ข้ามไปเนื้อหา

กฎหมายเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ในเมืองในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาเป็นการเฉพาะสำหรับการจัดการหรืออนุรักษ์ต้นไม้ในเมืองโดยตรง มีเพียงบางมาตราในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กล่าวถึงความรับผิดทางละเมิด เช่น มาตรา 434 ว่าด้วยความเสียหายเกี่ยวกับการบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ และบทบัญญัติในบรรพ 4 หมวด 2 ว่าด้วยแดนแห่งกรรมสิทธิ์และการใช้กรรมสิทธิ์ เป็นต้น กับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดจากต้นไม้โดยอนุโลมอาจสรุปเฉพาะที่เกี่ยวกับต้นไม้ดังนี้:-

กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและการละเมิด

[แก้]
  • มาตรา 1344 รั้วต้นไม้ซึ่งหมายเขตที่ดิน ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของที่ดินทั้งสองข้างเป็นเจ้าของร่วมกัน
  • มาตรา 1345 เจ้าของรั้วต้นไม้ร่วมมีสิทธิ์ตัดรั้วต้นไม้ได้ถึงแนวเขตที่ดินของตน
  • มาตรา 1346 ดอกผลของต้นไม้ตรงแนวเขตที่เป็นเจ้าของร่วมกันตกเป็นของเจ้าของคนละส่วนเท่ากัน และหากตัดโค่นลงก็เป็นเจ้าของไม้คนละส่วน
  • มาตรา 1347 เจ้าของที่ดินมีสิทธิ์ตัดรากหรือกิ่งที่ยื่นเข้ามาและเอาไว้เสียได้ หากได้บอกผู้ครอบครองต้นไม้ให้ตัดนานพอควรแล้ว
  • มาตรา 1348 ดอกผลของต้นไม้ที่หล่นตามปกติลงในที่ดินแปลงใดถือเป็นดอกผลของที่ดินแปลงนั้น

จะเห็นได้ว่ากฎหมายข้างต้นเป็นเรื่องของสิทธิและการละเมิดทั่วไปที่มีต้นไม้เข้าไปเกี่ยวข้อง อาจมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการป่าไม้ และกฎหมายใหม่ ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศมีกล่าวเกี่ยวกับต้นไม้ไว้บ้าง แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายที่ตราออกมาโดยเฉพาะเพื่อการอนุรักษ์ตัวต้นไม้ไว้หรือเพื่อบังคับให้ปลูกต้นไม้ขึ้นโดยตรง

ความรับผิดทางกฎหมายจากการละเลยปล่อยให้ต้นไม้ก่ออันตราย

[แก้]

ประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับต้นไม้มีแนวโน้มจะทวีมากขึ้นในอนาคต ตามจำนวนต้นไม้ที่ได้เร่งระดมปลูกในเมืองต่าง ๆ ในขณะนี้คือ ความรับผิดในอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินอันเนื่องมาจากต้นไม้ ดังปรากฏในตามข่าวหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเจ้าของต้นไม้ผุอันตรายที่ปล่อยปละละเลยไว้ไม่ดูแลปล่อยให้เกิดอันตรายล้มทับคนบาดเจ็บหรือตาย หรือทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย เจ้าของต้นไม้จึงมักจะแพ้คดี ต้องชดใช้ค่าเสียหายและเสียเวลากับคดีความ หากเจ้าของเอาใจใส่ดูแลต้นไม้อย่างถูกต้อง เมื่อเกิดล้มทับคนหรือทรัพย์สินเสียหายอันเนื่องมาจากลมพายุที่รุนแรงผิดปกติก็ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายเนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัย จึงน่าวิตกว่าต้นไม้ที่กรุงเทพมหานคร เทศบาล และอบต. ต่าง ๆ ที่ปลูกไปแล้วนับล้านต้นด้วยต้นไม้ที่ไม่ได้มาตรฐาน และด้วยการดูแลรักษาและตัดแต่งผิดวิธี ซึ่งย่อมสร้างปัญหาให้เจ้าของเมื่อโตเต็มที่ ในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการสู้คดีและชดใช้ค่าเสียหายจากต้นไม้อันตรายมีสูงมากกว่าการจัดหาต้นไม้ดี ๆ มาปลูกและค่าจัดตั้งและดำเนินงานหน่วยงานป่าไม้ในเมืองหลายเท่า

ปัจจุบัน ต้นไม้มีความสำคัญต่อเมืองมากขึ้นเป็นลำดับ มีการรณรงค์การสร้าง "ป่าไม้ในเมือง" (urban forestry) เพื่อลดปัญหามลพิษ ดังนั้น ต่างประเทศจึงออกกฎหมายส่งเสริมให้มีการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้อย่างจริงจัง เพราะกฎหมายที่ดีและทันสมัยจะทำให้การพัฒนาบ้านเมืองรุดหน้าอย่างสอดคล้องและกลมกลืนกับธรรมชาติ

อ้างอิง

[แก้]
  • เดชา บุญค้ำ ต้นไม้ใหญ่ในงานก่อสร้างและพัฒนาเมือง สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2543