การพิจารณาคดีแกนนำกระบวนการเอกราชกาตาลุญญา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาคารศาลสูงสุดสเปนในกรุงมาดริด

การพิจารณาคดีแกนนำกระบวนการเอกราชกาตาลุญญา ซึ่งมีชื่อทางกฎหมายว่า คดีพิเศษหมายเลข 20907/2017 ของศาลสูงสุดสเปน (สเปน: Causa Especial número: 20907/2017 del Tribunal Supremo de España; กาตาลา: Causa Especial número: 20907/2017 del Tribunal Suprem d'Espanya) และมีชื่อเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายว่า คดีกระบวนการ [เอกราช] (สเปน: causa del procés; กาตาลา: Causa del procés) คือการพิจารณาคดีด้วยวาจาที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ในศาลสูงสุดสเปน ปาโบล ยาเรนา ผู้พิพากษา เป็นผู้ประสานงานไต่สวนระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งส่งผลให้มีผู้ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี 12 คน ได้แก่ คณะผู้บริหารแคว้นกาตาลุญญาเกือบทั้งคณะของการ์ลัส ปุดจ์ดาโมน, ฌอร์ดี ซันเช็ซ และฌอร์ดี กูชาร์ต นักเคลื่อนไหวทางการเมือง, การ์มา ฟูร์กาเด็ลย์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติกาตาลุญญา และสมาชิกสภานิติบัญญัติกาตาลุญญาอีกหลายคน จำเลยบางคนถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดีโดยไม่มีการประกันตัวตั้งแต่เริ่มการไต่สวน[1][2]

จำเลยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเนื่องจากมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการลงประชามติเอกราชกาตาลุญญาในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 (ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสเปนประกาศว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีมติยับยั้งหลังจากนั้น) การผ่านร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญสเปนและธรรมนูญการปกครองตนเองกาตาลุญญา และการประกาศเอกราชกาตาลุญญาในวันที่ 27 ตุลาคม ปีเดียวกัน

การพิจารณาคดีสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562 และคำตัดสินคดีได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนในวันที่ 14 ตุลาคม ปีเดียวกัน[3] จำเลย 9 คนจากทั้งหมด 12 คนถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครองและถูกสั่งจำคุกระหว่าง 9–13 ปี โดย 4 คนในจำนวนนี้ยังถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานใช้งบประมาณรัฐในทางมิชอบ จำเลยที่เหลืออีก 3 คนถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานดื้อแพ่งและถูกสั่งปรับแต่ไม่ต้องโทษจำคุก[4][5][6] ศาลยกฟ้องข้อหากบฏ[3] จำเลยบางคนแสดงความตั้งใจที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญสเปนและศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปต่อไป[7][8]

อ้างอิง[แก้]

  1. "The trial of Catalan referendum leaders casts a long shadow over the EU's credibility". www.euronews.com. สืบค้นเมื่อ 2019-02-09.
  2. Congostrina, Alfonso L. (2019-02-01). "Catalan independence leaders moved to Madrid jails ahead of trial". El País (ภาษาอังกฤษ). ISSN 1134-6582. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-03. สืบค้นเมื่อ 2019-02-09.
  3. 3.0 3.1 "Spain court gives Catalan leaders long jail terms". BBC. 14 October 2019.
  4. Penas de 9 a 13 años para Junqueras y los otros líderes del ‘procés’ por sedición y malversación, El País (14/10/2019)
  5. Entre 9 y 13 años de cárcel para los líderes del ‘procés’ por sedición y malversación, La Vanguardia (14/10/2019)
  6. Sentencia. El TS condena a 13 años a Junqueras, 11 y medio a Forcadell y 9 a los 'Jordis', El Mundo (14/10/2019)
  7. "UNPO: Catalonia: Spanish Supreme Court to Issue Final Verdict on Catalan Leaders". unpo.org. สืบค้นเมื่อ 2019-08-17.
  8. Jones, Sam (2019-06-12). "Catalan leader defends push for independence on final day of trial". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2019-08-17.