การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อังกฤษ: environmental impact assessment ย่อว่า EIA) หมายถึง การประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะมีผลต่อสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาจนิยามได้ว่าเป็น "กระบวนการเพื่อการบ่งชี้ ทำนาย ประเมิน และบรรเทาผลกระทบทางชีวกายภาพ สังคม และผลกระทบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่มีต่อข้อเสนอการพัฒนาใด ๆ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจให้ลงมือดำเนินได้"[1] วัตถุประสงค์ของการประเมินก็เพื่อให้เป็นการประกันได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบของโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนทำการอนุมัติให้ดำเนินโครงการที่มีผู้ขออนุญาตดำเนินการ

ภาพรวม[แก้]

สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (US Environmental Protection Agency - EPA) เป็นผู้บุกเบิกในด้านนี้โดยใช้วิธี “วิเคราะห์เส้นทาง” (pathway analysis) เพื่อพิจารณาว่าโครงการจะกระทบต่อองค์ประกอบต่าง ๆ ของสิ่งแวดล้อมและดูว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไร เทคโนโลยีที่ใช้สำหรับวิเคราะห์ตามวิธีดังกล่าวเรียกอย่างถูกต้องว่า “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม” หลักการของปรากฏการณ์หรือเส้นทางของผลกระทบดังกล่าวได้แก่: การประเมินผลกระทบที่มีต่อการแปดเปื้อนของดิน (Soil contamination) มลภาวะของอากาศ (air pollution) สุขภาพจากเสียงดังหนวกหู การประเมินผลกระทบต่อระบบนิเวศ ต่อสิ่งมีชีวิตชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ (endangered species) การประเมินผลกระทบต่อความเสี่ยงทางธรณีวิทยา และการประเมินผลกระทบมลภาวะของน้ำ นิยามของการวิเคราะห์เชิงเส้นทางและระดับขั้นของธรรมชาติที่นำมาใช้ในวิธีการดังกล่าวนี้ได้พัฒนาเป็นพื้นฐานของมาตรฐานของประเภทสิ่งแวดล้อมที่ใช้ในระดับโลก คือ ISO 14000 ซึ่งเป็นอนุกรมมาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรฐานชุดบัญชี ISO 19011 แต่มาตรฐานชุด ISO ดังกล่าวไม่นิยมใช้ในสหรัฐฯ และในอีกหลายประเทศ

หลังการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว อาจมีการประยุกต์ใช้ “หลักการระแวดระวัง” (Precautionary Principle) และ “ผู้สร้างมลภาวะเป็นผู้จ่าย” (Polluter pays) เพื่อเป็นการป้องกัน จำกัด หรือบังคับให้มีการรับผิดตามกฎหมาย หรือให้จ่ายค่าเสียหายที่เกิดกับสภาพแวดล้อมมากน้อยตามผลกระทบที่จะตามมา

การวิเคราะห์ผลกระทบของสิ่งแวดล้อมนี้มักถูกต่อต้านหรือก่อให้เกิดปัญหาโต้เถียงกันขึ้นเสมอ การวิเคราะห์ผลกระทบที่ต้องมีควบคู่กันจึงเกิดขึ้นเรียกว่า “การประเมินผลกระทบทางสังคม” (Social impact assessment) การวิเคราะห์ผลกระทบต่อธุรกิจเรีกยกว่า “การวิเคราะห์บริบท” (Context analysis) ผลกระทบด้านการออกแบบจะทำการวิเคราะห์ด้วยเชิงของ “ทฤษฎีบริบท” (Context theory)

การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศต่าง ๆ ในโลก[แก้]

จีน[แก้]

ในประเทศจีน กฎหมายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมบังคับให้มีการประเมินผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อย ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการ อย่างไรก็ดี หากเจ้าของโครงการหรือผู้พัฒนาดื้อแพ่งไม่ดำเนินการประเมินและจัดส่งผลการประเมินฯ บทลงโทษอย่างมากก็คือ สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPB) จะบังคับให้ผู้พัฒนาโครงการทำการประเมินตามมาในภายหลังได้ และถ้าผู้พัฒนาไม่ยอมทำภายในเวลาที่กำหนดให้ EPB จึงจะปรับผู้พัฒนาได้ และค่าปรับอย่างสูงกำหนดไว้มากที่สุดไม่เกิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 850,000 บาท) ซึ่งเป็นมูลค่าเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับมูลค่าของโครงการ การขาดกลไกและมาตรการที่เข้มงวด มีผลทำให้จำนวนโครงการที่ไม่ยอมส่งผลประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนลงมือก่อสร้างทวีจำนวนเป็นอย่างมาก[2]

