แสงชัย แหเลิศตระกูล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แสงชัย แหเลิศตระกูล หรือภาษาปากว่า หมอแสง ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดปราจีนบุรี มีชื่อเสียงจากการแจกสมุนไพรซึ่งลือว่ารักษามะเร็งได้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 กรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกออกใบรับรองให้เขาเป็นหมอพื้นบ้าน

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

แสงชัยอาศัยอยู่ในอำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี สำเร็จการศึกษามหาบัณฑิตจากครุศาสตร์ไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สมรสกับภรรยาชื่อ ยุภาพร แหเลิศตระกูล ข้าราชการครู มีธิดา 2 คน คนเล็กเป็นนักร้องลูกทุ่งมีชื่อในวงการว่า "ตาลใจ อาร์สยาม"

สมุนไพร[แก้]

แสงชัยขึ้นชื่อว่าแจกสมุนไพรที่ลือกันว่ามีฤทธิ์รักษาโรคมะเร็ง มีที่มาจากเมื่อตาล ธิดาคนเล็ก เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรคมะเร็งสมอง ได้ทดลองผสมสูตรยาไปใช้กับสุนัขจรจัดแล้วอาการดีขึ้น จึงนำมาใช้กับธิดาของตนก็พบว่าดีขึ้นเช่นกัน แสงชัยให้สัมภาษณ์ว่าแจกสมุนไพรมา 10 กว่าปีแล้ว[1]

แสงชัยผลิตยาได้วันละ 25,000 เม็ด มีส่วนผสมระหว่างรำข้าวนาปีกับสมุนไพรหลายชนิด เช่น ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ รังนก ถั่งเช่า เกสรดอกไม้ นานกว่า 6 เดือนแล้วผสมรำข้าวในเดือนสุดท้าย กินวันละ 1 เม็ดก่อนนอน[1] แสงชัยกล่าวว่า บางคนที่ได้รับยาก็รอดชีวิต มีค่ามะเร็งลดลง แต่บางคนก็เสียชีวิต[1] กำหนดรับยาทุกวันเสาร์และอาทิตย์ของต้นเดือน[2]

แสงชัยกำหนดให้ผู้มารับแจกสมุนไพรต้องมีเอกสารแสดงคำวินิจฉัยโรคมะเร็ง, ใบรับรองแพทย์, ทะเบียนบ้าน, บัตรประชาชนฉบับจริงทั้งหมด ผู้ที่ไปรับแทนผู้ป่วยต้องเป็นพ่อแม่ สามี ภรรยา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเท่านั้น[1] ทั้งนี้ ก่อนรับยา ผู้รับยาต้องไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรีว่าจะไม่เอาผิดกับผู้แจกยา ซึ่งแสงชัยแนะนำว่าควรรักษาควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน[3] ญาติผู้ป่วยมะเร็งคนหนึ่งเล่าว่า ผู้ป่วยกินยาหมอแสงแล้วอาการทรุด และตั้งข้อสังเกตว่า ตำรวจมีผลประโยชน์กับแสงชัยหรือไม่ เพราะมีการเก็บเงินค่าลงบันทึกประจำวัน ซึ่งเมื่อคิดจากจำนวนผู้ป่วยและญาติที่มาลงทะเบียนต่อเดือนแล้ว จะได้เงิน 60,000 บาทต่อเดือน[4]

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเคยมาตรวจสอบสมุนไพรของเขาแล้วยังไม่พบการกระทำผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้มีพฤติกรรมการตรวจรักษา ไม่มีการอ้างว่าสมุนไพรนี้สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายได้จึงไม่เข้าข่ายเป็นยารักษาโรคที่ต้องขึ้นทะเบียน และไม่มีการขาย เรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ต้องไม่มีการโฆษณาเกินจริงว่ารักษามะเร็งได้[3]

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกออกหนังสือรับรองว่าแสงชัยเป็นหมอพื้นบ้านตามระเบียบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่าด้วยการออกหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 ซึ่งกำหนดว่าสามารถดำเนินการได้โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน[2]

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ผู้ป่วยโรคมะเร็งเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนต้นทุนการผลิตสมุนไพรของแสงชัยที่เป็นมูลค่าหลายล้านบาทต่อเดือน กลัวว่าต่างชาติจะซื้อสูตรยาแล้วนำยามาวางขายในราคาแพง[5]

แม่ลูกจันทร์ คอลัมนิสต์ไทยรัฐ เขียนว่า ตนเชื่อว่าผู้ป่วยที่ไปรอรับแจกสมุนไพรของแสงชัยกว่าร้อยละ 90 เคยรับการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่ดีขึ้น การกินยาสมุนไพรเป็นที่พึ่งสุดท้ายก็ไม่เสียหาย แม้ไม่สามารถพิสูจน์คุณสมบัติรักษามะเร็งได้ เพราะผู้ป่วยต้องการกำลังใจ[6]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]