ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักจะเรียกหนูตะเภาว่าเควี่ ซึ่งเป็นชื่อที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด เพราะมาจากชื่อวิทยาศาสตร์ว่า cavus มาจากคำว่า "ถ้ำ" (Cave) เพราะสัตว์ประเภทนี้อาศัยอยู่ในถ้ำหรือโพรง อีกอย่างคือคำว่าเควี่สั้นและเรียกง่ายกว่าหนูตะเภา จริงๆแล้ว ในประเทศทางแถบยุโรปจะเรียกหนูตะเภาว่าหนูเควี่ ซึ่งเป็นชื่อสากล ที่ส่วนใหญ่ใช้กันอยู่โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ ส่วนคำว่าเควี่จะนิยมใช้ใน อเมริกา[1]

แกสบี้

[แก้]

แกสบี้ที่คนเรานิยมเรียกกันเป็นการเรียกชื่อผิด ๆ มาตั้งแต่เริ่มแรก เริ่มจากผู้ขายเรียกว่า แกสบี้ ด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม ได้เรียกหนูชนิดนี้ว่าหนูแกสบี้ จากนั้นเป็นต้นมาคนไทยก็จะรู้จักหนูเควี่กันในชื่อที่เรียกว่า "แกสบี้ " ต่อมาเมื่อมีคนสนใจศึกษารายละอียดจากตำราภาษาต่างประเทศ จึงรู้ว่าชื่อที่ถูกต้องของหนูแกสบี้ คือ เควี่ หรือ หนูตะเภา[1]

ตะเภา

[แก้]

ส่วนชื่อที่เรียกกันในภาษาไทยว่า หนูตะเภา สันนิษฐานว่า ถูกนำเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยชาวจีนโดยผ่าน เรือสำเภา หรือ เรือตะเภา นั่นเอง[2]

ประวัติ

[แก้]

มีการค้นพบซากโครงกระดูกเมื่อปี ค.ศ. 2000 ว่าบรรพบุรุษของหนูตะเภา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phoberomys pattersoni เป็นสัตว์ฟันแทะตัวขนาดเท่าควาย และมีน้ำหนักถึง 1,500 ปอนด์ (680 กิโลกรัม) มีอายุกว่า 8 ล้านปีมาแล้ว ที่ทวีปอเมริกาใต้ จนได้รับฉายาว่า "กินนี่-ซิลล่า"[3]

หนูตะเภา เปลี่ยนสถานะจากสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยงระหว่าง 9,000-3,000 ปีก่อนคริสตกาล เพื่อใช้รับประทานของชาวอินคา ชนพื้นเมืองแถบเทือกเขาแอนดีส หนูตะเภา ถูกนำเข้าไปยังยุโรปโดยชาวสเปนและชาวดัตช์เมื่อกว่า 300 ปีแล้ว ขณะเข้าไปปกครองอเมริกาใต้ และนับจากนั้นมาหนูตะเภาก็ถูกเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง มีการคัดเลือกพันธุ์เพื่อให้ได้ลักษณะเฉพาะ และสีสันใหม่ ๆ เพื่อการประกวดมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระหว่างและหลังคริสต์ศตวรรษที่ 16 หนูตะเภาเป็นที่นิยมมากในเหล่าขุนนางและชนชั้นสูงของยุโรป แม้กระทั่งสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ก็ยังทรงเลี้ยงไว้ดูเล่น[1]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวอังกฤษก็ได้อพยพมายังสหรัฐอเมริกา และได้นำเอาหนูตะเภาที่ได้เพาะพันธุ์และมีพัฒนาจนมีความสวยงาม ย้อนกลับเข้าไปในทวีปอเมริกาเหนือ จนเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ มาจนปัจจุบัน โดยได้มีการจัดตั้งสมาคมของผู้เลี้ยงหนูตะเภาขึ้นในปี ค.ศ. 1910 ที่รู้จักกันดีในนามของ สมาคมผู้เพาะพันธุ์เควี่แห่งอเมริกา (American Cavy Breeders Association หรือ ACBA) เพื่อควบคุมดูแลเรื่องเกี่ยวกับหนูตะเภาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นสาขาหนึ่งที่แตกออกมาจากสมาคมผู้เพาะพันธุ์กระต่ายแห่งอเมริกา (American Rabbit Breeders Association Inc.) ทุกวันนี้หนูตะเภาได้รับความนิยมและแพร่กระจายไปทั่วโลก[1]

ชาวพื้นเมืองอินคาในอเมริกาใต้ นำหนูตะเภามาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เนื้อของมันเป็นอาหารเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา[1]มานานกว่า 5,000 ปีแล้ว ปัจจุบันชาวเปรูบริโภคหนูตะเภามากถึง 22 ล้านตัวต่อปี เพราะเนื้อหนูตะเภามีโปรตีนมากกว่าและไขมันน้อยกว่าเนื้อหมูหรือไก่ [4]

สายพันธุ์ของหนูตะเภา

[แก้]

พันธุ์ขนสั้น

[แก้]

Short Hair หรือ American บางคนจะเรียกว่า American Short Hair หรือ English Short Hair คือขนสั้นตรงไม่มีขวัญ ซึ่งแบ่งย่อยเป็น Self หรือ Non-Self เป็นพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากกที่สุดในสหรัฐอเมริกาจมูกกลม ขนจะสั้นแต่อ่อนนุ่ม พันธุ์ short hair

