ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์

ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ (Reinhold Andreas Messner) เกิดวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) นักปีนเขาชาวอิตาลี ผู้เป็นตำนานที่ยังมีชีวิต มนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่ ยอดเขาเอเวอเรสต์ เพียงลำพัง โดยไม่ใช้ ถังออกซิเจนสำรอง ไม่ใช้ลูกหาบ รวมทั้งไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือที่ใช้กันทั่วไป เช่น หมุดยึด และเชือกนิรภัย เป็นเจ้าของสถิติ พิชิตยอดเขาที่มีความสูงเกิน 8,000 เมตร ครบทั้ง 14 แห่ง เป็นคนแรกของโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 และจนถึงปัจจุบันมีผู้สามารถพิชิต 14 ยอดเขาดังกล่าวได้ครบเพียง 14 คน

หลังประสบความสำเร็จในการปีนเขาสูงแล้ว ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ ยังได้สร้างสถิติการเดินเท้าในทางราบ เช่นเดินเท้าสู่ขั้วโลกเหนือ ระยะทาง 200 กิโลเมตร เดินเท้าข้าม เกาะกรีนแลนด์ ระยะทางถึง 2,000 กิโลเมตร เดินเท้าข้ามทิเบตตะวันออก ระยะทาง 1000 กิโลเมตร และเดินเท้าวนรอบ ทะเลทรายโกบี ระยะทางถึง 2,000 กิโลเมตร เป็นต้น

สถิติการพิชิตยอดเขาสูงของ ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์[แก้]

  • ปี ค.ศ. 1950 ติดตามโจเซฟ เมสเนอร์ (Josef Messner) ผู้เป็นบิดา พิชิตยอดเขาสูง 900 เมตรใน เทือกเขาไกสเลอร์ชปิตเซน ได้เมื่ออายุเพียง 5 ขวบ
  • ปี ค.ศ. 1970 พิชิตยอดเขา นังกาปาร์บัต (Nanga Parbat) ยอดเขาสูงอันดับ 9 ของโลก (ความสูง 8,125 เมตร) โดยร่วมทีมกับน้องชายคือ กึนเธอร์ เมสเนอร์ (Günther Messner) ปีนขึ้นจากด้านที่ยากที่สุดจนสำเร็จ แต่ในการลงจากยอดเขา กึนเธอร์ได้หายสาบสูญไประหว่างเส้นทาง และไรน์โฮลด์ต้องตัดนิ้วเท้าทิ้งถึง 7 นิ้วเนื่องจากถูกหิมะกัด จากการพยายามค้นหาน้องชาย ในสภาพอากาศเย็นจัดเป็นเวลานาน แต่หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ไรน์โฮลด์ ยังตัดสินใจปีนเขาต่อไป และกลายเป็นจุดกำเนิดของตำนานการปีนเขาที่ยิ่งใหญ่
  • ปี ค.ศ. 1972 พิชิตยอดเขา มนัสลู (Manaslu) ยอดเขาสูงอันดับ 8 ของโลก (ความสูง 8,163 เมตร)
  • ปี ค.ศ. 1975 ร่วมกับ ปีเตอร์ ฮาเบเลอร์ (Peter Habeler) พิชิตยอดเขา แกเชอร์บรูม 1 (Gasherbrum I หรือ K5) ยอดเขาสูงอันดับ 11 ของโลก (ความสูง 8,068 เมตร) โดยไม่ใช้อุปกรณ์ปีนเขาสูงที่ใช้กันตามปกติ ทั้ง แคมป์ เชือก หมุดยึด และถังออกซิเจน และไม่ใช้ลูกหาบ ได้สำเร็จ
  • ปี ค.ศ. 1977
    • พิชิตยอดเขา เธาลาคีรี (Dhaulagiri) ยอดเขาสูงอันดับ 7 ของโลก (ความสูง 8,167 เมตร)
    • บินทดสอบโดยไม่ปรับความดันอากาศที่ความสูงระดับยอดเขาเอเวอเรสต์ (ประมาณ 9 พันเมตร) ว่าจะสามารถอยู่รอดโดยไม่ใช้ถังออกซิเจนสำรองได้หรือไม่
  • ปี ค.ศ. 1978
    • ในเดือนพฤษภาคม ร่วมกับ ปีเตอร์ ฮาเบเลอร์ (Peter Habeler) พิชิต ยอดเขาเอเวอเรสต์ (Everest) ยอดเขาสูงที่สุดในโลก (ความสูง 8,850 เมตร) โดยไม่ใช้ถังออกซิเจนสำรอง ไม่ใช้อุปกรณ์ปีนเขาสูงที่ใช้กันตามปกติ ทั้ง แคมป์ เชือก หมุดยึด และไม่ใช้ลูกหาบ ได้สำเร็จเป็นทีมแรกของโลก
    • ในเดือนสิงหาคม ย้อนกลับไปพิชิตยอดเขา นังกาปาร์บัต ซ้ำอีกครั้งเพียงลำพังคนเดียวได้สำเร็จ แต่ไรน์โฮลด์ยังคงค้นหาร่างของน้องชายไม่พบ
  • ปี ค.ศ. 1979 พิชิตยอดเขา เคทู (K2 หรือ Chogori) ยอดเขาสูงอันดับ 2 ของโลก (ความสูง 8,611 เมตร) ที่ขึ้นชื่อว่า ปีนยากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
  • ปี ค.ศ. 1980 ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ กลายเป็นมนุษย์คนแรกของโลก ที่ขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์เพียงลำพัง โดยไม่ใช้ถังออกซิเจนสำรองได้สำเร็จ
  • ปี ค.ศ. 1981 พิชิตยอดเขา ซีซาปังมา (Shisha Pangma) ยอดเขาสูงอันดับ 13 ของโลก (ความสูง 8,046 เมตร)
  • ปี ค.ศ. 1982
    • พิชิตยอดเขา กันเจนชุงคา (Kangchenjunga) ยอดเขาสูงอันดับ 3 ของโลก (ความสูง 8,586 เมตร)
    • พิชิตยอดเขา แกเชอร์บรูม 2 (Gasherbrum II หรือ K4) ยอดเขาสูงอันดับ 14 ของโลก (ความสูง 8,035 เมตร)
    • พิชิตยอดเขา บรอดพีก (Broad Peak หรือ K3) ยอดเขาสูงอันดับ 12 ของโลก (ความสูง 8,047 เมตร)
    • พิชิตยอดเขา โชโอยู (Cho Oyu) ยอดเขาสูงอันดับ 6 ของโลก (ความสูง 8,201 เมตร)
  • ปี ค.ศ. 1983 ย้อนกลับไปพิชิตยอดเขา โชโอยู (Cho Oyu) อีกครั้ง
  • ปี ค.ศ. 1984
    • ย้อนกลับไปพิชิตยอดเขา แกเชอร์บรูม 1 (Gasherbrum I หรือ K5) อีกครั้ง
    • ย้อนกลับไปพิชิตยอดเขา แกเชอร์บรูม 2 (Gasherbrum II หรือ K4) อีกครั้ง
  • ปี ค.ศ. 1985
    • พิชิตยอดเขา อันนะปุรณะ (Annapurna) ยอดเขาสูงอันดับ 10 ของโลก (ความสูง 8,091 เมตร) ที่ขึ้นชื่อว่า อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
    • ย้อนกลับไปพิชิตยอดเขา เธาลาคีรี (Dhaulagiri) อีกครั้ง
  • ปี ค.ศ. 1986
    • พิชิตยอดเขา มะกะลู (Makalu) ยอดเขาสูงอันดับ 5 ของโลก (ความสูง 8,463 เมตร)
    • ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ กลายเป็นมนุษย์คนแรก ที่สามารถพิชิตยอดเขาสูงเกิน 8,000 เมตรได้ครบทั้ง 14 แห่ง เมื่อสามารถพิชิตยอดเขา โลตเซ (Lhotse) ยอดเขาสูงอันดับ 4 ของโลก (ความสูง 8,516 เมตร) ได้สำเร็จ
  • ปี ค.ศ. 1989 ย้อนกลับไปพิชิตยอดเขา โลตเซ (Lhotse) อีกครั้ง

