แจ็กสันโฮล

พิกัด: 43°31′N 110°50′W / 43.517°N 110.833°W / 43.517; -110.833
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มุมมองไปทางทิศตะวันตก ภาพของเทือกเขาทีตันที่มีความสูงมากกว่า 7,000 ฟุต (2,130 เมตร) เหนือพื้นราบในหุบเขา และอาคารสัญลักษณ์ โรงนาจอห์น มูลตัน

แจ็กสันโฮล (อังกฤษ: Jackson Hole เดิมเรียกว่า Jackson's Hole โดยกลุ่มชน "เมาน์เทนเมน") เป็นหุบเขาระหว่างเทือกเขาโกรวอนต์ (Gros Ventre; groh-VAHNT) และเทือกเขาทีตัน (Teton) ในรัฐไวโอมิงของสหรัฐ ใกล้กับชายแดนรัฐไอดาโฮ ในเทศมณฑลทีตัน (Teton County) ซึ่งเป็นเทศมณฑลที่ร่ำรวยที่สุดในสหรัฐ[1] คำว่า "โฮล" ถูกใช้โดยพรานดักสัตว์ในยุคแรก ๆ หรือกลุ่มชน "เมาน์เทนเมน" เป็นคำที่ใช้เรียกหุบเขาขนาดใหญ่ ที่ราบต่ำในหุบเขาเหล่านี้ล้อมรอบด้วยภูเขาและมีลำธารและแม่น้ำไหลผ่าน เป็นแหล่งอาศัยที่เหมาะสมของบีเวอร์และสัตว์ที่ถูกล่าสำหรับทำเสื้อขนสัตว์ พื้นที่ของแจ็กสันโฮลมีความยาว 55 ไมล์ (89 กิโลเมตร) กว้าง 6 ถึง 13 ไมล์ (10 ถึง 21 กิโลเมตร) เป็นพื้นที่ราบที่เกิดจากการทรุดตัวตามแนวดิ่งของหน้าผาสูง (graben) ซึ่งมีระดับความสูงเฉลี่ย 6,800 ฟุต (2,100 เมตร) จุดต่ำสุดอยู่ใกล้กับทิศใต้ของเขตอุทยานที่ 6,350 ฟุต (1,940 เมตร)

ประวัติ[แก้]

เมืองแจ็คสันได้รับการตั้งชื่อเมื่อปลายปี ค.ศ. 1893 โดยมาร์กาเร็ต ซิมป์สัน (Margaret Simpson) ซึ่งในขณะนั้นทำหน้าที่รับส่งจดหมายที่บ้านของเธอเนื่องจากไม่มีที่ทำการไปรษณีย์ เธอตั้งชื่อพื้นที่เพื่อให้ผู้คนในรัฐทางตะวันออกสามารถส่งต่อจดหมายไปยังรัฐทางตะวันตกได้ แจ็กสันซึ่งตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1914 ได้รับการตั้งชื่อตามเดวิด เอ็ดเวิร์ด "เดวี่" แจ็กสัน (David Edward "Davy" Jackson) ซึ่งเป็นพรานดักบีเวอร์ในพื้นที่ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1820 ร่วมกับหุ้นส่วนในบริษัท สมิธ แจ็กสัน แอนด์ซับเล็ตต์ (Smith, Jackson & Sublette)[2] แจ็กสันมีเชื้อสายไอริชและสก็อตแลนด์ เป็นหนึ่งในชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรปกลุ่มแรกที่ใช้เวลาตลอดทั้งฤดูหนาวในหุบเขา[3]

แม้ว่าชนพื้นเมืองอเมริกันจะใช้หุบเขานี้เพื่อการล่าสัตว์และเพื่อประกอบพิธีกรรม แต่ก็ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดก่อนคริสต์ทศวรรษ 1870 ว่าหุบเขานี้เป็นแหล่งรวมการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตลอดทั้งปี คำกล่าวถึงและอธิบายลักษณะของหุบเขาถูกบันทึกไว้ในวารสารของจอห์น โคลเตอร์ (John Colter) ซึ่งเคยเป็นสมาชิกของคณะสำรวจลูวิสแอนด์คลาร์ก (Lewis and Clark Expedition) หลังจากกลับมาที่เทือกเขาร็อกกี โคลเตอร์ได้เข้ามาในภูมิภาคนี้ในปี ค.ศ. 1807 ในบริเวณใกล้กับช่องเขาทอกวอตี (Togwotee Pass) และกลายเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรปคนแรกที่ได้เห็นหุบเขานี้ รายงานของเขาเกี่ยวกับหุบเขาในเทือกเขาทีตัน และพื้นที่เยลโลว์สโตนทางตอนเหนือถูกตั้งข้อสงสัยโดยผู้คนในสมัยนั้น คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในภูมิภาคนี้คือชนพื้นเมืองอเมริกัน จากนั้นเป็นพรานนักค้าขนสัตว์ แล้วจึงมีผู้ตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากดินไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืช หุบเขาจึงถูกใช้สำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์ และต่อมาการท่องเที่ยวก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากการก่อตั้งค่ายพักฟาร์มปศุสัตว์

