โรงเรียนกวดวิชาในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงเรียนกวดวิชาในประเทศไทย คือ โรงเรียนกวดวิชาต่าง ๆ โดยมากแล้วมีเป้าหมายเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ก็มีการกวดวิชาในลักษณะอื่น ๆ อย่าง โรงเรียนกวดวิชา สอบเป็นปลัดอำเภอ สอบเป็นผู้สอบบัญชี สอบเข้าเป็นพลตำรวจ เป็นนายร้อย แอร์โฮสเตส สอบโทเฟล เป็นต้น

ประวัติ[แก้]

การกวดวิชามีลักษณะการเรียนพิเศษตามบ้าน สันนิษฐานว่า เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5[1] ยังพบบันทึกว่ามีการกวดวิชาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยชาวจีนที่มีฐานะดีได้จ้างครูจีนมาสอนภาษาจีนให้แก่บุคคลที่จะไปศึกษาต่อในประเทศจีน[2] และจากในเอกสารโครงการวิจัยโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุถึง "โรงเรียนกลางคืน" ในสมัยรัชกาลที่ 6 เปิดสอนในเวลาหนึ่งทุ่มจนถึงสามทุ่ม ส่วนใหญ่เปิดสอนภาษาอังกฤษ นักเรียนที่มาเรียนเพื่อเตรียมตัวสอบชิงทุนคิง (King’s Scholarship) เพื่อไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ

ในหนังสือ ประวัติการศึกษาไทย โดย ดวงเดือน พิศาลบุตร (2512) อธิบายถึงกวดวิชาในยุคแรกของไทยว่า "การเรียนการสอนเป็นไปตามความสมัครใจของผู้เรียน และครูไม่คิดค่าสอนในตอนแรก แต่ในระยะต่อมาเริ่มมีการจ่ายค่าจ้างในการสอน ดังเช่นการเรียนการสอนของลูกคนจีนซึ่งจ้างครูมาสอนที่บ้านเดือนละ 8 ดอลลาร์ จึงนับได้ว่าการเรียนการสอน" จุดกำเนิดของการกวดวิชาในยุคแรกคือมาจากความต้องการของบุคคล[1] จนโรงเรียนกวดวิชามีหลักฐานชัดเจนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2497 มีระบุไว้ใน พ.ร.บ.โรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2497 มาตรา 20(5) ให้มีโรงเรียนกวดวิชา จัดเป็นโรงเรียนเอกชนประเภทการศึกษาพิเศษ จนโรงเรียนกวดวิชาได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในช่วงปี 2520–2530 ซึ่งมีการแข่งขันสูงในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ต่อมาการกวดวิชาขยายวงกว้างมากขึ้นและส่งผลต่อการเรียนในโรงเรียนปกติ เด็กในปีสุดท้ายก่อนเอนทรานซ์ไม่สนใจการเรียนในชั้นปกติ และทำให้ครูในโรงเรียนเริ่มสอนในแนวกวดวิชามากขึ้น

ปี 2534 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติหลักการให้เปิดโรงเรียนกวดวิชาได้แต่อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่รัดกุมทั้งสถานที่ ผู้บริหาร อาคาร ฯลฯ ในช่วงปี พ.ศ. 2539 โรงเรียนกวดวิชาเคมีอาจารย์อุ๊ ที่ขณะนั้นมีสาขาเดียวที่สะพานควาย เกิดเหตุชุลมุน ผู้ปกครองมาต่อแย่งคิวให้บุตร จนตำรวจต้องมาระงับเหตุวุ่นวาย จากเหตุการณ์นี้เป็นต้นกำเนิดของการนำวิดีโอหรือดีวีดีมาเปิดสอนแทนครูในโรงเรียนกวดวิชาแทบทุกแห่งในปัจจุบัน หลังวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 สยามสแควร์เริ่มเป็นแหล่งของโรงเรียนกวดวิชา เนื่องจากร้านค้าในสยามสแควร์เริ่มปิดตัวลง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของที่ ได้ลดราคาค่าเช่า กลุ่มโรงเรียนกวดวิชาที่เดิมมักอยู่ใกล้กับห้างสรรพสินค้า ชุมชน และใกล้โรงเรียนดัง ๆ จึงเริ่มเข้ามามากขึ้น[3] ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 มีโครงการอาคารวรรณสรณ์ ตั้งอยูริมถนนพญาไท ถือเป็นโครงการแรกของประเทศด้วยที่โรงเรียนกวดวิชากว่า 20 สถาบันมารวมตัวกัน[1]

