โบเก้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพถ่ายโบเก้ที่สวนโทกุงาวะในนาโงยะ F1.8

โบเกะ (ญี่ปุ่น: ボケโรมาจิboke) หรือนิยมเรียกว่า โบเก้ ในการถ่ายภาพคือลักษณะรูปแบบการถ่ายภาพแบบหนึ่งซึ่งมีพื้นที่เบลอในส่วนที่อยู่นอกบริเวณในโฟกัสของเลนส์ (นอกช่วงความชัด) โดยอาจเกิดขึ้นอย่างจงใจเพื่อต้องการเน้นส่วนที่ต้องการโฟกัส

คำว่า "โบเกะ" มาจากภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่า "เบลอ" หรือ "เลอะเลือน" แต่ถูกนำไปใช้ทับศัพท์ในภาษาอื่น ๆ เพื่อใช้เรียกรูปแบบการถ่ายภาพให้เบลอ ๆ แบบนี้ด้วย สำหรับในภาษาที่ใช้อักษรละตินจะเขียนเป็น bokeh (ไม่ได้เขียนเป็น boke ตามหลักการเขียนโรมาจิทั่วไป)

โบเก้มีความหมายในทำนองเดียวกับคำว่า โฟกัสชัดตื้น (shallow focus) และในทางตรงกันข้าม ภาพถ่ายที่มีการโฟกัสให้ชัดหมดทั้งหน้าจอจะเรียกว่า โฟกัสชัดลึก (deep focus หรือ pan focus)

หลักการ[แก้]

  • เมื่อทำการถ่ายภาพ ส่วนที่อยู่นอกโฟกัสจะเกิดวงความพร่าขนาดใหญ่ขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดภาพโบเก้[1][2][3]
  • การทำภาพโบเก้มีผลในการเน้นส่วนส่วนหลักที่ต้องการให้ผู้ดูภาพสนใจ ตัวอย่างเช่น ในภาพถ่าย ด้านบน มีเพียงหญิงสาวเท่านั้นที่อยู่ในโฟกัส ส่วนพื้นหลังจะเบลอ ๆ เห็นไม่ชัด แต่ในภาพนี้ผู้ชมส่วนใหญ่จะไม่สนใจพื้นหลัง นี่เป็นเพราะปัจจัยทางจิตวิทยาซึ่งทำให้สายตาของผู้ชมหันเหความสนใจจากวัตถุภายนอกในภาพถ่าย
  • นอกจากนี้ การแสดงภาพโบเก้ยังให้ความรู้สึกที่นุ่มนวล จุดประสงค์อย่างหนึ่งของการใช้ภาพเบลอ ๆ สำหรับดอกไม้ สัตว์ เด็ก หญิงสาว ฯลฯ คือต้องการสร้างความรู้สึกที่นุ่มนวล
  • เมื่อแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุดถูกทำให้เบลอด้วยแสงจากด้านหลัง จะเกิดภาพโบเก้เป็นวงขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับเลนส์ที่ใช้

วิธีการทำภาพโบเก้[แก้]

โบเก้ที่ถ่ายด้วยความยาวโฟกัส 300 มม. F4 เลนส์ถ่ายไกล
ตัวอย่างโบเก้เมื่อใช้เลนส์มหัพภาค (ความยาวโฟกัส 105 มม. F3.3)
การใช้เลนส์ถ่ายไกลพิเศษ เพื่อถ่ายภาพวัตถุในระยะใกล้ และการเพิ่มระยะห่างระหว่างฉากหลังกับวัตถุ จะทำให้เค้าโครงของฉากหลังเบลออย่างสมบูรณ์ ในตัวอย่างนี้ ความยาวโฟกัส 600 มม. และพื้นหลังด้านบนเป็นต้นไม้ในสวนด้านล่างเป็นคอนกรีต

มีสามวิธีหลักในการสร้างโบเก้

  1. ถ้าเปิดรูรับแสงให้กว้าง (ลดค่าเอฟ) ช่วงความชัดจะตื้นขึ้น และด้านหน้าและด้านหลังของขอบเขตที่โฟกัสก็จะพร่ามัว ยิ่งค่าเอฟน้อยก็จะเกิดโบเก้มาก แต่ก็จะเกิดความคลาดได้ง่ายมากขึ้นจึงไม่ควรเปิดกว้างมากไป
  2. ถ้าใช้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสยาว (เช่น เลนส์ถ่ายไกล) จะทำให้ช่วงความชัดตื้น และสร้างภาพโบเก้ได้ง่าย เช่นในรูปดอกไม้ด้านขวา วิธีนี้อาจใช้กับการถ่ายภาพบุคคล ช่วงความชัดไม่ได้ขึ้นอยู่กับมุมรับภาพ แต่ขึ้นอยู่กับความยาวโฟกัส ดังนั้นในเลนส์ที่มีมุมรับภาพเท่ากัน ยิ่งขนาดวัตถุขึ้น ก็จะเกิดภาพโบเก้ได้ง่ายขึ้น
  3. ยิ่งถ่ายภาพเข้าใกล้วัตถุมากเท่าไหร่ ฉากหลังก็ยิ่งเบลอมากขึ้นเท่านั้น วิธีนี้ถูกนำมาใช้เช่นในการถ่ายภาพดอกไม้ การใช้เลนส์มหัพภาค หรือ กระบอกต่อ ก็มีประสิทธิภาพเช่นกัน และเมื่อใช้ร่วมกับรูรับแสงที่กว้าง ก็จะสามารถสร้างภาพที่สวยงามได้