สถิติการเดินเท้าในทางราบของ ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์[แก้]

ภายหลังประสบความสำเร็จสูงสุดในการพิชิตภูเขาสูง ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ ได้เปลี่ยนไปทำสถิติในทางราบ คือ

  • ปี ค.ศ. 1992 เดินเท้าข้าม ทะเลทราย ตากลา มากัน (Takla Makan) ใน ซินเกียง ประเทศจีน ระยะทาง 200 กิโลเมตร
  • ปี ค.ศ. 1993 เดินเท้าข้าม เกาะกรีนแลนด์ ระยะทาง 2000 กิโลเมตร
  • ปี ค.ศ. 1995 เดินเท้าจาก สถานีขั้วโลก ไป ขั้วโลกเหนือ ระยะทาง 200 กิโลเมตร
  • ปี ค.ศ. 1996 เดินเท้าข้าม ทิเบตตะวันออก ระยะทาง 1000 กิโลเมตร
  • ปี ค.ศ. 2000 เดินเท้าข้าม เซาท์จอร์เจีย (สหราชอาณาจักร) ระยะทาง 42 กิโลเมตร
  • ปี ค.ศ. 2004 เดินเท้าวนรอบ ทะเลทรายโกบี ระยะทาง 2000 กิโลเมตร

การสังหารความเป็นไปไม่ได้[แก้]

