การทรมานเชลยศึกชาวยูเครนที่ปรือวิลเลีย

พิกัด: 48°59′29.5″N 38°15′16.8″E / 48.991528°N 38.254667°E / 48.991528; 38.254667
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การทรมานเชลยศึกชาวยูเครนที่ปรือวิลเลีย
ส่วนหนึ่งของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย
แผนที่
สถานรักษาและป้องกันโรคปรือวิลเลีย
ที่ตั้งสถานรักษาและป้องกันโรค "ปรือวิลเลีย"
ปรือวิลเลีย แคว้นลูฮันสก์ ยูเครน
พิกัด48°59′29.5″N 38°15′16.8″E / 48.991528°N 38.254667°E / 48.991528; 38.254667
เสียชีวิต1 คน
ต้องสงสัยโอชูร์-ซูเก มองกุช

ในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 ระหว่างการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย คลิปวิดีโอ 3 คลิปที่บันทึกเหตุการณ์การทรมาน การดูหมิ่น การตอนอวัยวะเพศ และการสังหารเชลยศึกยูเครนโดยทหารรัสเซียในสถานรักษาและป้องกันโรค "ปรือวิลเลีย" ถูกเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ คลิปวิดีโอเหล่านี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากนานาชาติและเสียงประณามอย่างรุนแรงจากองค์การสิทธิมนุษยชนจำนวนหนึ่ง สื่อเชิงสืบสวนเบลลิงแคตและดิอินไซเดอร์ดำเนินการสืบสวนจากแหล่งข้อมูลเปิดจนได้ข้อสรุปว่า ผู้ต้องสงสัยว่าตอนอวัยวะเพศเชลยศึกยูเครนเป็นชาวรัสเซียจากสาธารณรัฐตูวาชื่อ โอชูร์-ซูเก มองกุช สังกัดหน่วยกองกำลังพิเศษ "อัคมัต"[1][2] ซึ่งเป็นกองกำลังรบกึ่งทหารจากสาธารณรัฐเชเชนที่ต่อสู้ร่วมกับกองทัพรัสเซียในสงครามการรุกรานยูเครน

วิดีโอ[แก้]

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ช่องเทเลแกรมช่องหนึ่งที่นิยมรัสเซียได้ลงคลิปวิดีโอ 3 คลิปซึ่งแสดงให้เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศและการสังหารชายคนหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นเชลยศึกชาวยูเครน[1]

คลิปวิดีโอคลิปแรกแสดงให้เห็นชายคนหนึ่งในเครื่องแบบทหารยูเครน[3] นอนคว่ำหน้าอยู่บนพื้นโดยถูกมัดมือไพล่หลังและถูกมัดปาก รายล้อมด้วยชายอย่างน้อย 4 คน หนึ่งในนั้นเห็นได้ว่าสวมเครื่องแบบทหารรัสเซีย[3][4] ต้นแขนเสื้อด้านซ้ายติดแถบเครื่องหมาย Z[4] ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ยานพาหนะของกองทัพรัสเซียและสัญลักษณ์ที่ใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย

คลิปวิดีโอคลิปที่สองแสดงให้เห็นชายในเครื่องแบบทหารรัสเซียซึ่งสวมหมวกปีกกว้างสีดำประดับด้วยพู่และเปลือกหอยเล็ก ๆ สีขาว สร้อยข้อมือสีดำ และถุงมือผ่าตัดสีฟ้า[2] เดินเข้าไปกระทืบศีรษะชายที่นอนคว่ำอยู่ (ซึ่งถูกผู้ร่วมก่อเหตุเหยียบขาตรึงไว้กับพื้น) แล้วก้มลงตัดอวัยวะเพศของชายคนนั้นด้วยมีดคัตเตอร์พร้อมทั้งตะโกนเหยียดหยามเป็นภาษารัสเซียไปด้วย[3] จากนั้นชายสวมหมวกปีกกว้างก็ชูอวัยวะเพศที่ตนตัดออกให้กล้องเห็น[4]

ในคลิปวิดีโอคลิปที่สาม ดูเหมือนว่าชายที่ถูกทรมานได้ถูกยิงที่ศีรษะ[4] ร่างของเขาถูกลากออกไปด้วยเชือกที่มัดไว้ที่ขา[5][6]

การสืบสวน[แก้]

ใบหน้าของผู้ก่อเหตุหลักไม่ปรากฏให้เห็นในวิดีโอการทรมาน แต่ทีมสืบสวนของเบลลิงแคตและดิอินไซเดอร์ก็หาทางระบุอัตลักษณ์ของเขาจากการวิเคราะห์เสื้อผ้า เครื่องประดับ และรายละเอียดต่าง ๆ