จากนั้นในปี พ.ศ. 2542 ผู้กวดวิชาเริ่มเพิ่มมากขึ้นหลังหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 กระทั่งปลายเดือนมกราคม 2544 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนจึงได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชนประเภทโรงเรียนกวดวิชาฉบับใหม่ขึ้น ที่มีมาตรการเชิงความปลอดภัยและคุณภาพสมบูรณ์ขึ้น[2] ภายหลังที่เปลี่ยนรูปแบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย เป็นระบบแอดมิชชั่น ได้ส่งผลให้โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังหันมาปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับระบบ โดยครอบคลุมทั้งวิชาสามัญทั่วไป การสอบความถนัดทั่วไป (GAT: General Aptitude Test) การสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT: Professional and Academic Aptitude Test) รวมถึงวิชาเฉพาะ เช่น วิชาเฉพาะแพทย์ วิชาความถนัดทางสถาปัตยกรรม และความถนัดทางภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส เป็นต้น[4]

ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา[แก้]

จากข้อมูลปี พ.ศ. 2561 มูลค่าตลาดของโรงเรียนกวดวิชา มีราว 8,000 ล้านบาท แม้ธุรกิจกวดวิชาเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2555 ที่มีโรงเรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้นมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดเริ่มชะลอตัว[5] จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในปี 2560 กลุ่มธุรกิจสถาบันกวดวิชามีรายได้รวมกันประมาณ 2,653 ล้านบาท โดยบริษัทที่มีรายได้สูงสุดคือ We by The Brain[6]

สถาบันกวดวิชาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาส่วนใหญ่จะแยกสอนสถาบันละวิชาเดียวเท่านั้น เช่น เอ็นคอนเซ็ปต์ สอนเฉพาะภาษาอังกฤษ, เคมี อาจารย์อุ๊ สอนเฉพาะวิชาเคมี, แอพพลายด์ฟิสิกส์ สอนเฉพาะฟิสิกส์ และมีเพียงบางสถาบันเท่านั้นที่สอนหลายวิชา เช่น ดาว้องก์ วิชาภาษาไทย, สังคมศึกษาและ ภาษาบาลี โดย อาจารย์ปิง ,เดอะติวเตอร์,เดอะเบรน (ปัจจุบัน คือ We by The Brain)[7]

เหตุผลมากที่สุดที่นักเรียนเข้ารับการกวดวิชาคือเพื่อเพิ่มความเข้าใจในบทเรียนของพวกเขา เหตุผลรองของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นคือเพื่อต้องการทราบถึงเทคนิคที่ช่วยให้คิดเร็วขึ้น ในขณะที่เหตุผลรองของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายคือเพื่อเตรียมตัวให้ผ่านการสอบ วิชาที่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นกวดวิชามากที่สุดคือคณิตศาสตร์ และสำหรับมัธยมศึกษาตอนปลายคือภาษาอังกฤษ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหลักสูตรอยู่ที่ประมาณ 2,001–3,000 บาท[8]

ประเภท[แก้]

