นกกระเต็น
นกกระเต็น | |
---|---|
นกกระเต็นน้อยธรรมดา (Alcedo atthis) ซึ่งเป็นนกกระเต็นที่อยู่ในวงศ์ Alcedinidae กำลังคาบปลา | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Coraciiformes |
อันดับย่อย: | Alcedines |
วงศ์[1] | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ |
นกกระเต็น[2] หรือ นกกะเต็น[3] เป็นนกที่อยู่ในอันดับย่อย Alcedines ในอันดับนกตะขาบ (Coraciiformes) จัดเป็นนกขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 13-16 เซนติเมตร (ในชนิดที่ใหญ่อาจยาวได้ถึง 41 เซนติเมตร[4]) ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน มีลักษณะทั่วไปคือ มีส่วนหัวโต คอสั้น จะงอยปากแหลมยาวตรงและแข็งแรง ส่วนใหญ่มีสีสวยสดสะดุดตา เมื่อเวลาบินจะบินได้อย่างคล่องแคล่ว มักพบในแหล่งน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ
เป็นนกที่หากินด้วยวิธีการพุ่งลงไปในน้ำด้วยความเร็วและแรง (มีการศึกษาพบว่าเร็วถึง 1/50 วินาที[5]) และใช้จะงอยปากที่แข็งแรงแหลมคมจับปลาหรือสัตว์น้ำต่าง ๆ กินเป็นอาหาร ด้วยการจ้องมองจากบนกิ่งไม้ริมน้ำ ซึ่งสามารถอยู่นิ่ง ๆ แบบนั้นได้เป็นระยะเวลานาน โดยมักจะจับปลาในช่วงเช้าจนถึงสาย ๆ และอีกครั้งในช่วงบ่าย เมื่อเกาะอยู่บนกิ่งไม้เหนือแหล่งน้ำ จะพยายามหันหลังให้ดวงอาทิตย์ เพื่อให้ปลาเมื่อมองขึ้นมาจะต้องมองย้อนแสง ทำให้สังเกตไม่เห็นตัวนก[6] ในบางชนิดอาจจะบินอยู่กับที่กลางอากาศ ก่อนที่จะพุ่งลงไปจับปลา เมื่อจับปลาได้แล้ว จะจับปลาฟาดกับกิ่งไม้เพื่อให้ปลาตาย ก่อนที่จะกลืนลงไปโดยเอาส่วนหัวลงไปก่อนเสมอ เพื่อที่จะไม่กินปลาย้อนเกล็ด ซึ่งอาจโดนเงี่ยงหรือเกล็ดทิ่มแทงทำให้นกได้รับบาดเจ็บได้[7]
โดยปกติเป็นนกที่อยู่ลำพังเพียงตัวเดียว ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์ การทำรังวางไข่ นกกระเต็นมักใช้จะงอยปากขุดรูริมฝั่งน้ำ และหาหญ้ามารองเป็นพื้น วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง บางชนิดอาจขุดรูไว้มากถึง 2-3 รู เพื่อหลอกสัตว์ผู้ล่า ขณะที่บางชนิดอาจจะใช้โพรงไม้หรือโพรงไม้เก่าของนกอื่นที่ทิ้งร้างไว้เป็นที่วางไข่ โดยมากจะวางไข่ในช่วงฤดูหนาว[6]
สามารถจำแนกออกเป็นวงศ์ต่าง ๆ ได้ 3 วงศ์ (ดูในตาราง[1]; บางข้อมูลยกให้เป็นวงศ์ย่อย) แบ่งออกได้เป็นชนิดทั้งหมด 85 ชนิด[6] (บางข้อมูลจัดให้มี 93 ชนิด[8]) พบกระจายพันธุ์อยู่แทบทุกภูมิภาคทั่วโลก พบในประเทศไทยราว 16 ชนิด[8]
ชนิดที่พบในประเทศไทย
[แก้]ชื่อ | ชื่อวิทยาศาสตร์ | สถานะ |
---|---|---|
นกกระเต็นเฮอร์คิวลิส | Alcedo hercules | นกอพยพ หายากมาก |
นกกระเต็นน้อยธรรมดา | Alcedo atthis | นกอพยพ |
นกกระเต็นน้อยหลังสีน้ำเงิน | Alcedo meninting | |
นกกระเต็นน้อยแถบอกดำ | Alcedo euryzona | |
นกกระเต็นน้อยสามนิ้วหลังดำ | Ceyx erithacus | |
นกกระเต็นน้อยสามนิ้วหลังแดง | Ceyx rufidorsa | |
นกกระเต็นลาย | Lacedo pulchella | |
นกกระเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล | Pelargopsis amauropterus | |
นกกระเต็นใหญ่ธรรมดา | Pelargopsis capensis | |
นกกระเต็นแดง | Halcyon coromanda | |
นกกระเต็นอกขาว | Halcyon smyrnensis | |
นกกระเต็นหัวดำ | Halcyon pileata | นกอพยพ นกอพยพผ่าน |
นกกินเปี้ยว | Todirhamphus chloris | |
นกกระเต็นสร้อยคอสีน้ำตาล | Actenoides concretus | หายาก กำลังลดจำนวนลง |
นกกระเต็นขาวดำใหญ่ | Megaceryle lugubris | |
นกกระเต็นปักหลัก | Ceryle rudis | [8] |
รูปภาพ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Alcedines". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
- ↑ กระเต็น น.ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
- ↑ สัตว์ป่าคุ้มครอง จากเว็บไซต์โลกสีเขียว
- ↑ นกกะเต็นน้อยธรรมดา
- ↑ 'จอมยุทธแห่งบึงน้ำ'...อาคันตุกะจากแดนไกล
- ↑ 6.0 6.1 6.2 ""กำกอม" / ปริญญากร วรวรรณ จากผู้จัดการออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-08-24. สืบค้นเมื่อ 2012-11-13.
- ↑ อิสรภาพ, "พินัยกรรมธรรมชาติ". สารคดีทางไทยพีบีเอส: ศุกร์ที่ 11 มกราคม 2556
- ↑ 8.0 8.1 8.2 Fry, C. Hilary; Fry, Kathie and Harris, Alan (1992). Kingfishers, Bee-eaters and Rollers. London: Christopher Helm. ISBN 0-7136-1410-8.