แปดเก้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แปดเก้า เป็นชื่อการพนันประเภทหนึ่งในประเทศไทย จัดเป็นการพนันลำดับที่ 5 ในบัญชี ก (ห้ามเด็ดขาด) ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 บางทีเรียก "หมูต้ม" โดยถ้าเล่นด้วยไพ่จะเรียก "ไพ่แปดเก้า"หรือ "ไพ่ป๊อกแปดเก้า" หรือ "ป๊อกแปดป๊อกเก้า"

อุปกรณ์การเล่น ประกอบด้วย ไพ่สามสิบสองใบ ทำจากไม้งาหรือกระดูกเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบน ๆ แต่ละใบกว้างประมาณหนึ่งนิ้ว และยาวประมาณสามนิ้ว อย่างไรก็ดี ไพ่ทีทำจากไม้หรือกระดูกนี้มักเล่นกันแต่ในหมู่คนจีนเพราะหายาก ส่วนคนไทยมักใช้ไพ่ป๊อกแทน อนึ่ง ในการเล่นบางทีก็ใช้ลูกเต๋าด้วย

ผู้เล่นแต่ละครา มักมีสี่คน ประกอบด้วย เจ้ามือหนึ่งคน และผู้เล่นอื่นอีกสามคน แต่บางทีอาจเล่นกันด้วยจำนวนผู้เล่นอื่นและไม่มีเจ้ามือก็ได้

วิธีเล่น ผู้เล่นทั้งหมดล้อมวงกัน เจ้ามือเอาไพ่คละกัน แล้วคว่ำหน้าซ้อนกันเป็นคู่ ๆ เรียงกันไปสิบหกคู่ จากนั้นเจ้ามือทอดลูกเต๋าทั้งสองลูกเป็นคนแรก เพื่อคัดเลือกว่าลูกค้าคนไหนจะได้หยิบไพ่ก่อน เช่น ลูกเต๋าทอดได้แปดแต้ม ก็ให้คนขวามือของคนทอดเป็นหนึ่งแล้วไล่ไปทั้งสี่คนนั้นจนครบแปด ตกแปดที่ใครคนนั้นก็หยิบไพ่ขึ้นสองใบ คนทางขวาคนคนหยิบไพ่นั้นก็หยิบอีกสองไป คนถัดไปก็หยิบต่อ ๆ กันไปจนครบทุกคน แล้วจึงหงายไพ่ดูกัน

ก่อนทอดลูกเต๋ามีการวางเงินกันก่อน แล้วหงายไพ่ดู ใครได้แต้มสิบเรียก "บอด" ใครได้แต้มเกินสิบให้เอาสิบหักออก เหลือเท่าใดจึงเป็นแต้มที่นับ ใครได้แต้มสูงสุดก็ชนะ ถ้าผู้ชนะเป็นเจ้ามือ เจ้ามือก็กิน ถ้าผู้เล่นชนะ ผู้เล่นก็กินเจ้ามือ ถ้าเล่นไม่มีเจ้ามือ ผู้เล่นทุกคนวางเงิน ใครได้แต้มสูงสุดก็ชนะไป

บางทีมีวิธีเล่นที่พิสดารออกไป เช่น ให้ทุกคนหยิบไพ่คนละสองใบ จนมีคนละสี่ใบ แล้วเลือกแต้มออกมาวางครั้งละสองใบ ใครมากสุดก็ชนะไปในหนนั้นแล้วจำไว้ว่าใครแพ้ใครชนะ แล้วจึงเปิดที่เหลือเพื่อดูว่าหนนี้ใครแพ้ใครชนะ ในสองหนนี้ ใครแพ้ทีชนะทีเรียกว่าเสมอไปในครานี้ แพ้ทั้งสองก็แพ้ไป ถ้าชนะทั้งสองหนจึงเป็นผู้ชนะในครานี้ การเล่นแบบนี้มักมีเจ้ามือ

บางทีเล่นโดยแจกไปให้คนละละสามใบ ใครแต้มสูงกว่าเจ้ามือก็ชนะไป ต่ำกว่าเจ้ามือก็ถูกกิน แต้มที่รวมก็เช่นเดียวกัน คือ สามใบรวมเก้าแต้ม หรือสามใบรวมสิบเก้าแต้มแล้วค่อยเอาสิบหักออกจึงเหลือเก้าแต้มดุจกัน

อ้างอิง[แก้]

  • "การปราบปรามอบายมุขยังคงเดินหน้าต่อไปในวันเดียวกัน ตำรวจกลุ่มงานสืบสวนภูธรจังหวัดเพชรบุรีบุกทลายบ่อนการพนันจับกุมผู้ต้องหา ได้กว่า 30 คนในเขตพื้นที่เมืองเพชรบุรี" (2548, 18 สิงหาคม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 30 มกราคม 2553).
  • รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์. (2519, พฤษภาคม). "การพนัน". วารสารกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, (ฉบับที่ 2). หน้า 75-93.
  • ลิสูตร ธนชัยย์. (2523). คู่มือการพนัน กรุงเทพฯ : สูตรไพศาล.
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2552, 9 เมษายน). พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2017-10-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 1 มกราคม 2556).
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2552, 9 เมษายน). พระราชบัญญัติไพ่ พุทธศักราช 2486. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2022-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 1 มกราคม 2556).
  • สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย. (2549). คู่มือการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน. กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย.
  • สุชาติ นพวรรณ. (ม.ป.ป.). ข้อพิจารณาและแนวทางเกี่ยวกับการพนันในประเทศไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 30 มกราคม 2553).
  • หลวงสุทธิมนต์นฤนาท. (ม.ป.ป.). คำอธิบายในการอบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ 10 เรื่อง การพนันชนิดต่าง ๆ ที่ขึ้นสู่ศาล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 30 มกราคม 2553).
  • อธิคม อินทภูติ. (2524). "กฎหมายเกี่ยวกับการพนันในประเทศไทย : รายงานวิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา 2." วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (ปีที่ 12, ฉบับที่ 2).