องค์การปกป้องสิ่งแวดล้อมระดับรัฐ (SEPA) ของจีนได้ใช้กฎหมายระงับการก่อสร้างไป 30 โครงการเมื่อ พ.ศ. 2547 รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 โครงการของบริษัทโครงการ "เขื่อนซานเสียต้าป้า" (เขื่อนสามผา) แต่ถึงกระนั้น ในหนึ่งเดือนต่อมา โครงการที่ถูกระงับทั้ง 30 โครงการก็สามารถเริ่มก่อสร้างต่อไปได้ นัยว่าได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปแล้ว และดูไม่ออกด้วยซ้ำว่าการก่อสร้างโครงการใหญ่ ๆ ได้เคยถูกระงับมาแล้ว

การสอบสวนร่วมระหว่าง SEPA และกระทรวงที่ดินและทรัพยากรเมื่อ พ.ศ. 2547 แสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 30 ถึง 40 ของโครงการทำเหมืองเท่านั้นที่ผ่านกระบวนการขั้นตอนที่กำหนดของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในขณะที่โครงการในพื้นที่อื่น ๆ ผ่านการประเมินเพียงร้อยละ 6 ถึง 7 ซึ่งเป็นการอธิบายว่าเหตุใดจีนจึงมีอุบัติในการทำเหมืองมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์หวาง คานฟา (Wang Canfa) ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายให้ความเห็นว่า ลำพัง SEPA เองไม่อาจรับประกันการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับทางสิ่งแวดล้อม และว่าอัตราการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับสิ่งแวดล้อมนับได้อย่างมากก็เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น[3]

สหภาพยุโรป[แก้]

แนวทางการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการต่าง ๆ ที่อาจมีผลต่อสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2528 และปรับปรุงแก้ไขเมื่อ พ.ศ. 2540 แนวทางดังกล่าวได้รับการแก้ไขอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2546 สืบเนื่องจากการลงนามโดยกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปในคราวชุมนุมทางวิชาการที่อาร์ฮัส (Aarhus Convention) ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นปัญหาได้รับการขยายขอบเขตไปถึงการประเมินแผนและโปรแกรมด้วย "แนวทางเอสอีเอ" (SEA-Directive) เมื่อ พ.ศ. 2544 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันและได้กำหนดแนวทางการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นแบบผสม คือมีทั้ง ภาคบังคับ และ ภาคตามควร[4]

ภายใต้แนวทางของสหภาพฯ การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องจัดทำการประเมินตามข้อกำหนด ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มหลักที่จะต้องเน้น 7 กลุ่ม ประกอบด้วย