การตั้งถิ่นฐาน[แก้]

พื้นที่ที่จัดตั้งหน่วยบริหารทางปกครองเพียงแห่งเดียวในหุบเขาคือเมืองแจ็คสัน ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้สุดของหุบเขา ชุมชนอื่น ๆ ในหุบเขาได้แก่ โฮแบ็ก (Hoback), เคลลี (Kelly), มูส (Moose; Moose Wilson Road), ชุมทางมอแรน (Moran Junction), หมู่บ้านทีตัน (Teton Village) และวิลสัน (Wilson) ทางตะวันตกของเมืองแจ็คสันมีช่องเขาทีตัน (Teton Pass) ซึ่งตัดผ่านตอนใต้สุดของเทือกเขาทีตัน ทำให้เข้าถึงชุมชนอัลตา (Alta) ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเทือกเขาทีตัน รวมถึงเมืองวิคเตอร์ (Victor) และเมืองดริกส์ (Driggs) ในรัฐไอดาโฮ โดยบริเวณนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ ปิแอร์สโฮล (Pierre's Hole) ซึ่งเคยเป็นเจ้าภาพงานชุมนุมประจำปี Rocky Mountain Rendezvous ในปี ค.ศ. 1832

ฝูงกวางเอลก์จำนวนหนึ่งมาที่หุบเขาเพื่อเล็มหญ้าในช่วงฤดูหนาว ในพื้นที่มีบริการเลื่อนหิมะ (sleigh) สำหรับนักท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวตลอดทั้งปีที่สำคัญได้แก่ พื้นที่เล่นสกีใน แจ็กสันโฮลเมาน์เทนรีสอร์ต, สโนว์คิงเมาน์เทน และแกรนด์ทาร์กีรีสอร์ต (Grand Targhee Resort) รวมถึงอุทยานแห่งชาติแกรนด์ทีตัน (Grand Teton National Park) และอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนในบริเวณใกล้เคียง

ภูมิศาสตร์[แก้]

แจ็กสันโฮลตั้งอยู่ในสหรัฐ
แจ็กสันโฮล
แจ็กสันโฮล

หุบเขาเกิดจากเทือกเขาทีตัน (Teton) ทางทิศตะวันตกและเทือกเขาโกรวอนต์ (Gros Ventre) ทางทิศตะวันออก อุทยานแห่งชาติแกรนด์ทีตัน (Grand Teton) ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของหุบเขา ครอบคลุมส่วนใหญ่ของเทือกเขาทีตันและทะเลสาบแจ็กสัน เมืองแจ็กสันตั้งอยู่ทางใต้สุด บนทางหลวงสหรัฐหมายเลข 26 (U.S. Route 26) มีจุดชมธารน้ำแข็ง "Glacier View Turnout" ให้ทัศนียภาพของธารน้ำแข็งทีตัน (Teton Glacier) ทางตอนเหนือของอุทยานแกรนด์ทีตัน[4] และเขตรักษาพันธุ์กวางเอลก์แห่งชาติ (National Elk Refuge) ซึ่งเป็นที่อยู่ของฝูงกวางเอลก์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม่น้ำสเน็กไหลผ่านพื้นที่หุบเขาทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำในเยลโลว์สโตนทางตอนเหนือไปจนถึงปากแม่น้ำที่หุบเขาแม่น้ำสเน็ก (Snake River Canyon) ที่ด้านใต้สุดของหุบเขา ธรณีสัณฐานที่โดดเด่นได้แก่เนินยอดป้านแบล็กเทล (Blacktail Butte) ซึ่งโผล่ขึ้นมาจากพื้นหุบเขา ระดับความสูงเฉลี่ยของหุบเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเล 6,500 ฟุต (2,000 เมตร)

