ข้ามไปเนื้อหา

อัลปากา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อัลปาคา)
อัลปากา
สถานะการอนุรักษ์
สัตว์เลี้ยงหรือปศุสัตว์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Camelidae
สกุล: Vicugna
สปีชีส์: V.  pacos
ชื่อทวินาม
Vicugna pacos
(Linnaeus, 1758)
แผนที่กระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง[1]
  • Lama pacos (Linnaeus, 1758)

อัลปากา (สเปน: alpaca; ชื่อวิทยาศาสตร์: Vicugna pacos) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในวงศ์อูฐ (Camelidae) มีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวยามา อัลปากาเป็นสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นฝูง พบได้ในที่สูงบริเวณแถบเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้ซึ่งได้แก่ ตอนใต้ของประเทศเปรู ตอนเหนือของประเทศโบลิเวีย ประเทศเอกวาดอร์ และตอนเหนือของประเทศชิลี อัลปากาเป็นสัตว์ที่มีความทรหดอดทนมาก โดยจะอยู่บริเวณที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 3,500 เมตร (11,000 ฟุต) ถึง 5,000 เมตร (16,000 ฟุต)[2]

ลักษณะ

[แก้]

อัลปากาเป็นสัตว์ที่ไม่มีฟันหน้า มีความสูงเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 180 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายยามา แต่จะแตกต่างกันตรงที่อัลปากาไม่ได้ถูกเลี้ยงไว้ใช้ขนสัมภาระ แต่จะถูกเลี้ยงเพื่อนำขนมาทำเป็นเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ขนอัลปากานำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ตั้งแต่ผ้าห่ม เสื้อกันหนาว หมวก ถุงมือ ผ้าพันคอ และเครื่องนุ่งห่มประเภทต่าง ๆ โดยขนของอัลปากาตามธรรมชาติมีหลายสี โดยในเปรูมีการจำแนกสีขนออกเป็น 52 สี ขณะที่ทางออสเตรเลียจำแนกไว้ 12 สี และสหรัฐอเมริกาจำแนกเป็น 16 สี[3]

ขนอัลปากาได้ชื่อว่าเป็นขนสัตว์ที่นุ่มที่สุดในโลกจนได้รับการขนามนามว่า "เส้นใยจากพระเจ้า" ขนของอัลปากาเมื่อตัดแล้วจะมีราคาขายสูงถึงกิโลกรัมละ 30,000 บาท[4]

พฤติกรรม

[แก้]

อัลปากามีเสียงร้องหลายเสียง มักร้องเสียงแหลมสูงเมื่อตกอยู่ในภัยอันตราย หมาหรือแมวที่แปลกหน้าอาจทำให้อัลปากานึกว่าตนตกอยู่ในภัยอันตรายได้ มักทำเสียงดูดเพดานอ่อนหรืออาจทำเสียงในโพรงจมูกเมื่อแสดงความเป็นมิตร

อัลปากามักฮัมเป็นเพลงสั้น ๆ เมื่ออยากแสดงให้อัลปากาตัวอื่นรู้ว่าตนอยู่ใกล้หรือกำลังมีความสุข โดยมีเสียงฮัมที่แตกต่างกันไปในแต่ละตัว

มักร้องสูงเหมือนนกเมื่อตัวผู้ต่อสู้กัน ซึ่งอาจเป็นเสียงที่ทำให้ศัตรูหวาดกลัว อัลปากาจะรู้สึกว่าเป็นอันตรายหรือถูกคุกคามเมื่อถูกสัมผัสที่ช่วงก้น และจะป้องกันตัวด้วยการพ่นน้ำลายออกมาเหมือนอูฐ[4]

สัตว์เลี้ยง

[แก้]

ปัจจุบัน มีการนิยมเลี้ยงอัลปากากันหลากหลายมากขึ้นในฐานะของปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เชื่องต่อผู้เลี้ยง ผู้ที่มีชื่อเสียงที่เลี้ยงอัลปากาไว้ในฐานะสัตว์เลี้ยง คือ นิโคล คิดแมน และ รอเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ นักแสดงฮอลลีวุด มีราคาซื้อขายกันสูงถึงตัวละหลักแสนหรือล้านบาท อัลปากาสามารถเลี้ยงไว้ในบ้านได้เหมือนกับสุนัขโกลเดินริทรีฟเวอร์ตัวหนึ่ง ให้อาหารด้วยหญ้าและเสริมด้วยอาหารเม็ด อัลปากาเป็นสัตว์ที่รักสะอาด ขับถ่ายอย่างเป็นที่เป็นทางในพื้นทรายที่เตรียมไว้ให้ และเป็นสัตว์ที่ไม่มีกลิ่นเหม็นแม้ไม่ได้อาบน้ำ อัลปากาจะอาบน้ำต่อเมื่อถูกส่งเข้าประกวด ซึ่งต้องใช้เวลาเป่าขนนานถึง 4 ชั่วโมงให้แห้งต่อตัว

ในประเทศไทย มีฟาร์มเลี้ยงอัลปากาที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี บนพื้นที่กว่า 250 ไร่ [4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Vicugna pacos". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ 13 October 2014.
  2. "Harvesting of textile animal fibres". UN Food and Agriculture Organization.
  3. "Alpaca color". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-05. สืบค้นเมื่อ 2008-04-23.
  4. 4.0 4.1 4.2 หน้า 32, แรกสัมผัส อัลปาก้า หัวใจยิ้มแม้ดวงตาปิด โดย พรประไพ เสือเขียว. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,741: วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2557 แรม 5 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเมีย

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Vicugna pacos ที่วิกิสปีชีส์