โลมาหลังโหนก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โลมาหลังโหนก
ขณะกระโดดขึ้นเหนือน้ำในทะเล
ขนาดเมื่อเทียบกับมนุษย์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Cetacea
วงศ์: Delphinidae
สกุล: Sousa
สปีชีส์: S.  chinensis
ชื่อทวินาม
Sousa chinensis
(Osbeck, 1765)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ (สีน้ำเงิน)
ชื่อพ้อง[2]
  • Sousa borneensis (Lydekker, 1901)
  • Sousa huangi Wang Peilie, 1999
  • Steno lentiginosus Gray, 1866
  • Stenopontistes zambezicus Miranda Ribiero, 1936
  • Delphinus chinensis Osbeck, 1765
  • Delphinus sinensis Desmarest, 1822
  • Delphinus lentiginosus Owen, 1866
  • Steno chinensis (Osbeck, 1765)
  • Sotalia borneensis Lydekker, 1901

โลมาหลังโหนก หรือ โลมาขาวเทา[3] หรือ โลมาเผือก หรือ โลมาสีชมพู[4] (อังกฤษ: Chinese white dolphin, Pacific humpback dolphin, Indo-Pacific humpbacked dolphin; ชื่อวิทยาศาสตร์: Sousa chinensis[2]; จีน: 中華白海豚; พินอิน: Zhōnghuá bái hǎitún) เป็นโลมาชนิดหนึ่ง ในวงศ์โลมามหาสมุทร (Delphinidae)

มีลักษณะทั่วไป คือ มีจะงอยปากยาวโค้งเล็กน้อยที่เด่นชัดคือส่วนของฐานครีบหลังจะเป็นสันนูนสูงรองรับครีบหลังสีลำตัวจะมีการผันแปรต่างกันมาก ตัวเล็กจะมีสีจางจนเหมือนเผือก แม้บางตัวก็มีสีออกขาว หรืออย่างน้อยขาวในบางส่วน หรือสีชมพู ซึ่งสีเหล่านี้ไม่ได้มาจากเม็ดสี แต่เป็นสีของหลอดเลือดที่ช่วยให้ไม่ให้อุณหภูมิร่างกายสูงจนเกินไป และมีส่วนหลังที่เป็นสันนูนเหมือนโหนก อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ[4]

ขนาดโตเต็มที่ ตัวผู้ยาวประมาณ 3.2 เมตร ขณะที่ตัวเมียยาว 2.5 เมตร และลูกแรกเกิดยาวประมาณ 1 เมตร มีอายุโดยเฉลี่ย 40 ปี โลมาหลังโหนกเมื่ออายุมากขึ้นสีชมพูตามตัวจะยิ่งเข้มขึ้น และส่วนด้านท้องและด้านล่างลำตัวจะเป็นจุด และมีสีที่สว่างกว่าลำตัวด้านบน [5] [4]

กระจายพันธุ์ตามแถบชายฝั่งหรือแหล่งน้ำตื้นที่มีความลึกไม่เกิน 20 เมตร บริเวณอินโดแปซิฟิก พบมากที่สุด คือ อ่าวรีพัลส์ หรือเกาะลันเตา ที่ฮ่องกง ที่มีจำนวนประชากรในฝูงนับร้อย โดยมากชายฝั่งทะเลที่โลมาหลังโหนกอาศัยอยู่นั้นมักจะมีป่าชายเลนอยู่ด้วยเสมอ ๆ แต่จะต้องอยู่ในบริเวณน้ำตื้นเท่านั้น มีอุปนิสัยอาศัยประจำที่หรือมีการย้ายที่อพยพน้อยมากและอาศัยไม่ห่างจากชายฝั่งเกินระยะ 1 กิโลเมตร จึงพบเห็นตัวได้โดยง่าย โดยมักจะพบเห็นตั้งแต่ตอนเช้า จะอยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 10 ตัว ว่ายน้ำช้า ประมาณ 4.8 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจะดำน้ำประมาณ 40-60 วินาที ก่อนจะโผล่ขึ้นมาหายใจ[4]

กินปลาทั้งตามชายฝั่งและในแนวปะการังเป็นอาหารหลัก รวมทั้งหมึก, กุ้ง, ปู ออกหาอาหารเป็นฝูง โดยใช้คลื่นเสียง เป็นโลมาอีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาฝึกกันตามสวนน้ำหรือสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ในประเทศไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน [5] [6]

รูปภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Reeves, R.R., Dalebout, M.L., Jefferson, T.A., Karczmarski, L., Laidre, K., O’Corry-Crowe, G., Rojas-Bracho, L., Secchi, E.R., Slooten, E., Smith, B.D., Wang, J.Y. & Zhou, K. (2008). Sousa chinensis. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 24 March 2009.
  2. 2.0 2.1 จาก itis.gov
  3. โลมา ๒ น.ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "โลมาสีชมพู พระเอกแห่งทะเลขนอม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-14. สืบค้นเมื่อ 2012-12-11.
  5. 5.0 5.1 โลมาเผือก, หลังโหนก
  6. กฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์ โลมาและปลาวาฬ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Sousa chinensis ที่วิกิสปีชีส์