อนึ่ง ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ช่วงความชัดจะตื้นขึ้นเมื่อใช้เลนส์ถ่ายไกล แต่ช่วงความชัดก็จะลึกขึ้นเมื่อถอยห่างจากวัตถุ ผลก็คือ ถ้าวัตถุเดียวกันถูกถ่ายด้วยขนาดภาพเท่ากัน โบเก้จะเกือบจะเท่ากันไม่ว่าจะใช้เลนส์ความยาวโฟกัสเท่าใดก็ตาม เหตุผลที่มักใช้เลนส์ความยาวโฟกัสยาวเมื่อจะสร้างภาพโบเก้นั้นคือเพื่อปรับมุมรับภาพให้แคบลงและจัดระเบียบฉากหลัง

โบเก้แบบต่าง ๆ[แก้]

รูปแบบภาพโบเก้สามารถจำแนกได้หลายประเภท ดังนี้

หน้าชัดหลังเบลอ[แก้]

นี่คือวิธีการทำให้ตัววัตถุหลักโดดเด่นโดยการทำให้พื้นหลังเบลอ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเทคนิคที่ใช้มากที่สุด รวมถึงการถ่ายภาพบุคคลด้วย ภาพถ่ายดอกไม้ 3 ภาพด้านบน รวมถึงภาพถ่ายผู้หญิงด้านบนสุดนั้นล้วนเป็นตัวอย่างทั่วไปของหน้าชัดหลังเบลอ

หน้าเบลอหลังชัด[แก้]

ตัวอย่างหน้าเบลอหลังชัด ความยาวโฟกัส 50 มม. F1.4

เป็นวิธีการแสดงออกที่ทำให้สิ่งที่อยู่ด้านหน้าตัววัตถุหลักเบลอ ใช้สำหรับเน้นทัศนมิติ หรือแสดงการกระจุกตัวหรือความหนาแน่นของสวนดอกไม้หรือฝูงชน และสร้างบรรยากาศที่ดูนุ่มนวล

หน้าเบลอหลังเบลอ[แก้]

เป็นการเบลอทั้งวัตถุที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังวัตถุหลัก มักจะพบได้ในการถ่ายภาพขยาย ใช้เพื่อเน้นวัตถุหรือสร้างบรรยากาศชวนฝัน

เบลอตัววัตถุ[แก้]

ตัวอย่างภาพที่เบลอตัววัตถุหลัก โดยให้กิ่งก้านของต้นไม้ด้านหน้าอยู่ในโฟกัส และตัววัตถุหลักอยู่ในสถานะกึ่งโบเก้ รูรับแสง F8

เป็นวิธีการแสดงออกซึ่งให้ตัวแบบหลักเบลอและให้สิ่งรอบข้างเข้ามาอยู่ในโฟกัส มีผลให้ได้ภาพที่ดูเก่าโบราณ

โบเก้จากเลนส์ถ่ายไกลแบบกระจกเงารวม

อุปกรณ์[แก้]

ความแตกต่างของโบเก้ในเลนส์แต่ละแบบ[แก้]

โบเก้รูปวงแหวนจากเลนส์กระจกเงารวม

ลักษณะของโบเก้ที่ได้อาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเลนส์ถ่ายภาพที่ใช้ แม้ว่าการตั้งค่าขณะถ่ายภาพจะเหมือนกันก็ตาม[4]

ภาพโบเก้จะมีลักษณะอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าภาพจุดใดจุดหนึ่งของวัตถุที่ตำแหน่งนอกโฟกัสถูกฉายลงบนฟิล์มหรือเซนเซอร์รูปภาพอย่างไร ภาพที่หลุดโฟกัสจะแตกต่างกันไปอย่างมากขึ้นอยู่กับการออกแบบของเลนส์ และยังอาจถูกมองว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัวของเลนส์อีกด้วย

