ข้ามไปเนื้อหา

การถือผิว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผ่นป้ายการแยกผิวบนหาดเดอร์บัง ในภาษาอังกฤษ ภาษาแอฟริกัน และภาษาซูลู

การถือผิวในประเทศแอฟริกาใต้ (อังกฤษ: Apartheid; /əˈpɑːrt(h)t/, โดยเฉพาะภาษาอังกฤษแบบแอฟริกาใต้/əˈpɑːrt(h)t/, แอฟรีกานส์: aˈpartɦɛit; แปลว่า "separateness", แปลว่า "aparthood") เป็นระบบการแบ่งแยกกลุ่มคนต่างเชื้อชาติในแอฟริกาใต้และแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ ออกจากกัน บังคับใช้โดยรัฐบาลของพรรคชาตินิยม ระหว่างปี ค.ศ. 1948-1994

การแบ่งแยกคนต่างเชื้อชาติในประเทศแอฟริกาใต้เริ่มต้นตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม แต่การกำหนดเป็นนโยบายแยกคนต่างผิวออกจากกันนี้ได้เป็นนโยบายของรัฐหลังจากการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1948 โดยแบ่งแยกพลเมืองในประเทศออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ พวกผิวดำ ผิวขาว ผิวสี และพวกอินเดีย ที่อยู่อาศัยของประชาชนจะต้องจัดแบ่งแยกกันและถูกบังคับให้โยกย้าย ชนผิวดำถูกกีดกันออกจากสถานะความเป็นพลเมือง ราวหนึ่งในสิบแยกตัวออกไปปกครองตนเอง เรียกว่า บันตูสถาน (Bantustan) ในจำนวนนี้มีการแยกตัวเป็นรัฐอิสระ 4 แห่ง การแบ่งแยกของรัฐบาลรวมไปถึงการกำหนดการศึกษา การรักษาพยาบาล บริการสาธารณะต่าง ๆ โดยที่คนผิวดำจะได้รับบริการที่ด้อยกว่าคนผิวขาว

การแบ่งแยกผิวนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในประเทศอย่างรุนแรง[1] กลายเป็นการลุกฮือ ประท้วง และต่อต้านติดต่อกันจำนวนมาก ซึ่งถูกรัฐบาลสั่งปราบปรามและจำคุกบรรดาผู้นำขบวนการต่อต้านการแบ่งแยกผิวนี้เป็นจำนวนมาก ยิ่งการต่อต้านแผ่กระจายวงกว้างออกไปและรุนแรงขึ้นเพียงใด ฝ่ายปกครองก็ยิ่งตอบโต้ด้วยการกดดันและใช้กำลังรุนแรงมากขึ้นปานกัน

การปราบปรามการต่อต้านการเหยียดผิวเริ่มอ่อนแรงลงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1990 ประธานาธิบดี เฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก จึงได้เริ่มการเจรจาเพื่อยุติปัญหาการเหยียดผิว ต่อมาได้มีการเลือกตั้งแบบหลากชนชาติภายใต้ระบบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1994 ซึ่งผู้ชนะการเลือกตั้งคือพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา โดยการนำของ เนลสัน มันเดลา แต่ร่องรอยของการเหยียดผิวยังคงส่งผลต่อนโยบายทางการเมืองและสังคมของประเทศแอฟริกาใต้อยู่[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Lodge, Tom (1983). Black Politics in South Africa Since 1945. Longman. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |city= ถูกละเว้น แนะนำ (|location=) (help)
  2. "De Klerk dismantles apartheid in South Africa". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2009-02-21.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]