ไขแสง สุกใส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไขแสง สุกใส
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด10 กันยายน พ.ศ. 2472
เสียชีวิต20 มีนาคม พ.ศ. 2543 (69 ปี)
พรรคการเมืองพรรคประชาชน

ไขแสง สุกใส (10 กันยายน พ.ศ. 2472 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2543) เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม 3 สมัย อดีตคนเดือนตุลา เจ้าของวลีการเมือง “คิดอะไรคิดเถิด อย่าคิดคด คดอะไรคดเถิด อย่าคดมิตร”[1] และอดีตรองหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

ไขแสง สุกใส เกิดที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2472 บิดาชื่อทิม สุกใส บิดามีอาชีพเป็นทนาย สืบเชื้อสายเจ้าราชบุตร มารดาชื่อแพงพันธ์ (สกุลเดิม ชัยนาม) ไขแสง เริ่มทำงานการเมืองเมื่ออายุได้ 22 ปี ในปี พ.ศ. 2493 เขาได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองนครพนม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2497 เขาถูกจับในข้อหากบฏภายในภายนอกราชอาณาจักร และมีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ ติดคุกด้วยคดีการเมืองอยู่ประมาณ 3 ปี เพราะในปี 2500 รัฐบาลจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จึงมีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง

แต่อีกปีต่อมาหลังจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ที่เรียกว่า “ปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2501” ได้มีการกวาดล้างนักการเมืองฝ่ายซ้าย ทำให้ไขแสงถูกจับเข้าคุกอีกครั้ง จนจอมพล สฤษดิ์ เสียชีวิตแล้วจึงได้ออกจากคุกในปี พ.ศ. 2508 สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร

ไขแสง เริ่มทำงานการเมืองระดับชาติ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2512 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาชน ของเลียง ไชยกาล

ในเหตุการณ์ 14 ตุลา เขาถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เช่น ประตูน้ำ สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยอ้างถึงใจความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ส่งถึงรัฐบาลเกี่ยวกับสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติ[2] โดยบุคคลทั้ง 13 ที่ถูกจับกุม ถูกเรียกขานว่าเป็น "13 ขบถรัฐธรรมนูญ"[3] เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจครั้งใหญ่แก่มวลนักศึกษาและประชาชนอย่างมาก นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเมืองหลังเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” นักการเมืองรวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองใหม่ ทั้งพรรคฝ่ายซ้ายและพรรคฝ่ายขวา ไขแสงได้เข้าร่วมกับพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยและได้เป็น “รองประธานพรรค” หรือตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค[4] ตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง เขาลงเลือกตั้งอีกที่จังหวัดนครพนมและชนะเลือกตั้ง แต่เมื่อเหตุการณ์ร้ายแรง “6 ตุลาคม 2519” เกิดขึ้น ไขแสงก็เหมือนนักการเมืองและนักศึกษาที่ถูกหมายหัวหลายคนที่ต้องหลบเข้าป่า เข้าป่าคราวนี้ ไขแสงได้แต่งงานกับสตรีร่วมอุดมการณ์ คือ บุดดา กันยาเหมา ในปี 2520 ต่อมาไขแสงได้ออกจากป่าและลี้ภัยไปอยู่จีน และเดินทางกลับไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2529 ไขแสงยังกลับมาลงเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์และชนะเลือกตั้งที่นครพนม ต่อมาเขาและสมาชิกกลุ่ม 10 มกรา[5] ได้ย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์และตั้งพรรคประชาชน แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี พ.ศ. 2531 เขาแพ้ จากนั้นเขาจึงยุติบทบาททางการเมืองก่อนเกษียณอายุ

ไขแสง ถึงแก่กรรมในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2543

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 'จาตุรนต์' ชี้ การเมืองไทยย้อนยุคตามแผน คสช.-'วีระกานต์'ลั่น กกต. ต้องติดคุก
  2. บันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
  3. บันทึกความทรงจำ 14 ตุลา
  4. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งพรรคการเมือง เก็บถาวร 2011-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 193 วันที่ 18 กันยายน 2517
  5. บทเรียนสอนไม่จำ 32ปี กลุ่ม "10 มกรา" คนประชาธิปัตย์ ซ้ำรอยเสี้ยมกันเอง
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๒๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒๗๙, ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