การกำหนดประเภทและลักษณะของโรงเรียน การจัดการเรียนการสอน และหลักสูตรของโรงเรียนนอกระบบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 กำหนดประเภทและลักษณะของโรงเรียนนอกระบบไว้ 7 ประเภท คือ ประเภทสอนศาสนา, ประเภทศิลปะและกีฬา, ประเภทวิชาชีพ, ประเภทกวดวิชา, ประเภทสร้างเสริมทักษะชีวิต, ประเภทศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา), ประเภทสถาบันศึกษาปอเนาะ[9]

ในปัจจุบันสถาบันกวดวิชามีการสอนทุกวิชาและทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงระดับมหาวิทยาลัย และวัยทำงาน[10] จากข้อมูลปี พ.ศ. 2560 มีโรงเรียนกวดวิชาทั่วประเทศทั้งหมด 2,422 โรง ที่มีใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ โดยในกรุงเทพมหานคร 626 โรง และต่างจังหวัด 1,796 โรง[11] นอกจากนั้นยังมีโรงเรียนกวดวิชาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร มีอยู่เฉลี่ย 3-5 แห่งต่อจังหวัด โรงเรียนประเภทนี้ มี 3 แบบ คือ เรียนแบบระยะสั้น 3-4 เดือน เรียนแบบรายชั่วโมง และ เรียนแบบกินนอนเป็นปี ยึดตามการเรียนการสอนระดับตั้งแต่ ม.3−ม.5 มีวิชาเน้นวิทยาศาสตร์ อาทิ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ รวมถึงการฝึกบริบทเตรียมตัวเข้าไปเป็นทหาร[12]

สมุดภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 สุวรรณา เปรมโสตร์ (1 พฤศจิกายน 2551). "โรงเรียนกวดวิชา ปัจจัยที่ห้าของครอบครัวยุคใหม่". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  2. 2.0 2.1 "เบื้องหลังเงินกวดวิชา 2,500 ล้าน : ภาพสะท้อนความอ่อนล้าระบบการศึกษาไทย". ผู้จัดการออนไลน์. 11 มิถุนายน 2547. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. "ร.ร.กวดวิชา-ลมหายใจสยามฯ". โพซิชันนิงแมก. 5 ตุลาคม 2550. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  4. "ตลาดกวดวิชายังคงเติบโต : จับตา ทางเลือกกว้างขึ้นของนักเรียน และสินค้าติวเข้ามหาวิทยาลัย เป็นปัจจัยท้าทาย". โพซิชันนิงแม็ก. 26 สิงหาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  5. ""เอ็นคอนเส็ปท์"ดัน5แผนการตลาดสู้กวดวิชาขาลง". คมชัดลึก. 4 มีนาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  6. "กรณีศึกษา โมเดลธุรกิจ กวดวิชา". 1 ตุลาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  7. ""เด็กไทย" เมื่อมูลค่ามาก่อนคุณค่า กวดวิชา ตลาดชอปปิ้งทางการเรียน". ผู้จัดการ. 12 มกราคม 2548. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-06. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  8. Napompech, Kulkanya (2011), "What Factors Influence High School Students in Choosing Cram School in Thailand" (PDF), 2011 International Conference on Business and Economics Research, IACSIT Press, Singapore: IPEDR, 16: 90–95, doi:10.7763/IPEDR, ISSN 2010-4626, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-11-23, สืบค้นเมื่อ 2020-01-15
  9. "7 ประเภทของ รร.เอกชนนอกระบบ". ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวง. 11 ธันวาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  10. ""กวดวิชา"หั่นราคารับเปิดเทอม ติวเตอร์ดังเอาด้วย-ดึงเด็กเต็มคลาส". ประชาชาติธุรกิจ. 4 กันยายน 2562. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  11. "เดี่ยวนี้มีติวเตอร์-กวดวิชากันทางออนไลน์". คมชัดลึก. 6 พฤศจิกายน 2560. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  12. "ส่อง ร.ร.กวดวิชาทหาร ใช้ช่องโหว่ ก.ม.เปิดเกลื่อน". ไทยรัฐ. 24 มิถุนายน 2562. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)