กลอย
กลอย | |
---|---|
![]() | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Monocots |
อันดับ: | Dioscoreales |
วงศ์: | Dioscoreaceae |
สกุล: | Dioscorea |
สปีชีส์: | D. hispida |
ชื่อทวินาม | |
Dioscorea hispida |

กลอย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dioscorea hispida Dennst.) เป็นพืชไม้เถาเลื้อยอยู่ในวงศ์กลอย (Dioscoreaceae) ชนิดหนึ่งที่มนุษย์รู้จักนำหัวของมันมาทำเป็นอาหารมานาน หัวใต้ดินกลมรี มีรากเล็กๆกระจายทั่ว มี 3-5 หัวต่อต้น เปลือกบาง สีน้ำตาลออกเหลือง เนื้อในหัวสีขาวหรือสีเหลือง ลำต้นเลื้อยพันต้นไม้อื่น มีหนามเล็กๆกระจายทั่วไป มีขนนุ่มสีขาว[1] กลอย พบตามธรรมชาติในอินเดีย จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนิวกินี ใช้เป็นอาหารในเอเชียและแอฟริกา
ลักษณะทางพันธุศาสตร์[แก้]
ไม้เถาล้มลุก ไม่มีมือเกาะ มีหัวใต้ดิน ลึกประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร ลำต้นกลมมีหนามเล็กๆกระจายทั่วไป และมีขนนุ่มๆ สีขาวปกคลุม มีรากเจริญเป็นหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน หัวใต้ดินส่วนมากกลมรี บางทีเป็นพู มีรากเล็กๆกระจายทั่วทั้งหัว มี 3-5 หัวต่อต้น เปลือกหัวบางสีน้ำตาลออกเหลือง เนื้อในหัวมี 2 ชนิดคือ สีขาว (กลอยหัวเหนียว) และสีครีม (กลอยไข่ กลอยเหลือง) ใบประกอบ เรียงตัวแบบเกลียว ผิวใบสากมือ มีขนปกคลุม มีใบย่อย 3 ใบ ใบกลางแผ่นใบรูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 6 - 15 เซนติเมตร ยาว 8 - 25 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม โคนแหลม ขอบใบเรียบ เส้นใบนูน ใบย่อย 2 ใบ แผ่นใบรูปไข่ รูปไข่กลับ ขนาดสั้นกว่าใบกลางแต่กว้างกว่า ปลายแหลม โคนกลม เส้นใบออกจากจุดเดียวกัน ก้านใบยาว 10 - 15 เซนติเมตร ดอกช่อแบบแยกแขนง แยกเพศอยู่คนละต้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก จำนวน 30 - 50 ดอกสีเขียว ออกตามซอกใบ ห้อยลง ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อแยกแขนง 2 - 3 ชั้น ดอกตั้งขึ้น ยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร เกสรเพศผู้จำนวน 6 อัน ดอกเพศเมียออกเป็นช่อชั้นเดียว ดอกชี้ลงดิน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง ผลแก่แตกได้ มีสีน้ำผึ้ง มีครีบ 3 ครีบ กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาว 5.5 เซนติเมตร แต่ละครีบมี 1 เมล็ด ผิวเกลี้ยง เมล็ดกลมแบน มีปีกบางใสรอบเมล็ด พบตามที่ลุ่มต่ำ ที่รกร้างทั่วไป ป่าเต็งรัง ป่าผสม และป่าดงดิบ ออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน หัวกลอยให้แป้งมาก แต่มีสารไดออสคอรีน ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ ทำให้เมา คันคอ อาเจียน เหงื่อออก ตาพร่า ใจสั่น วิงเวียน ต้องนำมาทำให้หมดพิษ โดยปอกเปลือกทิ้ง แล้วหั่นเป็นแผ่นบางๆ ใส่ชะลอมหรือตะกร้าแล้วนำไปแช่ทิ้งไว้ให้น้ำไหลผ่าน เช่นน้ำทะเล น้ำตก น้ำห้วย สัก 2 - 3 วัน ล้างให้สะอาด จึงจะรับประทานได้
สายพันธุ์[แก้]
ในไทย กลอยมีชนิดย่อยหลายชนิด ได้แก่[1]
- แบ่งตามสีเนื้อในหัว สีขาวเรียกกลอยหัวเหนียว สีเหลืองเรียกกลอยไข่หรือกลอยเหลือง
- แบ่งตามลักษณะของเนื้อ ถ้าเนื้อสีขาวหยาบ ร่วน ลำต้นสีเขียวเรียกกลอยข้าวเจ้า เนื้อสีเหลือง เหนียว ลำต้นสีน้ำตาลอมดำ เรียกกลอยข้าวเหนียว
- กลอยบางชนิดเถาไม่มีหนามและไม่มีสารพิษ เรียกกลอยจืด ซึ่งหาได้ยาก
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งเป็น 4 สายพันธุ์คือ[2]
- variety hispida ต้นโตเร็ว ช่อดอกตัวผู้ยาว ดอกห่าง ขนสีเหลืองทอง พบทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- variety mollissima เหมือน hispida แต่มีขนสีขาว พบมากในพม่า ชวา
- variety scaphoides ต้นเล็กกว่า hispida ผลเป็นแคบซูลเรียวแหลม ขนาดเล็ก พบในไทย
- variety daimona ช่อดอกตัวผู้เป็นดอกช่อเชิงลด ช่อแน่น ดอกปลายช่อมีขนาดเล็ก พบในอินเดียและพม่า
ความเป็นพิษและการใช้ประโยชน์[แก้]
กลอยบางชนิดมีแคลเซียมออกซาเลต ทำให้ระคายเคือง บางชนิดมีซาโปนิน มีฤทธิ์ทำลายเม็ดเลือด มีสารไดออสโครีน (Dioscorine) ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เป็นอัมพาต ละลายน้ำได้ดี รสเบื่อเมา จึงต้องล้างสารนี้ออกจากกลอยก่อนนำไปบริโภค[1] นิยมนำไปแช่ไว้ในธารน้ำไหลเป็นเวลา 1 คืน หรือนานกว่านี้
ชาวซาไกใช้น้ำแช่หัวกลอยผสมกับยางของยางน่องใช้เป็นยาทาลูกธนู ในอินเดียใช้หัวกลอยเป็นยาฆ่าเหา และเบื่อปลา ใช้น้ำแช่หัวกลอยมาฉีดฆ่าแมลงจำพวกหนอน กลอยดิบตำให้ป่นใช้พอกแผลวัวควายเพื่อฆ่าหนอนในแผล หัวกลอยที่ล้างพิษหมดแล้ว ปรุงเป็นยาแก้เถาดานในท้อง นำหัวกลอยมาปรุงเป็นน้ำมันใส่แผลฝีหนอง[1] สารสกัดจากกลอยที่สกัดด้วยเอทานอลมีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งการเจริญของ Propionibacterium acnes[3]
นอกจากนี้กลอยยังมีสารไดออสเจนิน diosgenin ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายไฟตอสโตรเจน phytoestrogen ผู้ป่วยมะเร็งที่ไวต่อเอสโตรเจน estrogen ควรระมัดระวังและศึกษาให้ดีก่อนรับประทานกลอย
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "หัวมันหัวกลอย" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-09-27. สืบค้นเมื่อ 2013-09-09.
- ↑ พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9: พืชให้คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่เมล็ด. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544
- ↑ อัฐญาพร ชัยชมภู และนฤมล ทองไว. 2554. การยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรคบางชนิดโดยใช้สารสกัดสมุนไพรพื้นบ้าน เก็บถาวร 2013-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. การประชุมวิชาการครั้งที่ 8 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน