กระจกใส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาคารที่ใช้ผนังเป็นกระจกใสที่พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมเอโดะโตเกียว

กระจกใส เป็นแก้วที่ถูกทำเป็นแผ่นเรียบ ใช้เพื่อเป็นวัสดุโปร่งใสสำหรับเป็นผนังกั้นในการสร้างสิ่งก่อสร้าง เช่นเป็นหน้าต่าง ข้อดีของการใช้กระจกใสคือสามารถมองทะลุไปเห็นฝั่งตรงข้ามได้ หน้าต่างกระจกใสสามารถใช้มองเพื่อเพลิดเพลินกับทิวทัศน์ภายนอกโดยอยู่ภายในห้องอุ่น ๆ ได้ การใช้กระจกใสเป็นส่วนผนังสิ่งก่อสร้างจะทำให้สามารถรับแสงจากดวงอาทิตย์ซึ่งสามารถใช้แทนแสงสว่างได้

วิธีการผลิต[แก้]

ในปัจจุบัน กระจกใสส่วนใหญ่ผลิตโดยกระบวนการพิลคิงตัน (Pilkington process) เทคโนโลยีนี้พัฒนาขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ทำให้สามารถผลิตกระจกแผ่นขนาดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง และนับเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 20

ในกระบวนการพิลคิงตัน ทำโดยการเทแก้วหลอมเหลวลงบนดีบุกหลอมเหลว จะทำให้เกิดพื้นผิวที่เรียบทั้งด้านบนและด้านล่าง เนื่องจากดีบุกมีความถ่วงจำเพาะสูงกว่าแก้วและไม่ผสมกับแก้ว จึงเกิดแผ่นแก้วที่แบนมากบนดีบุก ด้วยวิธีนี้ สามารถผลิตแผ่นกระจกที่มีความหนาประมาณ 1 มม. ถึง 22 มม.

กระจกใสส่วนใหญ่เป็นกระจกประเภทที่เรียกว่า แก้วโซดาไลม์ มีส่วนประกอบโดยประมาณคือ SiO2:Na2O:CaO = 75:15:10 (mol%) โดยใช้ควอตซ์ โซเดียมคาร์บอเนต และปูนขาว เป็นวัตถุดิบ อัตราส่วนองค์ประกอบนี้เกือบจะเหมือนกับอัตราส่วนองค์ประกอบที่ก่อตัวเป็นเปลือกโลก ดังนั้นจึงอาจถือได้ว่าแทบไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรสำหรับวัสดุทำกระจกใส อาจเหลือไว้เพียงปัญหาสิ่งแวดล้อมบางส่วนจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงระหว่างการผลิต

กระจกใสธรรมดาดูโปร่งใสเมื่อมองจากด้านหน้าโดยตรง แต่เมื่อมองจากมุมเอียง หรือเมื่อมองจากส่วนที่มีความหนา จะปรากฏเป็นสีเขียวอมฟ้าเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากไอออนเหล็กที่มีอยู่ในวัสดุ หากไม่ต้องการสีนี้ อาจใช้วัตถุดิบที่บริสุทธิ์มากขึ้น หรือเติมสารให้สีลงไปเพิ่มเติม

ในกรณีของกระจกใสที่ใช้สำหรับทำหน้าต่างของบ้าน ซิลิคอนและออกซิเจนจะถูกยึดเหนี่ยวอย่างแน่นหน้าโดยมีโครงสร้างคล้ายตาข่าย