การเจรจา (เทอร์บอร์ค)
การเจรจา | |
---|---|
ศิลปิน | เจอราร์ด เทอร์บอร์ค |
ปี | ราว ค.ศ. 1654 |
ประเภท | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
สถานที่ | พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์ |
การเจรจา | |
---|---|
ศิลปิน | เจอราร์ด เทอร์บอร์ค |
ปี | ราว ค.ศ. 1654 |
ประเภท | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
สถานที่ | หอจิตรกรรมแห่งเบอร์ลิน, เยอรมนี |
การเจรจา (อังกฤษ: The Gallant Conversation) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยเจอราร์ด เทอร์บอร์คจิตรกรคนสำคัญชาวดัตช์ของสมัยยุคทองของเนเธอร์แลนด์ ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัมในประเทศเนเธอร์แลนด์
เจอราร์ด เทอร์บอร์คเขียนภาพ “การเจรจา” ราว ค.ศ. 1654 ชื่อภาพตั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในงานพิมพ์ในฝรั่งเศส เพราะเชื่อว่าเป็นภาพของพ่อที่กำลังดุลูกสาว แต่นักประวัติศาสตร์ศิลป์สมัยใหม่มีความเห็นว่าเป็นภาพการต่อรองระหว่างคู่รักสองคน ที่อาจจะเกี่ยวกับการหมั้นหมาย หรือ ที่น่าจะมีเหตุผลที่สุดคือเป็นภาพของลูกค้าต่อรองกับโสเภณีในสถานที่สำหรับทำการค้าประเวณี
จิตรกรรม
[แก้]เนื้อหาของภาพเป็นชายที่กำลังเจรจากับหญิงสาว ผู้ที่แต่งตัวอย่างงดงามด้วยผ้าซาตินสีเงินที่จุดที่ดึงดูดสายตาของผู้ชมภาพทันทีที่ได้เห็น ขณะที่ชายผู้ต่อรองแต่งตัวด้วยเครื่องแบบทหารถือหมวกอย่างดีไว้บนตัก ข้างชายเป็นหญิงสูงอายุผู้กำลังดื่มไวน์ และดูเหมือนจะไม่มีความสนใจในการเจรจาที่เกิดขึ้น ทางซ้ายของสตรีที่ยืนอยู่เป็นโต๊ะที่มีเทียนไขที่จุดอยู่, กระจก, ตลับแป้ง, หวี และ ริบบิน ด้านหลังเก้าอี้ของฝ่ายชายมีหมามอมแมม และในฉากหลังมีเตียงใหญ่
การตีความหมาย
[แก้]ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผู้ชมภาพเข้าใจว่าเป็นภาพของพ่อที่กำลังสั่งสอนลูกสาวที่ไปทำผิดมา ขณะที่แม่นั่งอดทนจิบไวน์อยู่ข้างๆ แต่การตีความหมายเช่นที่ว่ามีปัญหาหลายอย่าง ต่อมาผู้ศึกษาภาพนี้ให้ความสนใจกับความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงในภาพ ที่น่าจะเป็นคนรักมากกว่าที่จะเป็นพ่อกับลูกสาว ผู้ที่เดิมกล่าวกันว่าเป็นพ่อที่เห็นได้ชัดว่ามีอาชีพเป็นทหาร ดูจะมีอายุน้อยเกินกว่าที่จะเป็นพ่อของหญิงสาวในภาพและหนุ่มเกินกว่าที่จะเป็นสามีของสตรีสูงอายุที่นั่งอยู่ข้างๆ ดูจะเหมาะที่จะเป็นผู้หมายปองสตรีที่ยืนอยู่มากกว่า มีผู้เสนอว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพเป็นการเจรจาเกี่ยวกับการหมั้นหมายกับสตรีที่ยืนฟังอยู่อย่างตั้งอกตั้งใจ หรือ เป็นการเจรจาตกลงธุรกิจในสถานที่สำหรับทำการค้าประเวณี รายละเอียดของภาพเขียนมีความกำกวมพอที่เทอร์บอร์คจะทิ้งให้ผู้ชมตีความหมายของภาพตามแต่จะชอบใจ
