ข้ามไปเนื้อหา

กระดอม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระดอม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Angiosperms
ชั้น: Eudicots
ชั้นย่อย: Rosids
อันดับ: Cucurbitales
วงศ์: Cucurbitaceae
วงศ์ย่อย: Cucurbitoideae
เผ่า: Trichosantheae
เผ่าย่อย: Trichosanthinae
สกุล: Gymnopetalum
สปีชีส์: G.  chinensis
ชื่อทวินาม
Gymnopetalum chinensis
ชื่อพ้อง

Gymnopetalum cochinchinense (Lour.) Kurz

กระดอม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gymnopetalum chinensis (Lour.) Merr. หรือ Gymnopetalum cochinchinense (Lour.) Kurz) เป็นพืชชนิดหนึ่งในสกุล Gymnopetalum ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์แตง (Cucurbitaceae) มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย กระดอมสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรอันปรากฏในตำรับตำรายาโบราณของไทย โดยเฉพาะส่วนของเมล็ด ต้นกระดอมขึ้นอยู่ทั่วไปตามที่รกร้าง มีถิ่นกระจายพันธุ์ในแถบประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค[1][2]

ลักษณะ

[แก้]

ส่วนต่าง ๆ ของต้นกระดอมมีลักษณะดังต่อไปนี้[1]

  • ลำต้น เป็นไม้เถา ลำต้นเป็นร่อง มีมือเกาะ (tendril)
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ มีรูปร่างต่าง ๆ กัน ตั้งแต่รูปไตจนถึงรูปสามเหลี่ยม ห้าเหลี่ยม หรือเป็นแฉก กว้าง 3–10 ซม. ยาว 4–10 ซม. โคนเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ สากคายทั้งด้านบน และด้านล่าง
  • ดอก ดอกแยกเพศ อยู่บนต้นเดียวกัน ใบประดับยาว 1.5–2 ซม. ขอบจักเป็นแฉกลึกแหลม ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ ก้านช่อยาว 7–15 ซม. กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นแฉกรูปใบหอก 5 แฉก มีขนเป็นมันเลื่อม กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว โคนติดกันเล็กน้อย เกสรผู้ 3 อัน ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ กลีบเลี้ยง และกลีบดอกมีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่มีช่อเดียว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 แฉก
  • ผล เมื่อสุกสีแดงอมส้ม รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ลักษณะคล้ายกระสวยหรือรูปรีแหลมหัวท้าย ยาว 4–5 ซม. ผิวสาก มีสัน 10 สัน เนื้อสีเขียว ผลอ่อนแห้งแล้วเป็นสีน้ำตาล ผลอ่อนกินได้ ผลแก่และผลสุกมีพิษห้ามรับประทาน
  • เมล็ด เป็นรูปรี กว้างประมาณ 3 มม. กว้างประมาณ 3 มม. ยาวประมาณ 6 มม. มีจำนวนมาก

สรรพคุณทางยา

[แก้]

กระดอมเป็นพืชสมุนไพร ตำรายาไทยใช้น้ำต้ม เมล็ด รับประทานเป็นยาลดไข้ แก้พิษสำแลง เป็นยาถอนพิษจากการกินผลไม้ที่เป็นพิษบางชนิด ขับน้ำลาย ช่วยย่อยอาหาร ขับน้ำดี บำรุงธาตุ ผล บำรุงน้ำดี ผลอ่อน รสขม บำรุงน้ำดี แก้ดีแห้ง ดีฝ่อ คลั่งเพ้อ เจริญอาหาร แก้สะอึก ดับพิษโลหิต บำรุงมดลูก แก้ไข้ รักษามดลูกหลังการแท้ง หรือการคลอดบุตร แก้มดลูกอักเสบ ถอนพิษผิดสำแดง ต้มน้ำดื่ม บำรุงโลหิต ทั้งห้าส่วน บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ถอนพิษผิดสำแดง รักษามดลูกหลังจากการคลอดบุตร เจริญอาหาร บำรุงน้ำดี บำรุงน้ำนม แก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น ดับพิษร้อน เป็นส่วนประกอบของตำรับยาหอมนวโกฐ ยาหอมอินทจักร์ และตำรับยาแก้ไข้จันทน์ลีลา[2]

ชื่อท้องถิ่น

[แก้]

กระดอมมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามพื้นที่[2] ได้แก่

  • ขี้กาดง, ขี้กาน้อย (สระบุรี)
  • ขี้กาเหลี่ยม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
  • ขี้กาลาย (นครราชสีมา)
  • ผักแคบป่า (น่าน)
  • มะนอยจา,มะนอยออมแอม (ภาคเหนือ)
  • มะนอยหก, มะนอยหกฟ้า (แม่ฮ่องสอน)
  • ผักขาว (เชียงใหม่)
  • ดอม (นครศรีธรรมราช)

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  2. 2.0 2.1 2.2 กระดอม ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.