Crest คือขวัญ ลักษณะจะเหมือนกับ American Short Hair แต่จะมีขวัญบนหัว แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. English Crested แบบนี้หงอนหรือขวัญที่หัวจะเป็นสีเดียวกับลำตัว
  2. American Crested แบบนี้ขวัญหรือหงอนบนหัวจะมีสีแตกต่างจากตัว

Abyssinion นี้เป็นสายพันธุ์เก่าแก่ที่สุด เชื่อกันว่าเป็นพันธุ์ที่ฉลาดที่สุดในทุกพันธุ์ และจะมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากพันธุ์อื่นๆอย่างชัดเจนคือมีขวัญเต็มไปหมดทั้งตัว โดยจะมีขวัญ 2 ขวัญอยู่บนไหล่ ข้างละขวัญ มีอีก 4 ขวัญอยู่บนหลัง มี 2 ขวัญอยู่บนตะโพก และ อีก 2 ขวัญอยู่ด้านหลังสุด พันธุ์อะบิสสิเนี่ยนที่สวยขวัญจะไม่สะเปะสะปะ จะเรียงเป็นระเบียบ ขนจะหยาบแต่หนา ขนจะยาวประมาณหนึ่งนิ้วครึ่ง แต่เมืองไทยเราไม่นิยมเลี้ยง เพราะคล้ายหนูผสม หรือหนูขวัญ

Teddy เป็นหนูตะเภาที่มีขนหนา แต่สั้นประมาณ 3/4 นิ้ว และขนจะหยิกเล็กน้อย ซึ่งเท็ดดี้จะมีขนแบ่งเป็น 2 ประเภท แบบแรกขนจะเป็นกำมะหยี่ ซึ่งจะนุ่ม แบบที่ 2 ขนจะหยาบ

Rex มีลักษณะคล้ายกับ Teddy แต่ขนจะหยิกและสั้น

พันธุ์ขนยาว

[แก้]
  • พันธุ์ขนตรง ได้แก่

Peruvian แต่ก่อนเรียกว่า แองโกล่า จะมีขวัญอยู่ที่บั้นท้าย 2 ขวัญ เมื่อโตแล้ว สายพันธุ์นี้จะมีขนยาวปกคลุมจนถึงพื้น ขนจะขึ้นไล่จากกลางหลัง ลงไปคลุมจนถึงพื้น ขนจะนุ่มและหนา พันธุ์นี้จะเป็นที่นิยมมากในบ้านเรา

Coronet จะมีขวัญ 1 ขวัญบนหน้าผาก ไม่ควรจะมีขวัญที่อื่นอีกเลย จะนิยมเลือกที่หน้าใหญ่ ไม่แหลม และก็โครงสร้างไหล่ควรจะกว้าง

Silkie ดูคล้ายโคโรเนต แต่จะไม่มีขวัญเลย ในประเทศอังกฤษจะเรียกว่า Sheltie ที่เรียกว่าซิลกี้ก็เพราะขนที่ยาวจะลื่นนุ่มมันวาวคล้ายไหม ขนของเค้าจะขึ้นจากจมูกย้อนไปทางด้านหลัง และตกลงด้านข้างในลักษณะหยดคล้ายกับหยดน้ำ ถ้าเป็นซิลกี้ซาติน ขนจะหนาเป็นมันวาวเหมือนซิลกี้ แต่เป็นมันเงาแวววาวกว่า

  • พันธุ์ขนหยิก ได้แก่

Texel เหมือนกับเป็น Silkie ที่ขนหยิก พันธุ์นี้ควรจะไม่มีขวัญ หลายคนกล่าวว่า Texel เป็นพันธุ์ที่หน้าสวยที่สุด

Alpaka เหมือนกับเป็น Peruvian ที่ขนหยิก ดังนั้นแนวขนจะต่างจาก Texel และจะมีขวัญอย่างเพรูเวี่ยน จึงไม่นิยมเอามาผสมกับ โคโรเนต

Marino เหมือนกับเป็น Coronet ที่ขนหยิก จะมีขวัญบนหัวเหมือนกับโคโรเนต แต่ขนหยิก

ความเชื่อเกี่ยวกับหนูตะเภา

[แก้]
  • พวกอินเดียน ในทวีปอเมริกาใต้ เชื่อว่าหนูตะเภามีพลังอำนาจในการที่จะติดต่อกับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติได้ ก็เลยคิดว่าหนูเหล่านี้มีพลังอำนาจในการบำบัดรักษาผู้เจ็บป่วย[1]
  • พวกอีควาดอร์บริเวณเทือกเขาแอนดิสจำนำเสื้อผ้าของผู้ป่วยมาผูกติดกับริบบิ้น และเส้นด้าย แล้วนำหนูแกสบี้ไปปล่อย ด้วยความเชื่อว่าหนูแกสบี้สามารถเคลื่อนย้ายความเจ็บป่วยจากคนไข้ ผ่านทางเสื้อผ้า โดยจะนำโรคภัยไปยังสถานที่ๆทำร้าย หรือ ทำอันตรายใครไม่ได้อีก [1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 "เว็บเควี่ไทยแลนด์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-03-25.
  2. หนูตะเภา
  3. "Guinea-zilla"—World's Largest Rodent?
  4. "A guinea pig for all tastes and seasons". The Economist. 2004-07-15.[ลิงก์เสีย]