ชายที่ทรมานและสังหารเชลยศึกถูกระบุตัวตนได้ในวิดีโออื่น ๆ จากหมวกปีกกว้างและสร้อยข้อมือที่เขาสวมใส่ บุคคลที่สวมเครื่องประดับแบบเดียวกันนี้ถูกบันทึกภาพร่วมกับนักรบคนอื่น ๆ ของหน่วยอัคมัตในวิดีโอที่เผยแพร่ทางช่องยูทูบที่นิยมรัสเซียในช่วงปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565[1] วิดีโอเหล่านั้นถ่ายทำบริเวณโรงงานเคมี "อาซอต" ในเมืองเซียเวียรอดอแนตสก์ซึ่งถูกรัสเซียยึดครองเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน นอกจากนักรบของหน่วยเดียวกันแล้ว ในวิดีโอเหล่านั้นยังปรากฏรถยนต์สีขาวคันหนึ่งที่พ่นสเปรย์ด้านข้างเป็นเครื่องหมาย Z ด้วย รถยนต์คันเดียวกันนี้ปรากฏให้เห็นเช่นกันในวิดีโอการทรมาน[1]

เว็บไซต์ค้นหาบุคคลทางสื่อสังคมโดยใช้เทคโนโลยีการรู้จำใบหน้าช่วยให้ทีมสืบสวนของเบลลิงแคตและดิอินไซเดอร์พบชื่อและช่องทางติดต่อชายสวมหมวกปีกกว้างผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุทรมานในที่สุด ปรากฏว่าเขาคือ โอชูร์-ซูเก มองกุช ชาวตูวาที่เกิดใน พ.ศ. 2536[1][2] หนึ่งในภาพที่ทีมสืบสวนพบเพิ่มเติมคือภาพที่มองกุชถ่ายร่วมกับสมาชิกคนอื่น ๆ ของหน่วยอัคมัต[2]

ตามรายงานของเบลลิงแคตและดิอินไซเดอร์ มองกุชยอมรับกับผู้สื่อข่าวว่าเขาคือชายสวมหมวกปีกกว้างในวิดีโอที่ถ่ายทำบริเวณโรงงานอาซอต แต่ปฏิเสธว่าเป็นคนเดียวกันกับชายสวมหมวกปีกกว้างในวิดีโอการทรมาน[1] มองกุชเล่าว่าก่อนหน้านี้หน่วยความมั่นคงกลางของรัสเซียได้เรียกเขาไปสอบปากคำเช่นกัน แต่สุดท้ายก็ปล่อยเขาไปโดยอธิบายกับเขาว่าบุคคลทั้งหมดในวิดีโอการทรมานเป็นทหารยูเครนที่ทำร้ายกันเอง[1] อย่างไรก็ตาม มองกุชก็ไม่ได้ให้คำอธิบายแก่ผู้สื่อข่าวว่าเหตุใดเขากับชายในวิดีโอการทรมานจึงสวมหมวก สร้อยข้อมือ และเครื่องแบบที่มีรายละเอียดคล้ายกันมาก นอกจากนี้ มองกุชยังอ้างว่าเขาไม่เคยเห็นและหน่วยอัคมัตก็ไม่เคยใช้รถสีขาวที่ปรากฏในวิดีโอการทรมาน ทั้งที่ตัวเขาเองก็ยืนอยู่ข้างรถคันเดียวกันนั้นในวิดีโอโรงงานอาซอต[1][2] อนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญของเบลลิงแคตได้ตรวจสอบวิดีโอการทรมานแล้วไม่พบว่ามีร่องรอยการตัดต่อหรือดัดแปลงใด ๆ[1]

แม้ว่าคำให้การส่วนใหญ่ของมองกุชจะไม่สอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏ แต่เขาก็ให้เบาะแสสำคัญที่ช่วยยืนยันตำแหน่งของสถานที่ก่อเหตุทรมาน มองกุชบอกผู้สื่อข่าวว่า ตามที่หน่วยความมั่นคงกลางได้เคยบอกเขานั้น วิดีโอการทรมานถ่ายทำขึ้นที่สถานรักษาและป้องกันโรค "ปรือวิลเลีย"[1] ในเมืองปรือวิลเลียซึ่งถูกรัสเซียยึดครองในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม[7] เมื่อทีมสืบสวนของเบลลิงแคตเปรียบเทียบภาพสถานที่ในวิดีโอการทรมานกับภาพถ่ายอื่น ๆ ของสถานพยาบาลดังกล่าวแล้วก็สามารถระบุยืนยันได้ว่าเป็นสถานที่เดียวกัน

