แชฮ์เรโนว์

พิกัด: 35°40′18.91″N 51°23′17.56″E / 35.6719194°N 51.3882111°E / 35.6719194; 51.3882111
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แชฮ์เรโนว์ (เปอร์เซีย: شهرنو, อักษรโรมัน: Shahr-e No, แปลตรงตัว'เมืองใหม่') เป็นย่านโคมแดงที่ตั้งอยู่ในบริเวณโกมโรก (گمرک) ทางตะวันตกเฉียงใต้จากใจกลางกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 และถูกทำลายลงใน ค.ศ. 1979 ประมาณว่ามีหญิงค้าบริการในย่านนี้ 1,500 คน[1] ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะและโรงพยาบาล

ประวัติ[แก้]

การค้าประเวณีในกรุงเตหะรานเป็นที่ทราบกันว่าปรากฏมีตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1870 ในสถานที่ต่าง ๆ ของเมือง (ใช้การแขวนตะเกียงเพื่อระบุว่าเป็นซ่องโสเภณี) ในช่วงสี่สิบปีถัดมา โสเภณีค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นมากขึ้นโดยแสดงตัวตามท้องถนน ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1922 กระทรวงมหาดไทยเปอร์เซีย (ขณะนั้นยังไม่ใช่รัฐศาสนา) ได้จัดระเบียบโดยกวาดต้อนโสเภณีบางส่วนและให้มารวมตัวกันที่แชฮ์เรโนว์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับป้อมปราการ โสเภณีในที่อื่น ๆ ของเตหะรานถูกรวมเข้ามาในพื้นที่ในช่วงสิบเอ็ดปีต่อมา จากนั้นแชฮ์เรโนว์ก็ถูกปิดล้อมด้วยกำแพงอิฐสูง 2.50 เมตร โดยห้ามผู้หญิงออกจากบริเวณนี้

หลังการปฏิวัติอิหร่านและการสถาปนาระบอบการปกครองอิสลาม ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1979 ฝูงชนที่เป็นพยานในการประหารชีวิตผู้หญิง 3 คนที่ถูกกล่าวหาว่าจัดหาการค้าประเวณี ได้เข้าทำการโจมตีย่านนี้ เผาซ่อง ข่มเหงสตรี และแพร่ความหวาดกลัวไปทั่ว ในเวลานั้นพื้นที่แผ่ขยายออกไปเป็นมากกว่า 13 เฮกตาร์ และมีจำนวนโสเภณี 1,500 คน ผู้ค้าขายริมถนน 753 ราย ร้านค้า 178 แห่ง และโรงละครสองแห่ง ปีต่อมาหลังจากที่อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของอิหร่าน รัฐบาลได้รื้อถอนย่านโคมแดงและใช้เครื่องจักรปรับพื้นที่จนราบเรียบ เหลือเพียงพื้นที่ว่างเปล่าเท่านั้น[2] โฮมอน แมจีด (هومان مجد , Hooman Majd) ผู้เขียนหนังสือ Ayatollah Begs to Differ กล่าวว่ารัฐบาลอิหร่านทำเช่นนี้ด้วยเหตุผลทางศาสนาและเพื่อแสดงให้เห็นถึงอำนาจของรัฐบาล[3] จากนั้นสาธารณรัฐอิสลามก็พยายามที่จะลบความทรงจำทั้งหมดของพื้นที่นี้ โดยทำลายหนังสือและภาพยนตร์ที่กล่าวถึงการมีอยู่ของแชฮ์เรโนว์ แผนที่ของเมืองมีสี่เหลี่ยมกำกับไว้ว่า "สวนสาธารณะอยู่ระหว่างการก่อสร้าง"[4] มีเพียงบันทึกพยานที่หายากเท่านั้นที่ยังคงอยู่ เช่น ชุดภาพถ่าย The Citadel โดยช่างภาพข่าวชาวอิหร่าน คอเวฮ์ โกเลสทอน (کاوه گلستان , Kaveh Golestan)[1] พื้นที่นี้ไม่ได้รับการปรับปรุงใหม่จนกระทั่ง ค.ศ. 1998 ซึ่งมีการสร้างให้เป็นสวนสาธารณะและโรงพยาบาล[5][6]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Iranian photojournalist Kaveh Golestan's Prostitute Series at Photo London". The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2015.
  2. "Bulldozers Smash Tehran Bordellos เก็บถาวร 2012-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." Los Angeles Times. 26 กุมภาพันธ์ 1980. B5. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2009.
  3. Majd, Hooman. "Persian Cats." The Ayatollah Begs to Differ. 2008. Doubleday. ISBN 978-0-385-52334-9. 26.
  4. Bahàr Majdzàdeh, Cartographier les exclus : géographie de la destruction (Iran 1979–1988). Contre-cartographier le monde, Presses Universitaires de Limoges (PULIM), pp.193–202, 2021. ffhal-03669725f read online
  5. Luis Alemany, "La terrible destruction du quartier rouge de Téhéran", Courrier international, no 1680, 12–18 january 2023, p. 47, ISSN 1154-516X, "translation of an article published in El Mundo in january 2023".
  6. "Photos: Tehran's brothel district Shahr-e-No 1975-77 by Kaveh Golestan". Payvand. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 มกราคม 2023. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2023.

35°40′18.91″N 51°23′17.56″E / 35.6719194°N 51.3882111°E / 35.6719194; 51.3882111