นกกระเต็น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกกระเต็น
นกกระเต็นน้อยธรรมดา (Alcedo atthis) ซึ่งเป็นนกกระเต็นที่อยู่ในวงศ์ Alcedinidae กำลังคาบปลา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Coraciiformes
อันดับย่อย: Alcedines
วงศ์[1]
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

นกกระเต็น[2] หรือ นกกะเต็น[3] เป็นนกที่อยู่ในอันดับย่อย Alcedines ในอันดับนกตะขาบ (Coraciiformes) จัดเป็นนกขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 13-16 เซนติเมตร (ในชนิดที่ใหญ่อาจยาวได้ถึง 41 เซนติเมตร[4]) ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน มีลักษณะทั่วไปคือ มีส่วนหัวโต คอสั้น จะงอยปากแหลมยาวตรงและแข็งแรง ส่วนใหญ่มีสีสวยสดสะดุดตา เมื่อเวลาบินจะบินได้อย่างคล่องแคล่ว มักพบในแหล่งน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ

เป็นนกที่หากินด้วยวิธีการพุ่งลงไปในน้ำด้วยความเร็วและแรง (มีการศึกษาพบว่าเร็วถึง 1/50 วินาที[5]) และใช้จะงอยปากที่แข็งแรงแหลมคมจับปลาหรือสัตว์น้ำต่าง ๆ กินเป็นอาหาร ด้วยการจ้องมองจากบนกิ่งไม้ริมน้ำ ซึ่งสามารถอยู่นิ่ง ๆ แบบนั้นได้เป็นระยะเวลานาน โดยมักจะจับปลาในช่วงเช้าจนถึงสาย ๆ และอีกครั้งในช่วงบ่าย เมื่อเกาะอยู่บนกิ่งไม้เหนือแหล่งน้ำ จะพยายามหันหลังให้ดวงอาทิตย์ เพื่อให้ปลาเมื่อมองขึ้นมาจะต้องมองย้อนแสง ทำให้สังเกตไม่เห็นตัวนก[6] ในบางชนิดอาจจะบินอยู่กับที่กลางอากาศ ก่อนที่จะพุ่งลงไปจับปลา เมื่อจับปลาได้แล้ว จะจับปลาฟาดกับกิ่งไม้เพื่อให้ปลาตาย ก่อนที่จะกลืนลงไปโดยเอาส่วนหัวลงไปก่อนเสมอ เพื่อที่จะไม่กินปลาย้อนเกล็ด ซึ่งอาจโดนเงี่ยงหรือเกล็ดทิ่มแทงทำให้นกได้รับบาดเจ็บได้[7]

โดยปกติเป็นนกที่อยู่ลำพังเพียงตัวเดียว ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์ การทำรังวางไข่ นกกระเต็นมักใช้จะงอยปากขุดรูริมฝั่งน้ำ และหาหญ้ามารองเป็นพื้น วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง บางชนิดอาจขุดรูไว้มากถึง 2-3 รู เพื่อหลอกสัตว์ผู้ล่า ขณะที่บางชนิดอาจจะใช้โพรงไม้หรือโพรงไม้เก่าของนกอื่นที่ทิ้งร้างไว้เป็นที่วางไข่ โดยมากจะวางไข่ในช่วงฤดูหนาว[6]

นกกะเต็นแดง ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

สามารถจำแนกออกเป็นวงศ์ต่าง ๆ ได้ 3 วงศ์ (ดูในตาราง[1]; บางข้อมูลยกให้เป็นวงศ์ย่อย) แบ่งออกได้เป็นชนิดทั้งหมด 85 ชนิด[6] (บางข้อมูลจัดให้มี 93 ชนิด[8]) พบกระจายพันธุ์อยู่แทบทุกภูมิภาคทั่วโลก พบในประเทศไทยราว 16 ชนิด[8]

ชนิดที่พบในประเทศไทย[แก้]

ชื่อ ชื่อวิทยาศาสตร์ สถานะ
นกกระเต็นเฮอร์คิวลิส Alcedo hercules นกอพยพ หายากมาก
นกกระเต็นน้อยธรรมดา Alcedo atthis นกอพยพ
นกกระเต็นน้อยหลังสีน้ำเงิน Alcedo meninting
นกกระเต็นน้อยแถบอกดำ Alcedo euryzona
นกกระเต็นน้อยสามนิ้วหลังดำ Ceyx erithacus
นกกระเต็นน้อยสามนิ้วหลังแดง Ceyx rufidorsa
นกกระเต็นลาย Lacedo pulchella
นกกระเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล Pelargopsis amauropterus
นกกระเต็นใหญ่ธรรมดา Pelargopsis capensis
นกกระเต็นแดง Halcyon coromanda
นกกระเต็นอกขาว Halcyon smyrnensis
นกกระเต็นหัวดำ Halcyon pileata นกอพยพ นกอพยพผ่าน
นกกินเปี้ยว Todirhamphus chloris
นกกระเต็นสร้อยคอสีน้ำตาล Actenoides concretus หายาก กำลังลดจำนวนลง
นกกระเต็นขาวดำใหญ่ Megaceryle lugubris
นกกระเต็นปักหลัก Ceryle rudis [8]

รูปภาพ[แก้]

การพุ่งลงน้ำจับปลาของนกกระเต็นปักหลัก (Ceryle rudis)

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Alcedines". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  2. กระเต็น น.ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  3. สัตว์ป่าคุ้มครอง จากเว็บไซต์โลกสีเขียว
  4. นกกะเต็นน้อยธรรมดา
  5. 'จอมยุทธแห่งบึงน้ำ'...อาคันตุกะจากแดนไกล
  6. 6.0 6.1 6.2 ""กำกอม" / ปริญญากร วรวรรณ จากผู้จัดการออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-08-24. สืบค้นเมื่อ 2012-11-13.
  7. อิสรภาพ, "พินัยกรรมธรรมชาติ". สารคดีทางไทยพีบีเอส: ศุกร์ที่ 11 มกราคม 2556
  8. 8.0 8.1 8.2 Fry, C. Hilary; Fry, Kathie and Harris, Alan (1992). Kingfishers, Bee-eaters and Rollers. London: Christopher Helm. ISBN 0-7136-1410-8.