ในบทความเรื่อง "การสังหารความเป็นไปไม่ได้" (The Murder of the Impossible) ที่ ไรน์โฮลด์ เมนเนอร์ เขียนขึ้นเมื่ออายุ 27 ปี ไรน์โฮลด์ ได้อุทธรณ์แทนภูเขา ที่ไม่สามารถ "ปกป้องตัวเอง" และอุทธรณ์แทนนักปีนเขา ที่สูญเสียโอกาส ในการพิสูจน์ความกล้าหาญ และความสามารถของตัวเอง โดยได้กล่าวโจมตีการปีนเขา ที่ใช้หมุดยึดเพื่อช่วยยึดเกาะ ขณะที่ไรน์โฮล์แน่วแน่กับการไม่ใช้หมุดยึด และไม่ใช้ถังออกซิเจนสำรอง ซึ่งมีชื่อเรียก วิธีการปีนเขาแบบนี้ว่า การปีนเขาแบบอัลไพน์ (alpine-style climbing)

ความสำเร็จในการปีนเขาสูง ในแนวทางของ ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ ได้ช่วยปลดปล่อยนักปีนเขาและภูเขา ให้เป็นอิสระ ด้วยการนำเสนอทางเลือก ที่แตกต่างจากการปีนเขาสูง ที่มีค่าใช้จ่ายแพงๆ แบบเดิมๆ เช่น การต้องจ้างลูกหาบพื้นเมือง เพื่อช่วยขนถังออกซิเจนสำรอง น้ำหนักถึง 50 กิโลกรัม ต่อนักปีนเขาหนึ่งคนขึ้นไปด้วย ความสำเร็จอย่างงดงามในการปีนเขาของ ไรน์โฮลด์็ ยังได้ทำลายความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า มนุษย์มีขีดจำกัด ที่จะไม่สามารถหายใจด้วยตัวเอง ที่ความสูงเกินระดับ 7,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และทำให้เขาเปรียบเหมือน มือสังหาร ที่เข่นฆ่า "ความเป็นไปไม่ได้" และกลบฝังพวกมันให้จมดิน

ช่วงท้ายของชีวิตในวัยกว่า 60 ปี ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ ทุ่มเทสร้างพิพิธภัณฑ์ภูเขาขึ้น 5 แห่ง แห่งสุดท้ายคือ ภูเขาไกรลาส ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับ พิพิธภัณฑ์อีกสี่แห่งที่สร้างขึ้นก่อนหน้า จะรวมกันเป็น พิพิธภัณฑ์ภูเขาของเมสเนอร์ (Messner Mountain Museum , MMM) ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด "เมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับภูเขา" เขาเห็นว่า พิพิธภัณฑ์ทั้งหมดนี้ ประกอบไปด้วยสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อ การทดสอบ ขีดจำกัดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบาก ความพยายามจนสุดกำลัง และการอยู่ในสภาพอากาศอันเลวร้าย


ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ มีแนวคิดมุ่งมั่นที่จะเอาชนะขีดจำกัดของตนเอง ซึ่งเป็นหลักปรัชญาเบื้องหลังความสำเร็จของเขา โดยได้กล่าวไว้ว่า

" หากเราทำถนนขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ เราจะไม่มีวันได้พบกับภูเขา หากเราเตรียมการทุกอย่างและมีคนนำทางคอยดูแลความปลอดภัย เราก็จะไม่มีวันได้พบกับภูเขา การได้พบและเป็นหนึ่งเดียวกับภูเขาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณ... เผชิญหน้ากับมันด้วยขีดจำกัดของตัวคุณเอง "

รายนามผู้พิชิตยอดเขาสูงเกิน 8,000 เมตรครบทั้ง 14 แห่ง[แก้]

  1. ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ (Reinhold Messner) ชาวอิตาลี ระหว่างปี ค.ศ. 1970-1986
  2. Jerzy Kukuczka ชาวโปแลนด์ ระหว่างปี ค.ศ. 1979-1987
  3. Erhard Loretan ชาวสวิส ระหว่างปี ค.ศ. 1982-1995
  4. Carlos Carsolio ชาวเม็กซิโก ระหว่างปี ค.ศ. 1985-1996
  5. Krzysztof Wielicki ชาวโปแลนด์ ระหว่างปี ค.ศ. 1980-1996
  6. Juanito Oiarzabal ชาวสเปน ระหว่างปี ค.ศ. 1985-1999
  7. Sergio Martini ชาวอิตาลี ระหว่างปี ค.ศ. 1976-2000
  8. Hong-Gil Um ชาวเกาหลีใต้ ระหว่างปี ค.ศ. 1988-2000
  9. Park Young Seok ชาวเกาหลีใต้ ระหว่างปี ค.ศ. 1993-2001
  10. Alberto Inurrategi ชาวสเปน ระหว่างปี ค.ศ. 1991-2002
  11. Han Wang Yong ชาวเกาหลีใต้ ระหว่างปี ค.ศ. 1994-2003
  12. Ed Viesturs ชาวสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ. 1989-2005
  13. Alan Hinkes ชาวอังกฤษ ระหว่างปี ค.ศ. 1987-2005
  14. Silvio Mondinelli ชาวอิตาลี ระหว่างปี ค.ศ. 1993-2007

ดูเพิ่ม[แก้]