กลอนสักวา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กลอนสักวา (อ่านว่า สัก-กะ-วา โบราณเขียนว่า สักกรวา) เป็นชื่อของร้อยกรองประเภทกลอนลำนำ ชนิดหนึ่ง 1 บทมี 4 คำกลอน ขึ้นต้นด้วยคำ 'สักวา' และลงท้ายด้วยคำ 'เอย'

กลอนสักวาถูกนำมาใช้ทั้งแบบที่เป็นบทประพันธ์ธรรมดา ของผู้ที่มีความสามารถทางด้านการประพันธ์ และนำมาใช้เป็นการละเล่นโต้ตอบกันระหว่างผู้เล่นหลายคน ซึ่งต้องอาศัยความรู้ทางด้านร้อยกรอง และยังต้องอาศัยไหวพริบปฏิภาณของผู้เล่นที่จะสามารถโต้ตอบกันได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

การเล่นสักวานี้เป็นที่นิยมกันมากในสมัยโบราณ เพราะเป็นการแสดงออกถึงความสามารถทางก้านกวีนิพนธ์ที่โดดเด่นและสนุกสนานทั้งผู้เล่นและผู้ฟัง

ฉันทลักษณ์[แก้]

กลอนสักวา 1 บทมี 4 คำกลอนหรือ 8 วรรค วรรคแรกหรือวรรคขึ้นจะต้องขึ้นต้นบทด้วยคำว่า " สักวา " และวรรคสุดท้ายหรือวรรคส่งจะต้องลงท้ายด้วยคำว่าเอย ส่วนวรรคที่ 2-3 คือวรรครับและวรรครองนั้น ไม่บังคับตัวอักษร แต่ต้องมีสัมผัสระหว่างวรรคทั้ง 4 อย่างลัษณะของกลอนทั่วไป

การเล่นสักวา[แก้]

การเล่นสักวาในสมัยโบราณ[แก้]

การเล่นสักวา ในสมัยโบราณ การเล่นอาจะเล่นบนเรือนที่ส่วนใหญ่จะเป็นเรือนแพหรือเรือนริมน้ำ หรือเล่นกันบนเรือ โดยลงเรือกันไปเป็นกลุ่มๆ หรือเป็นคณะ แต่ละกลุ่มหรือคณะ มีผู้เล่นสักวา , นักร้อง , นักดนตรี แล้วแต่งบทสักวาโต้ตอบกัน การโต้ตอบอาจจะเป็นการโต้ตอบกันตามธรรมดา หรือเลือกเอาวรรณคดีต่างๆ มากันเล่นเป็นตอนๆ

การเล่นสักวาทางเรือนั้นจะเล่นกันในหน้าน้ำ ประมาณเดือน 11 เดือน 12 ช่วงฤดูน้ำหลาก มักเล่นกันในโอกาสเทศกาลทอดกฐินทอดผ้าป่าหรือลอยเรือเที่ยวทุ่ง เมื่อไปพบกันก็จะลอยเรือมารวมกันเล่นกลอนสักวา

การเล่นสักวานี้สันนิษฐานว่าเป็นที่นิยมเล่นกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีปรากฏหลักฐานในเอกสารโบราณต่างๆ จนกระทั่งถึงในสมัยรัชกาลที่ 5

การเล่นสักวาทางน้ำหรือทางน้ำนั้น หยุดไป เมื่อสังคมเปลี่ยนไป การคมนาคมทางน้ำนั้นมีน้อยลง ผู้คนเปลี่ยนการคมนาคมในชีวิตประจำวันมาเป็นทางบกเป็นส่วนใหญ่หรือทางอากาศ การคมนาคมหรือการละเล่นทางน้ำจึงลดน้อยหรือหยุดลงไป

การเล่นสักวาในสมัยปัจจุบัน[แก้]

การเล่นสักวาในสมัยปัจจุบัน จะการเล่นในอาคารสถานที่บนบก ตามสภาพของสังคมในปัจจุบัน และการเพิ่มการแสดงประกอบการเล่นสักวาขึ้นมาอีก เรียกว่าสักวาออกตัว(แสดง) ซึ่งนอกจากจะได้อรรถรสทางด้านภาษาจากการเล่นสักวา แล้วยังได้อรรถรสจากการบรรเลงดนตรี ขับร้อง และการร่ายรำอีกด้วย

คุณพุ่มบุษบาท่าเรือจ้าง[แก้]

คุณพุ่ม ผู้เป็นธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่) และได้รับสมญาว่า “บุษบาท่าเรือจ้าง” เป็นปฏิภาณกวีผู้มีชื่อเสียงทางแต่งกลอนสดและบอก กลอนสักวาได้คล่องแคล่วมาก และมีฝีปากคารมคมคายไม่เกรงผู้ใด บางครั้งผู้ร่วมเล่นกลอนสักวาเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์หรือฐานันดรศักดิ์สูงกว่ามากมาย

คุณพุ่มได้มีโอกาสเล่นสักวาถวายหน้าพระที่นั่งเนื่องในโอกาสต่าง ๆ หลายครั้ง และเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางด้านการเล่นกลอนสักวา ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 จนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5

สโมสรสยามวรรณศิลป์[แก้]

สโมสรสยามวรรณศิลป์ เป็นกลุ่มบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านภาษาไทย รวมกลุ่มกันประกอบกิจกรรมด้านการส่งเสริมการใช้ภาษาไทย และเป็นกลุ่มที่ยังยืนหยัดรักษาการเล่นสักวาให้ดำรงคงไว้ในปัจจุบัน สมาชิกในกลุ่ม ประกอบด้วย

ตัวอย่างกลอนสักวา[แก้]

สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน
สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม
กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพะยอม อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม
แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม ดังดูดดื่มบอระเพ็ดต้องเข็ดขม
ผู้ดีไพร่ไม่ประกอบชอบอารมณ์ ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ


สักวาดาวจระเข้ก็เหหก
สักวาดาวจระเข้ก็เหหก ศีรษะตกหันหางขึ้นกลางหาว
เป็นวันแรมแจ่มแจ้งด้วยแสงดาว น้ำค้างพราวปรายโปรยโรยละออง
ลมเรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉิวต้องผิวเนื้อ ความหนาวเหลือทานทนกระมลหมอง
สกุณากาดุเหว่าก็เร่าร้อง ดูแสงทองจับฟ้าขอลาเอย
ของเก่า

อ้างอิง[แก้]

  • ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จกรมพระยา. ประชุมสักวาเล่นถวายในรัชกาลที่ 5. ในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพอำมาตย์โทพระยาพิบูลย์พิทยาพรรค(ทอง คุปตาสา) พระนคร :โรงพิมพ์พระจันทร์,2509.
  • ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์. “บุษบาท่าเรือจ้าง” ในราชสำนักสยาม. กรุงเทพมหานคร : ประพันธสาส์น, 2520.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]