  1. รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ
    • รายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงของโครงการและที่ตั้ง
    • การแบ่งย่อยส่วนประกอบของโครงการออกเป็นส่วนหลัก ๆ เช่น การก่อสร้าง การดำเนินการ การหยุดการดำเนินการ
    • ในแต่ละองค์ประกอบให้แจงแหล่งที่จะรบกวนหรือกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
    • ในแต่ละองค์ประกอบจะต้องแจงถึงสิ่งป้อนเข้าและผลปล่อยออก เช่น ขยะ ของเสีย
  2. ทางเลือกที่ได้รับการพิจารณาแล้ว
    • ตรวจสอบทางเลือกที่ได้รับการพิจารณาแล้ว
    • เช่น ในโรงผลิตไฟฟ้าแบบชีวมวลที่พิจารณาจะให้เป็นแหล่งพลังงานแก่ท้องถิ่นหรือแก่ระดับชาติ
  3. รายละเอียดของสิ่งแวดล้อม
    • แจงรายละเอียดทุกแง่มุมของสิ่งแวดล้อมที่อาจได้รับผลกระทบการโครงการพัฒนานี้
    • เช่น ประชากร สัตว์และพืช อากาศ ดิน น้ำ มนุษย์ ภูมิทัศน์ มรดกทางวัฒนธรรม
    • รายละเอียดในหมวดนี้ควรให้ผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด เช่น “อาร์เอสพีบี” ในสหราชอาณาจักร
  4. รายละเอียดผลกระทบสำคัญที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม
    • คำว่า “สำคัญ” ในที่นี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากระดับการให้ความสำคัญมีความผันแปรได้มาก
    • จะต้องมีการให้นิยามของคำว่า “สำคัญ”
    • วิธีการที่ใช้บ่อยมากในเรื่องนี้คือ “แม่แบบลีโอโปลด์” หรือ ลีโอโปลด์เมทริกซ์ (Leopold matrix)
    • แม่แบบนี้คือเครื่องมือที่นำมาใช้ในการตรวจสอบอย่างเป็นระบบในศักยภาพของปฏิสัมพันธ์
    • เช่น ในการสร้างลานกลุ่มกังหันลม (windfarm) ผลกระทบที่สำคัญอาจได้แก่การปะทะกับฝูงนก
  5. การบรรเทาผลกระทบ
    • นี่คือส่วนที่เป็นประโยชน์ที่สุดของการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
    • เมื่อทำหมวด 4 แล้วเสร็จก็จะเห็นได้ว่าผลกระทบที่รุนแรงที่สุดจะเกิดในส่วนใด
    • ใช้ข้อมูลที่ได้ในส่วนนี้มาพัฒนาวิธีหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบ
    • ทำเรื่องในหมวดนี้ร่วมกับเจ้าของโครงการเนื่องจากเป็นผู้รู้รายละเอียดของโครงการมากที่สุด
    • ใช้ตัวอย่างการสร้างลานกลุ่มกังหันลม อาจได้แก่การพักการใช้กังหันลมในฤดูผสมพันธุ์ของนก
  6. การสรุปด้านที่ไม่ใช่เทคนิค
    • การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะถือเป็นเรื่องสาธารณะและจะต้องนำมาใช้ในกระบวนการตัดสินใจ
    • การเปิดเผยและแจกจ่ายข้อมูลต่อสาธารณชนถือเป็นสิ่งสำคัญ
    • เนื้อหาในหมวดนี้เป็นการสรุปที่ไม่ต้องใช้ศัพท์เฉพาะทางเทคนิคหรือการแสดงแผนภูมิที่ซับซ้อน
    • ควรให้ประชาชนทั่วไปที่จำเป็นต้องรับทราบเข้าใจได้ง่าย
  7. การขาดความรู้ความชำนาญ / ความยุ่งยากทางเทคนิค
    • หมวดนี้มีไว้สำหรับให้ข้อแนะนำส่วนที่ยังอ่อนในด้านความรู้
    • สามารถนำไปใช้กำหนดเน้นเรื่องที่ควรทำการวิจัยในอนาคต
    • เจ้าของโครงการบางรายเห็นว่าการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนี้เป็นพื้นฐานขั้นต้นที่ดีสำหรับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการที่ตนต้องทำในขั้นตอนต่อไป

นิวซีแลนด์[แก้]

ในประเทศนิวซีแลนด์ ปกติการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะหมายถึง “การประเมินผลที่ตามมาที่มีต่อสิ่งแวดล้อม” (Assessment of Environmental Effects - AEE) การใช้การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งแรก เริ่มจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2517 โดยเรียกว่า “การปกป้องสิ่งแวดล้อมและขั้นตอนในการปรุบปรุง” (Environmental Protection and Enhancement Procedures) การนี้ไม่ได้ใช้บังคับเป็นกฎหมายแต่ใช้เฉพาะในหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อมีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติการจัดการทรัพยากร” (Resource Management Act) เมื่อ พ.ศ. 2534 การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นข้อบังคับให้เป็นส่วนหนึ่งของการขออนุญาตดำเนินการด้านทรัพยากร โดยตราไว้โดยชัดเจนในมาตรา 88


สหรัฐอเมริกา[แก้]

ภายใน กฎหมายสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม บ่งถึงด้วยวลีว่า “ข้อแถลงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” (Environmental Impact Statement - EIS) ซึ่งมีต้นตอมาจาก กฎหมายนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environmental Policy Act - NEPA) ที่ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2512 การปฏิบัติการของหน่วยงานกลางบางหน่วยจึงยังต้องเป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้อยู่ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ากฎหมายเดิมไม่ห้ามหน่วยงานกลางของสหรัฐหรือผู้รับสัมปทานจากรัฐบาลกลางให้ทำสิ่งที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ และไม่มีบทลงโทษสำหรับ ”ข้อแถลงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” ที่นำส่ง กฎหมายนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องการเพียงให้ข้อแถลงที่พอรับฟังได้ว่าจะมีผลกระทบนั้นได้รับการเปิดเผยล่วงหน้า ซึ่งเป็นข้อบังคับเพียงประการเดียว

ตามปกติ หน่วยงานจะแจกจ่าย “ร่างข้อแถลงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” (DEIS) เพื่อให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ผู้สนใจและสาธารณชนจะมีโอกาสแสดงความคิดเห็นต่อร่าง จากนั้น หน่วยงานก็จะรับรองผลเป็น “ข้อแถลงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขั้นสุดท้าย” (FEIS) บางครั้ง หน่วยงานอาจแจกจ่าย “ข้อแถลงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมส่วนเพิ่ม” (SEIS) ให้ประชาชนได้รับทราบ

ความเพียงพอหรือไม่ของข้อแถลงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIS อาจนำเข้าสู่กระบวนการในศาลได้ โครงการใหญ่ ๆ จึงมักถูกต่อต้านเนื่องจากความบกพร่องของหน่วยงานในการจัดเตรียมข้อแถลงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีพอ ตัวอย่างที่โด่งดังได้แก่โครงการถมขยะเวสต์เวย์ และโครงการก่อสร้างทางหลวงตามแม่น้ำฮัดสันในนครนิวยอร์ก[5] ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่กรณีที่เชียร์ราคลับฟ้องกรมทางหลวงแห่งรัฐเนวาดาที่ปฏิเสธคำขอให้กรมฯ ออก “ข้อแถลงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมส่วนเพิ่ม” (SEIS) ว่าด้วยการปลดปล่อยและมลพิษของยานยนต์ที่เพิ่มจากการขยายทางหลวงสาย 95 ผ่านลาสเวกัสให้ประชาชนได้รับทราบ.[6] การดำเนินคดีถึงศาลมีผลให้ต้องหยุดการก่อสร้างไว้ก่อนจนกว่าศาลจะตัดสิน กรณีนี้ตกลงยอมความกันได้ก่อนศาลมีคำตัดสิน

รัฐบาลระดับรัฐในหลายรัฐได้ยอมรับกฎหมายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นำมาใช้บังคับในกฎหมายของรัฐที่บังคับให้ต้องมีการจัดทำข้อแถลงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการบางโครงการของรัฐ และในกฎหมายของรัฐบางฉบับได้กล่าวถึงการที่จะต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้วลีว่า “รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” หรือ “การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม[7] เช่น กฎหมายคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Environmental Quality Act -CEQA) ที่บังคับให้ต้องจัดทำรายงายผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIR)

ข้อบังคับที่ใช้บังคับของรัฐต่าง ๆ มีผลที่ทำให้ได้ข้อมูลจำนวนมากที่ไม่เฉพาะผลกระทบที่มีต่อโครงการเฉพาะราย แต่ยังช่วยอธิบายให้ความกระจ่างทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่เคยได้รับการศึกษาวิจัยที่ดีพอมาก่อน ตัวอย่างเช่น รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ทำส่งเมืองมอนเทอเรย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีข้อมูลสำคัญที่เผยให้เห็นรายชื่อชนิดของสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ของหน่วยงานรัฐบาลกลางที่เรียกกันว่า “ฮิกแมนโพเทนทิลลา” (Hickman's potentilla) หรือรายชื่อพืชสมุนไพรชายฝั่งชนิดใกล้สูญพันธุ์ยังขาดดอกไม้ป่าที่เป็นพืชถิ่นเดียวตระกูลกุหลาบที่หายากมากที่มีขึ้นอยู่เฉพาะถิ่นนี้