เทอร์บอร์คเขียนภาพนี้หลายเวอร์ชัน หลังจากภาพที่หอจิตรกรรมแห่งเบอร์ลินได้รับการทำความสะอาด ก็พบว่าชายในภาพถือเงินระหว่างนิ้วในมือขวาที่ยกขึ้น ซึ่งทำให้เชื่อว่าการตีความหมายว่าเป็นภาพในสถานที่ที่ทำการค้าประเวณีเป็นการตีความหมายที่เหมาะสมกว่า เพราะการถือเงินในมือยากที่จะทำให้ตีความหมายเป็นอื่นได้ แต่ในขณะเดียวกันรายละเอียดหลายอย่างในภาพก็ดูจะเหมาะสมกับการตีความหมายเป็นอื่นได้พอพอกัน สตรีสูงอายุในภาพอาจจะเป็นได้ทั้งแม่เล้า (procuress) หรือแม่ของหญิงสาว เสื้อผ้าที่มีดูมีรสนิยมดีและการเอาใจใส่ต่อการแต่งตัวที่เห็นได้จากอุปกรณ์ต่างๆ บนโต๊ะ อาจจะตีความหมายได้ทั้งเป็นการทำเพื่อการดึงความสนใจจากลูกค้า หรือเพื่อหาสามี สุนัขหลังเก้าอี้ในภาพเป็นสิ่งที่ปรากฏในภาพเขียนของฉากภายในที่อยู่อาศัยในยุคนั้น แต่เป็นสุนัขผสมแทนที่จะเป็นพันธุ์แท้เช่นสแปนเนียล แต่กระนั้นการยืนตัวตรงทำให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ แทนที่จะเป็นบรรยากาศสบายๆ ในซ่องโสเภณี ภาพเขียนให้ความหมายเป็นนัยถึงความดึงดูดทางเพศ (sensuality) จากการที่มีเตียงใหญ่ตั้งเด่นอยู่ในภาพ สิ่งของเครื่องใช้ในการสร้างเสริมความงามแก่สตรี และขนนกฟูฟ่องบนหมวกของทหาร แต่ก็มิได้หมายความว่าความคิดที่ว่าเป็นฉากทางการจะหมดความหมายไป เพราะสังคมร่วมสมัยของเทอร์บอร์คจะทราบได้ว่าสถานการณ์ทั้งสองชนิดมีความคล้ายคลึงกัน และการมีเตียงในภาพก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นนัยถึงการเป็นสถานที่สำหรับทำการค้าประเวณี ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เตียงเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นที่มีค่าที่มักจะตั้งแสดงในห้องที่ดีที่สุดในบ้าน นอกไปจากเตียงแล้วก็แทบจะไม่มีการตกแต่งอื่นใดในห้อง ซึ่งทำให้ไม่สามารถบ่งถึงชนิดของห้องได้จากเครื่องเรือน
ก็อปปี
[แก้]ภาพเขียนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่เขียนขึ้นมา เทอร์บอร์คเองก็เขียนก็อปปี อย่างน้อยที่สุดก็มีอีก 24 ภาพที่เขียนโดยจิตรกรอื่น และเป็นภาพที่ปรากฏบางส่วนบนผนังในฉากหลังในภาพ “รองเท้าแตะ” โดยซามูเอล ฟาน ฮูกสทราเทน (Samuel van Hoogstraten, ค.ศ. 1627–1678)
อ้างอิง
[แก้]- Marleen Dominicus-van Soest (2003). Rijksmuseum Amsterdam: The Masterpieces. Rijksmuseum Amsterdam.
- "The Gallant Conversation". Rijksmuseum Amsterdam. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-23. สืบค้นเมื่อ 18 October 2007.
- "Gerard Ter Borch" (PDF). National Gallery of Art, Washington. 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-05-06. สืบค้นเมื่อ 18 October 2007.