ปฏิกิริยา[แก้]

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ดมือตรอ ลูบีแนตส์ ผู้ตรวจการแผ่นดินของยูเครน กล่าวว่าเขาได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานอัยการสูงสุดยูเครนเพื่อขอให้ตรวจสอบและพิสูจน์ยืนยันการก่ออาชญากรรมสงครามซึ่งเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา และกล่าวว่าพวกเขาจะออกแถลงการณ์ขอให้คณะกรรมาธิการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติและคณะกรรมาธิการป้องกันการทรมานแห่งสภายุโรปเดินทางไปยังรัสเซียและดินแดนของยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครองเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน[8]

ในวันเดียวกัน ฌูแซ็ป บูร์เร็ลย์ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง ออกแถลงการณ์โดยนิยามเนื้อหาของวิดีโอการทรมานว่า "น่าตกใจอย่างยิ่ง" และเป็น "ความโหดร้ายเลวทราม"[9] ส่วนมารี สตรัดเดอส์ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง กล่าวว่า "การโจมตีที่สะเทือนขวัญนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนว่ากองกำลังรัสเซียขาดการคำนึงถึงชีวิตและศักดิ์ศรีของมนุษย์ในยูเครนโดยสิ้นเชิง"[10]

ในตอนแรกที่วิดีโอการทรมานเชลยศึกถูกเผยแพร่ออกมาทางช่องเทเลแกรมที่นิยมรัสเซียนั้น ผู้ดูแลช่องและผู้ติดตามช่องหลายคนแสดงอาการยินดีและสาแก่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวิดีโอ[2] จนกระทั่งหลายชั่วโมงถัดมา จู่ ๆ พวกเขาก็พากันปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับวิดีโอเหล่านี้โดยอ้างว่า "น่าจะเป็นวิดีโอจัดฉาก" ที่สายลับยูเครนนำมาปล่อยในช่องที่นิยมรัสเซียเพื่อทำลายชื่อเสียงของกองทัพรัสเซีย[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 "Tracking the Faceless Killers who Mutilated and Executed a Ukrainian POW". Bellingcat. 5 August 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-05.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 "Дело в шляпе. Cадистом, истязавшим украинского военнопленного, оказался наемник из батальона 'Ахмат' Очур-Суге Монгуш". The Insider (ภาษารัสเซีย). 2022-08-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-12. สืบค้นเมื่อ 2022-08-13.
  3. 3.0 3.1 3.2 Weiss, Michael; Cavanagh, Niamh (July 28, 2022). "Horrifying footage appears to show Russian captors castrating a Ukrainian prisoner of war". Yahoo! News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 28, 2022. สืบค้นเมื่อ July 29, 2022.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Tim, Lister; Gul, Tuysuz; Nechyporenko, Kostan (30 July 2022). "'Appalling' videos alleged to show Russian soldiers castrating a Ukrainian soldier". CNN. สืบค้นเมื่อ 6 August 2022.
  5. Bulavin, Denis (July 29, 2022). "The Russians shared a video of the torture of a military man in Ukrainian uniform. The prosecutor's office started proceedings". Hromadske (ภาษายูเครน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 29, 2022. สืบค้นเมื่อ July 29, 2022.
  6. "Video with the torture of a Ukrainian prisoner of war - proceedings have been initiated". Office of the Prosecutor General of Ukraine (ภาษายูเครน). July 29, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 29, 2022. สืบค้นเมื่อ July 29, 2022.
  7. Harding, Luke (6 August 2022). "Footage appears to show fresh atrocity against Ukrainian PoW". Ukraine. The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 August 2022. สืบค้นเมื่อ 17 August 2022.
  8. "Ukraine Calls For Investigation After Video Purportedly Shows Russian Troops Torturing, Killing POW". RFE/RL. 29 July 2022.
  9. "Ukraine: Statement by the High Representative Josep Borrell on the latest Russian atrocities". The Diplomatic Service of the European Union. 29 July 2022. สืบค้นเมื่อ 27 January 2023. Evidence in form of appalling video footage has been widely shared on pro-Kremlin social networks today, in which Russian soldiers commit a heinous atrocity against a Ukrainian prisoner of war.
  10. "Ukraine: Russian soldiers filmed viciously attacking Ukrainian POW must face justice". Amnesty International. 29 July 2022. สืบค้นเมื่อ 27 January 2023.