ประเทศไทย[แก้]

ประเทศไทยได้ประกาศใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518 ซึ่งได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น มีอำนาจหน้าที่ คือ

  1. เสนอนโยบายและความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
  2. ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการ ที่อาจส่งผลเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ต่อมาได้มีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2521 ทั้งนี้เนื่องจากพระราชบัญญัติ ฉบับที่ 1 มิได้มีการระบุให้แน่ชัดเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติบางเรื่อง จึงก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ดังนั้น จึงได้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2518 โดยได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ชัดเจนและรัดกุมขึ้นกว่าเดิมรวม 3 ประการ คือ

  1. กำหนดให้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการพัฒนาของรัฐและกิจกรรมบางประเภทของเอกชน
  2. ให้อำนาจในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่มิได้อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยราชการใด ตลอดจนการกำหนดวิธีการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม
  3. ดำเนินการในด้านการจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในกรณีที่ฉุกเฉิน

สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสามารถเสนอแนะให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อเอื้ออำนวยต่อการบริหารสิ่งแวดล้อม และแก้ไขอุปสรรคและข้อขัดข้องในทางปฏิบัติได้

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2524 สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ หรือกิจการบางประเภทและบางขนาด โดยอาศัยอำนาจตามประกาศกฎกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงานซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2524 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและคุณค่าต่าง ๆ ที่มีต่อมนุษย์ที่อาจจะถูกกระทบกระเทือน เนื่องจากโครงการหรือกิจการนั้น ๆ (สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2527)

ในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงกฎหมายสิ่งแวดล้อมออกเป็น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ในส่วนของการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ปรากฏใน ส่วนที่ 4 มาตราที่ 46 ถึง มาตราที่ 51

กฎหมายฉบับดังกล่าวได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์แก่ผู้รักษาการ (แต่ยังมิได้ระบุไว้ในมาตราโดยตรง) วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ แนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องนำเสนอพร้อมรายงานฯ เพิ่มเติม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้ระบุไว้ชัดในมาตราที่ 56 โดยมีประเด็นหลักที่สำคัญ คือ โครงการพัฒนาใด ๆ ก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตชุมชน จะไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการใด ๆ หากไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน ดังนั้น จากกฎหมายหลักฉบับนี้ของไทย ทำให้กฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว

อ้างอิง[แก้]

  1. "Principle of Environmental Impact Assessment Best Practice" (PDF). International Association for Impact Assessment. 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2008-06-25.
  2. Wang, Alex (2007-02-05). "Environmental protection in China: the role of law".
  3. Gu, Lin (2005-09-29). "China Improves Enforcement of Environmental Laws". China Features.
  4. Watson, Michael (November 13–15, 2003). "Environmental Impact Assessment and European Community Law". XIV International Conference "Danube-River of Cooperation". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-28.{{cite web}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  5. Court decision เก็บถาวร 2004-03-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน in Sierra Club v. United States Army Corps of Engineers
  6. Ritter, John (2003-06-03). "Lawsuit pits risks and roads". USA Today.
  7. "Sive,D. & Chertok,M., "Little NEPAs" and Environmental Impact Assessment Procedures" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-10-04. สืบค้นเมื่อ 2008-01-28.
  • Petts, J. (ed), Handbook of Environmental Impact Assessment Vol 1 & 2, Blackwell, Oxford ISBN 0-632-04772-0
  • Environmental Impact Assessment Review (1980 - ), Elsevier
  • Glasson, J; Therivel, R; Chadwick A, Introduction to Environmental Impact Assessment, (2005) Routledge, London
  • กนกพร สว่างแจ้ง.การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม.กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช,2545
  • Petts, J. (ed), Handbook of Environmental Impact Assessment Vol 1 & 2, Blackwell, Oxford ISBN 0-632-04772-0
  • Environmental Impact Assessment Review (1980 - ), Elsevier
  • Glasson, J; Therivel, R; Chadwick A, Introduction to Environmental Impact Assessment, (2005) Routledge, London


แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]