ระดับความสูงและความลาดชันในทุกด้านของภูเขาที่ล้อมรอบทำให้พื้นที่หุบเขาในคืนฤดูหนาวที่มีอากาศปรกติมีความหนาวเย็นมาก เนื่องจากการสูญเสียความร้อนจากการแผ่รังสีบริเวณพื้นผิวที่ปกคลุมด้วยหิมะทำให้เกิดอากาศเย็นใกล้พื้นดิน ซึ่งอากาศจะไหลลงมาในหุบเขาเนื่องจากความกดอากาศสูง บันทึกอย่างเป็นทางการโดยหน่วยงานอุตุนิยมแห่งชาติสหรัฐ (National Weather Service) ในปี ค.ศ. 1993 ระบุว่าตรวจพบอุณหภูมิต่ำสุดในตอนเช้าลดลงเหลือ −56 °F (−49 °C) ในหุบเขา ซึ่งเกิดจากผลกระทบนี้ในช่วงที่อากาศหนาวเย็นรุนแรงอยู่แล้ว ขณะที่บันทึกของรัฐไวโอมิงในปี ค.ศ.1933 ยังบันทึกอุณหภูมิต่ำสุดในหุบเขาที่หมู่บ้านมอแรนที่ −66 °F (−54 °C) ส่วนในฤดูร้อนอากาศอบอุ่นถึงอบอุ่นค่อนข้างเย็นเนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบ

เศรษฐกิจ[แก้]

รายได้ต่อหัวแบ่งตามเทศมณฑล
รายชื่อเทศมณฑลที่มีรายได้สูงสุดในสหรัฐ
ราคาบ้านแบ่งตามเทศมณฑล (ค.ศ. 2021)
เทศมณฑลทีตันมีบ้านที่มีมูลค่าสูงสุดโดยเฉลี่ย
  <$100,000
  $200,000
  $300,000
  $400,000
  $500,000
  $500,000
  $700,000+

ท่าอากาศยานแจ็กสันโฮล เป็นท่าอากาศยานพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดและพลุกพล่านที่สุดในรัฐไวโอมิง เป็นสนามบินแห่งเดียวในสหรัฐที่ตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติ[5] กฎระเบียบในการลดเสียงรบกวนที่เข้มงวดและอาคารผู้โดยสารที่ออกแบบให้เรียบง่ายทำให้ท่าอากาศยานสามารถดำเนินการภายในอุทยานแห่งชาติแกรนด์ทีตันตามแนวทางของรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ตามกลายเป็นเรื่องยากที่จะทำการบินในฤดูหนาว สายการบินหลักให้บริการในหุบเขาด้วยบริการเครื่องบินไอพ่น ซึ่งบางสายการบินก็ให้บริการตามฤดูกาล (ช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว)

ในปี ค.ศ. 2016 เว็บไซต์ Jackson Hole Tourism ได้ติดตั้งเว็บแคมถ่ายทอดสด 20 จุดบริเวณจัตุรัสกลางเมืองแจ็กสัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ตั้งแต่นั้นมาผู้ชมการถ่ายทอดสดก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเคยมีผู้ชมพร้อมกันมากถึง 2,000 คน[6][7]

แจ็กสันโฮลได้รับการจัดอันดับในปี ค.ศ. 2017 ว่าเป็นสถานที่ตั้งแคมป์ที่ดีที่สุดในรัฐไวโอมิงจากการสำรวจใน 50 รัฐที่จัดทำโดย MSN.com[8]

ชุมชนนี้ยังเป็นที่ตั้งของงานสัมมนาทางเศรษฐกิจแจ็กสันโฮล (Jackson Hole Economic Symposium) ซึ่งเป็นงานประชุมประจำปีโดยธนาคารกลางสหรัฐสาขาแคนซัสซิตี (Federal Reserve Bank of Kansas City) ซึ่งรวม "ผู้บริหารธนาคารกลางที่มีชื่อเสียง รัฐมนตรีคลัง นักวิชาการ และผู้เข้าร่วมจากตลาดการเงินทั่วโลก" โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะหารือเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจ นัยและตัวเลือกของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการสัมมนา การดำเนินการสัมมนาประกอบด้วย "การรายงานบทความ การแสดงความเห็น และการอภิปราย"[9]

