ข้ามไปเนื้อหา

กบฏท้าวศรีสุดาจัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ใบปิดภาพยนตร์

กบฏท้าวศรีสุดาจัน (อังกฤษ: The King Maker) เป็นภาพยนตร์ไทยอิงประวัติศาสตร์ สร้างและเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2548 นำแสดงโดย ยศวดี หัสดีวิจิตร, แกรี่ สเตรจช์, สิรินยา เบอร์บริดจ์, จอห์น รีทส์ เดวี่ส์, พุฒิชัย อมาตยกุล, นิรุตต์ ศิริจรรยา, ดอม เหตระกูล, โอลิเวอร์ พูพาร์ท, ชาลี ไตรรัตน์ กำกับโดย เล็ก กิติพราภรณ์[1][2]

เนื้อเรื่องย่อ

[แก้]

เฟอร์นานโด้ เดอ กาม่า (แกรี่ สเตรจช์) ทหารหนุ่มชาวโปรตุเกสเรือแตกกลางพายุ ร่างของเขาได้ถูกซัดมาติดที่ชายหาดแห่งหนึ่ง และถูกจับขายเป็นทาส แต่ได้มาเรีย (สิรินยา เบอร์บริดจ์) หญิงชาวโปรตุเกสเช่นกันที่อาศัยอยู่ ณ เมืองสาครบุรี ได้ช่วยไว้ จากนั้นทั้งคู่จึงได้สนิทสนมกันมากขึ้น

ฟิลลิปป์ (จอห์น รีทส์ เดวี่ส์) พ่อของมาเรีย เป็นทหารรับจ้างในองค์เหนือหัว (นิรุตต์ ศิริจรรยา) กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในขณะนั้นกำลังมีสงครามกับอาณาจักรล้านนา เฟอร์นานโด้ก็ได้ติดตามไปรบในสงครามครั้งนั้นด้วย และได้กลายเป็นองครักษ์ขององค์เหนือหัว พร้อมกับทอง (ดอม เหตระกูล) ชาวนาชาวไทย ขณะเดียวกันในพระนคร ท้าวศรีสุดาจันทร์ (ยศวดี หัสดีวิจิตร) มเหสีขององค์เหนือหัว ได้ลักลอบเป็นชู้กับพัน (พุฒิชัย อมาตยกุล) มหาดเล็กรับใช้ในวัง ทั้งคู่วางแผนสังหารองค์เหนือหัวและสมเด็จพระยอดฟ้า (ชาลี ไตรรัตน์) ลูกชายของตน เพื่อที่ทั้งคู่จะได้ขึ้นครองแผ่นดินเสียเอง ส่วนสาเหตุของเฟอร์นานโด้ที่ต้องเดินทางมาที่สาครบุรี เพื่อตามล้างแค้นบุคคลที่ฆ่าล้างตระกูลของตน ซึ่งก็คือ ฟิลลิปป์ เมื่อได้ล้างแค้นแล้ว องค์เหนือหัวก็ถูกลอบปลงประชนม์ เฟอร์นานโด้และทองสืบทราบว่า ต้นเหตุก็คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์และพัน ทั้งคู่พยายามกบฏแต่ไม่สำเร็จ ถูกจับได้และถูกบังคับให้ต่อสู้กันเอง ถ้าไม่ทำครอบครัวและคนรักของทั้งคู่จะถูกประหาร แต่ในระหว่างนั้น เจ้าฟ้าชัยรัตน์ (โอลิเวอร์ พูพาร์ท) อนุชาขององค์เหนือหัวก็ได้ยกกำลังเข้ายึดอำนาจ และได้ประหารชีวิตท้าวศรีสุดาจันทร์และเสียบศีรษะประจานไว้ที่หน้าประตูเมือง

คำวิจารณ์

[แก้]

กบฏท้าวศรีสุดาจัน เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์แต่ออกเป็นวีซีดี เป็นภาพยนตร์ที่ทางไทยกับสหรัฐอเมริการ่วมมือกันสร้าง ดังจะเห็นได้จากมีดาราไทยและดาราฮอลลีวู้ดร่วมแสดงด้วยกัน เป็นภาพยนตร์ที่พูดเป็นภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง เนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบมาตั้งแต่เริ่มสร้าง ตั้งแต่ชื่อของภาพยนตร์ ซึ่งตอนแรกผู้สร้างจะใช้ชื่อว่า "กษัตริย์ผลัดแผ่นดิน" เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อภาษาอังกฤษ แต่ถูกติงว่าไม่เหมาะสมจึงเปลี่ยนมาเป็น กบฏท้าวศรีสุดาจัน แทน กระนั้น เนื้อเรื่องก็ยังสร้างได้ผิดเพี้ยนจากประวัติศาสตร์หลายประการ มีหลายฉากที่เกินความเป็นจริง อีกทั้งชื่อตัวละครก็ยังผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงอีกด้วย จึงได้รับคะแนนเพียง 3.6 ดาว จากทั้งหมด 10 ดาว จากเว็บไซต์ IMDb[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Siamzoneกบฏท้าวศรีสุดาจัน (2005)
  2. 2.0 2.1 กบฏท้าวศรีสุดาจันจากพันทิปดอตคอม

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]