กถาสริตสาคร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กถาสริตสาคร เป็นหนังสือรวบรวมนิทาน ตำนานต่างๆ ของอินเดีย แต่งโดยนักปราชญ์ชาวกัศมีร์ชื่อ โสมเทวะ เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 นับเป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งของอินเดีย คำว่า "กถาสริตสาคร" เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง "มหาสมุทรแห่งสายน้ำของเรื่องเล่าต่างๆ"

กถาสริตสาคร มีเนื้อหา 18 เล่ม 124 บท มีบทร้อยกรองมากกว่า 21,000 บท ที่แต่งเสริมเนื้อหาในส่วนร้อยแก้ว นิทานเรื่องหลักนั้นเป็นการเล่าเรื่องผจญภัยของเจ้าชายนรวหนทัตตะ โอรสของพระเจ้าอุทยนะในตำนาน มีการแต่งนิทานจำนวนมากประกอบกับเนื้อเรื่องหลัก ทำให้กลายเป็นแหล่งรวมนิทานอินเดียที่ยาวที่สุด

ตำนานกล่าวว่า กถาสริตสาครนั้น ส่วนใหญ่อิงจากงานเขียนเรื่อง พฤหัตกถา ของคุณาฒยะ ในภาษาไปศาจี จากตอนใต้ของอินเดีย แต่พฤหัตกถาฉบับกัศมีร์ที่โสมเทวะใช้เป็นแหล่งเนื้อหานั้น อาจแตกต่างไปจากฉบับของไปศาจี เพราะมีพฤหัตกถาหลงเหลืออยู่สองฉบับ ในกัศมีร์ (นอกเหนือจากพฤหัตกถาโศลกสังเคราะห์ ของพุทธสวามิน จากเนปาล)

ลักษณะการเล่านิทานในกถาสริตสาครนั้น (หรือในเนื้อหาหลักของพฤหัตกถา) คล้ายกับการเล่าเรื่องปัญจตันตระ นั่นคือ เป็นเรื่องที่ผูกโยงมาจากท้องถิ่นต่างๆ มากมายในโลกนี้

ประวัติการแปลในภาษาไทย เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป เคยร่วมกันแปลถ่ายทอดนิทานชุดนี้ออกเป็นภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. 2499

อ้างอิง[แก้]

  • The Katha Sarit Sagara, or Ocean of the Streams of Story, Translated by C.H.Tawney, 1880