การตั้งชื่อระบบแฟลมสตีด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่ซีกฟ้าเหนือในระบบแฟลมสตีดใน Atlas Coelestis

การตั้งชื่อระบบแฟลมสตีด (อังกฤษ: Flamsteed designation)[1] หรือบ้างก็เรียกว่า หมายเลขแฟลมสตีด (Flamsteed numbers)[2][3] เป็นระบบการตั้งชื่อเรียกดาวฤกษ์แบบหนึ่งที่ใช้ในทางดาราศาสตร์

โดยทั่วไปเชื่อกันว่าการตั้งชื่อระบบนี้ได้รับคิดค้นขึ้นโดยจอห์น แฟลมสตีด นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ[2] แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เฟลมสตีด[4] ไม่มีการกล่าวถึงในฉบับพิมพ์ครั้งแรกของ Historia coelestis Britannica และ Atlas Coelestis ซึ่งตีพิมพ์ในอังกฤษทั้งคู่[4] มีการพบครั้งแรกในสารบัญแฟ้ม แฟลมสตีด ฉบับภาษาฝรั่งเศสที่เผยแพร่ในปี 1783 โดยเฌโรม ลาล็องด์ หรือในสารบัญแฟ้มฉบับชั่วคราวที่เผยแพร่โดยไอแซก นิวตัน หรือ เอ็ดมันด์ แฮลลีย์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากแฟลมสตีด แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีความแน่ชัด[4]

การตั้งชื่อระบบแฟลมสตีดถูกแสดงด้วยหมายเลขชื่อเรียกของแต่ละกลุ่มดาว มีลักษณะคล้ายกับการตั้งชื่อระบบไบเออร์ซึ่งได้รับการเผยแพร่มาก่อนประมาณ 100 ปี แต่ความแตกต่างหลัก ๆ มีดังนี้

  • ระบบแฟลมสตีดมีจำนวนดาวมากกว่าระบบไบเออร์
  • ระบบไบเออร์เรียงตามลำดับของโชติมาตรปรากฏของดาว แต่ระบบแฟลมสตีดเรียงตามตำแหน่งโดยเริ่มจากทางตะวันตก
  • ระบบไบเออร์ครอบคลุมทั่วทั้งทรงกลมท้องฟ้า แต่ระบบแฟลมสตีดครอบคลุมแค่ 52 กลุ่มดาวที่สังเกตได้ง่ายจากในประเทศอังกฤษ[2] แต่ขาดดาวฤกษ์ในซีกฟ้าใต้ที่อยู่ที่เดคลิเนชัน -35 ลงมา (แต่ก็มีข้อยกเว้น)

หมายเลขที่หายไป และการใส่เพิ่ม[แก้]

เช่นเดียวกับระบบไบเออร์ ยังมีตัวเลขในระบบแฟลมสตีดบางส่วนที่เลิกใช้แล้วเนื่องจากกลุ่มดาวเปลี่ยนไป

ดาวที่ถูกบันทึกอยู่ในระบบแฟลมสตีดบางส่วนนั้นก็ไม่อาจระบุตัวตนได้ว่าหมายถึงดาวดวงไหน หนึ่งในนั้นคือดาวที่ถูกตั้งชื่อว่า 34 Tauri ในกลุ่มดาววัว ซึ่งถูกสังเกตการณ์เห็นในปี 1690 โดยที่ตอนนั้นถูกเข้าใจว่าเป็นดาวฤกษ์ แต่ต่อมาจึงรู้ว่าเป็นดาวยูเรนัสซึ่งอยู่ในตำแหน่งนั้นในตอนนั้นพอดี และอีกดวงหนึ่งที่หาไม่เจอคือดาวที่ถูกตั้งชื่อว่า 3 Cassiopeiae ในกลุ่มดาวค้างคาว ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมาจากการที่สังเกตเห็นมหานวดาราที่เกิดขึ้นในตอนนั้นพอดี เนื่องจากตำแหน่งของดาวดวงนั้นที่ระบุไว้ปัจจุบันมีซากของมหานวดาราอยู่

ดาวบางส่วนที่อยู่ค่อนไปทางซีกฟ้าใต้มาก ๆ ก็มีในระบบแฟลมสตีด เช่น 82 Eridanus ซึ่งได้รับการตั้งชื่อโดยเบนจามิน กูลด์ ใน Uranometria Argentina ซึ่งถูกเพิ่มเข้าไปตอนหลัง

อย่างไรก็ตาม 47 Tucanis (กระจุกดาวทรงกลม) ไม่ใช่หมายเลขแฟลมสตีด แต่เป็นหมายเลขในสารบัญแฟ้มของดาวที่สร้างโดยโยฮัน เอเลิร์ท โบเดอ

ความสัมพันธ์กับการตั้งชื่อระบบอื่น ๆ[แก้]

ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ที่มีชื่อในระบบไบเออร์จะมีอยู่ในระบบแฟลมสตีดด้วย แต่ก็มีอยู่บางดวงที่มีในระบบไบเออร์แต่ไม่มีในระบบแฟลมสตีด โดยเฉพาะดาวฤกษ์เดคลิเนชันอยู่ทางตอนใต้ไปมาก ดาวที่มีทั้งหมายในระบบไบเออร์และระบบแฟลมสตีดมักเรียกด้วยชื่อในระบบไบเออร์ แต่ก็มีข้อยกเว้นบางส่วน

ดาวฤกษ์ที่ไม่มีในระบบไบเออร์หรือระบบแฟลมสตีดมักจะอ้างอิงด้วยหมายเลขในสารบัญแฟ้มเฮนรี เดรเปอร์ (HD + หมายเลข) หรือถ้าไม่มีก็จะใช้หมายเลขสารบัญแฟ้มอื่น ๆ

อ้างอิง[แก้]

  1. 国立天文台暦計算室 こよみ用語解説 おもな恒星の名前2015-07-06閲覧
  2. 2.0 2.1 2.2 新装改訂版 星座の神話 -星座史と星名の意味- 4版 p62 原恵著 恒星社厚生閣 ISBN 978-4-7699-0825-8
  3. オックスフォード天文学辞典 (初版第1刷 ed.). 朝倉書店. p. 357. ISBN 4-254-15017-2.
  4. 4.0 4.1 4.2 天文学大事典 初版 p594 地人書館 2007年 ISBN 978-4-8052-0787-1