เทศมณฑลทีตัน มีรายได้เฉลี่ยก่อนหักภาษีสูงสุดในทุกเทศมณฑลในสหรัฐที่ 312,442 ดอลลาร์สหรัฐ โดยร้อยละ 75 ของรายได้มาจากการลงทุนหรือแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ค่าจ้าง เทียบกับร้อยละ 31 โดยเฉลี่ยสำหรับที่อื่น ๆ ในสหรัฐ รัฐไวโอมิงไม่มีภาษีเงินได้และอัตราภาษีต่ำ ทำให้เป็นสถานที่พำนักที่เหมาะสมในการเกษียณ[10]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในแจ็กสันโฮลได้แก่ 3 Bad Men (ค.ศ. 1926), The Big Sky (ค.ศ. 1952), The Wild North (ค.ศ. 1952), Shane (เพชฌฆาตกระสุนเดือด, ค.ศ. 1953), Spencer's Mountain (ค.ศ. 1963), Any That Way You Can (ค.ศ 1980) , The Mountain Men (ค.ศ. 1980), Rocky IV (ร็อคกี้ 4 ขยี้หมียักษ์, ค.ศ. 1985), Dances with Wolves (จอมคนแห่งโลกที่ 5, ค.ศ. 1990) และ Django Unchained (จังโก้ โคตรคนแดนเถื่อน, ค.ศ. 2012)[11] ในฤดูกาลที่ 3 และ 4 ของภาพยนตร์ชุดทางช่อง HBO เรื่อง Silicon Valley (ซิลิคอนวัลเล่ย์ รวมพลคนอัจฉริยะ) จะใช้เป็นสถานที่ดำเนินเรื่องซ้ำ ๆ สำหรับตัวละคร Gavin Belson และ Jack Barker แม้ว่าจะไม่มีการระบุในรายการว่าเป็นแจ็กสันโฮลก็ตาม นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สำคัญในวิดีโอเกม The Last of Us (ค.ศ. 2013) และ The Last of Us Part II (ค.ศ. 2020) ซึ่งเมืองแจ็กสันเป็นที่ตั้งของชุมชนผู้รอดชีวิตขนาดใหญ่หลังวันสิ้นโลก[12] นักร้องเพลงแร็ป คานเย เวสต์ บันทึกอัลบั้ม Ye (ค.ศ. 2018) ของเขาในขณะที่พำนักอยู่ในแจ็กสันโฮล โดยปกอัลบั้มมีรูปภาพของเทือกเขาทีตันที่เขาถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือไอโฟนไม่กี่ชั่วโมงก่อนเผยแพร่อัลบั้ม[13] อัลบั้มอื่น ๆ ที่ทำการบันทึกเสียงที่นี่ เช่น Kids See Ghosts, Nasir อัลบั้มของ นาส และ Daytona สตูดิโออัลบั้มของ Pusha T และ Teyana Taylor ยังได้บันทึกผลงานในฟาร์มปศุสัตว์ของคานเย เวสต์

ผู้มีชื่อเสียง[แก้]

เมืองแจ็กสันเป็นบ้านหลังที่สองของผู้ที่มีชื่อเสียงหลายคนเช่น แซนดรา บูลล็อก, RuPaul Charles และสามี Georges LeBar, คานเย เวสต์และคิม คาร์เดเชียน รวมถึง แฮริสัน ฟอร์ด โดยเกี่ยวข้องกับระบบภาษีเงินได้ในรัฐไวโอมิง[14]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Teton County, WY, is the Richest County in the Nation". 18 มกราคม 2022.
  2. Hays, Carl D. W. (1983). "David E. Jackson". ใน Leroy R. Hafen (บ.ก.). Trappers of the Far West: Sixteen Biographical Sketches. Lincoln: University of Nebraska Press. pp. 80–81. ISBN 0-8032-7218-9.originally published in Leroy R. Hafen, บ.ก. (1972). Mountain Men and Fur Traders of the Far West vol. IX. Glendale: The Arthur H Clark Company.
  3. Mattes, Merrill J. "Grand Teton NP/Yellowstone NP: Colter's Hell and Jackson's Hole (Chapter 6)". Colter's Hell and Jackson's Hole. Yellowstone Library and Museum Association, and Grand Teton Natural HIstory Association, in cooperation with National Park Service. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2013.
  4. Grand Teton National Park Photographer's Map & Guide. Earthwalk Press. 2008. ISBN 978-0-915749-25-6.
  5. "Jackson Hole Airport". Jackson Hole Airport. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2019.
  6. "Confession: I'm addicted to the goofily charming Jackson Hole webcam".
  7. "Jackson Hole Tourism website".
  8. "The best campsite in every state". Msn.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2017.
  9. "Jackson Hole Economic Symposium".
  10. "Teton County, WY, is the Richest County in the Nation". 18 มกราคม 2022.
  11. Maddrey, Joseph (2016). The Quick, the Dead and the Revived: The Many Lives of the Western Film. McFarland. ISBN 978-1-47-66-2549-2.
  12. "The Last of Us Part 2: 10 Things You Didn't Know About Jackson". 9 สิงหาคม 2020.
  13. Mense, Ryan (1 มิถุนายน 2018). "Kanye West Took Landscape Photo Used on Album Cover Himself With iPhone". Fstoppers (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2021.
  14. Hugh McIntyre (25 สิงหาคม 2021). How Wyoming Became A Secret Celebrity Hotspot -- Sandra Bullock, RuPaul Charles, Kanye West, and Harrison Ford own property there. But why?. Bustle.com. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]


43°31′N 110°50′W / 43.517°N 110.833°W / 43.517; -110.833