หากภาพที่จุดหนึ่ง ๆ ไม่ถูกถ่ายโอนไปยังภาพที่มีการกระจายอย่างนุ่มนวล วัตถุรูปทรงแท่งจะแตกออกเป็นสองส่วน หรือภาพเบลอหลายภาพที่มีสภาพโบเก้ต่างกันก็จะทับซ้อนกันและดูเหมือนผีหลอก ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่สามารถรับรู้ได้ง่ายนัก ถ้าไม่ถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูงแล้วนำมาขยาย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากให้ความรู้สึกเทอะทะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการถ่ายภาพศิลปะ แม้ว่าจะพิมพ์ออกมาด้วยความละเอียดค่อนข้างต่ำ ก็ส่งผลทางจิตใจต่อผู้ชม เลนส์ดังกล่าวมักจะถือว่ามีโบเก้ที่ไม่ดี

โดยทั่วไป เป็นเรื่องยากที่จะได้โบเก้ที่ดีด้วย เลนส์ซูม และบางคนไม่ชอบปรากฏการณ์ดังที่กล่าวถึงข้างต้น จึงยึดติดกับเลนส์ที่ความยาวโฟกัสคงที่

เลนส์บางชนิดอาจทำให้เกิดการบิดเบี้ยวตามแนวเส้นรอบวงในฉากหลัง เรียกว่าเกิดความคลาดเอียง ปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อถ่ายภาพด้วยตำแหน่งความยาวโฟกัสของเลนส์ที่ระยะห่างสั้นที่สุดหรือค่าเอฟสูงสุด

ตัวอย่างของการได้ภาพเบลอที่เป็นเอกลักษณ์เช่นในระบบเลนส์กระจกเงารวม เนื่องจากภาพจุดสะท้อนรูปร่างของตัวสะท้อนแสงและกลายเป็นรูปร่างวงแหวนที่ชัดเจน จึงสามารถสร้างโบเก้รูปวงแหวนได้

โบเก้ในกล้องดิจิทัล[แก้]

ด้วยเหตุผลทางด้านทัศนศาสตร์ รูปแบบการถ่ายภาพและปริมาณโบเก้มีความสัมพันธ์กัน เมื่อพยายามถ่ายภาพด้วยมุมรับภาพเดียวกันและความสว่างเท่าเดิม ยิ่งขอบเขตมีขนาดเล็กลง ช่วงความชัดของฉากก็จะยิ่งมากขึ้น และโบเก้ก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น

แม้แต่ในกล้องดิจิทัล เช่น กล้องคอมแพค ที่มีเลนส์ในตัวก็มักใช้องค์ประกอบภาพที่เล็กกว่ารูปแบบไลก้ามาก และโบเก้ที่ได้จากกล้องดังกล่าวก็จะค่อนข้างเล็ก นอกจากนี้ สำหรับกล้องแบบเปลี่ยนเลนส์ได้ แม้ว่าจะใช้ฐานสวมเลนส์เหมือนกัน ขนาดของเซนเซอร์รูปภาพก็อาจแตกต่างกัน (เช่นขนาดเต็มรูปแบบไลก้า จะต่างจาก APS-C เป็นต้น) ขึ้นอยู่กับขนาดของอุปกรณ์ถ่ายภาพ ทำให้โบเก้ที่ได้ก็ต่างกันไปด้วย

เนื่องจากกล้องดิจิทัลมีจอภาพแบบไลฟ์วิวซึ่งแตกต่างจากกล้องฟิล์ม ดังนั้นจึงค่อนข้างง่ายที่จะตรวจสอบโบเก้ในทันที ทำให้ปรับปริมาณโบเก้ได้ง่ายขึ้น ในขณะที่โดยทั่วไปคือใช้ช่องมองภาพแบบดั้งเดิมของกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวหรือกล้องคอมแพคแบบฟิล์มนั้นจะทำการตรวจสอบระดับโบเก้ให้ดีได้ยาก

อุปกรณ์เฉพาะ[แก้]

มีเลนส์ SFT ซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับภาพโบเก้ที่นุ่มนวล นอกจากนี้ยังมีเลนส์และกล้องที่ใช้แผ่นช่องรับแสงที่เป็นวงกลมสมบูรณ์แบบ เช่น Minolta TC-1 สำหรับภาพโบเก้

อ้างอิง[แก้]

  1. Gerry Kopelow (1998). How to photograph buildings and interiors (2nd ed.). Princeton Architectural Press. pp. 118–119. ISBN 978-1-56898-097-3. bokeh focus.
  2. Roger Hicks and Christopher Nisperos (2000). Hollywood Portraits: Classic Shots and How to Take Them. Amphoto Books. p. 132. ISBN 978-0-8174-4020-6.
  3. Tom Ang (2002). Dictionary of Photography and Digital Imaging: The Essential Reference for the Modern Photographer. Watson–Guptill. ISBN 0-8174-3789-4.
  4. Harold Davis (2008). Practical Artistry: Light & Exposure for Digital Photographers. O'Reilly Media. p. 62. ISBN 978-0-596-52988-8.