เหตุระเบิดที่ภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2555

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหตุระเบิดที่ภาคใต้ของประเทศไทย
พ.ศ. 2555
เป็นส่วนหนึ่งของความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
แผนที่ภาคใต้ของประเทศไทยจุดเกิดเหตุอำเภอหาดใหญ่และอำเภอแม่ลาน
สถานที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี
เทศบาลนครยะลา ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
วันที่31 มีนาคม พ.ศ. 2555
เป้าหมายสร้างสถานการณ์
ประเภทระเบิด, การสังหารหมู่
ตาย14 คน
เจ็บ544 คน
ผู้เสียหายชาวไทย, มุสลิม และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

เหตุระเบิดที่ภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2555 เป็นเหตุการณ์ระเบิดที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และเขตเทศบาลนครยะลา ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555[1] ผู้ก่อการร้ายซุกซ่อนระเบิดในรถยนต์และจุดระเบิดขึ้นเป็นระเบิดติดรถ ที่บริเวณชั้นใต้ดินของอาคารจอดรถโรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 416 ราย ส่วนเหตุการณ์ที่จังหวัดยะลา ผู้ก่อการร้ายก่อเหตุลักษณะเดียวกันที่บริเวณถนนจงรักษ์และถนนรวมมิตร เขตเทศบาลนครยะลา ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา มีรถยนต์ที่มีวัตถุระเบิดสองคัน แต่ไฟจากการระเบิดได้ลุกลามไปติดรถบริเวณนั้นอีกคันหนึ่งจนเกิดระเบิดขึ้น มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 127 ราย

การโจมตี[แก้]

จังหวัดยะลา[แก้]

การโจมตีครั้งแรกเกิดจากรถบรรทุกระเบิดแล่นผ่านย่านจับจ่ายสินค้าในจังหวัดยะลา ราว 20 นาทีต่อมา ระเบิดลูกที่สองที่ซ่อนอยู่กับรถจักรยานยนต์ได้เกิดระเบิดขึ้น[2] โดยหน่วยกู้ภัยได้ประชุมกันเพื่อหาที่มาของต้นกำเนิดของระเบิด[3] หลังจากนั้นเกิดการระเบิดครั้งที่สามไปยังอาคารใกล้เคียง มีผู้เสียชีวิต 11 ราย และบาดเจ็บจากแรงระเบิดอีก 127 ราย ซึ่งการระเบิดครั้งที่สองส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายเป็นส่วนใหญ่[4]

จังหวัดปัตตานี[แก้]

เวลา 13.15 น. หลังจากเกิดเหตุระเบิดที่จังหวัดยะลา เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดหน้าร้านขายข้าวแกง ซึ่งตั้งอยู่หน้าสถานีตำรวจภูธรแม่ลาน อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้พันตำรวจโทจิตกานต์ เกื้อก่อยอด รองผู้กำกับการปราบปราม สถานีตำรวจภูธรแม่ลาน อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ที่นั่งรับประทานอาหารอยู่ในร้าน ถูกสะเก็ดระเบิดบริเวณคิ้ว และใบหูขวาได้รับบาดเจ็บ[5]

อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา[แก้]

หลังเหตุระเบิดทั้งสองจุด ได้เกิดเหตุระเบิดที่ชั้นใต้ดินของโรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แรงระเบิดสร้างความเสียหายต่ออาคาร มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และได้รับบาดเจ็บ 416 คน[6] ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการได้รับการสูดกลิ่นควัน ซึ่งมีการรายงานในเบื้องต้นว่ามาจากการรั่วไหลของแก๊ส แต่ภายหลังได้นำมาประกอบเข้ากับรถยนต์ การระเบิดนี้ได้รับการพิจารณาจากบางแหล่งข้อมูลว่า ผู้ก่อเหตุต้องการเพิ่มการจลาจล เนื่องด้วยเป้าหมายคือโรงแรมที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและสิงคโปร์[7][8]

การสืบสวน[แก้]

ในช่วงแรกของเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงมีความสับสน ในจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา[9] แม้ว่าสาเหตุเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเกิดจากระเบิดติดรถ แต่การสืบหาคนร้ายเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะรถยนต์ที่ใช้ก่อการเป็นของโจรกรรมมาอีกทอดหนึ่งและใช้ป้ายทะเบียนปลอม อย่างไรก็ตามตำรวจได้สืบและจำกุมคนร้ายที่จังหวัดยะลาได้จำนวน 3 ราย[10] เป็นชาวมาเลเซีย 2 ราย ชาวไทย 1 ราย ส่วนที่อำเภอหาดใหญ่ตำรวจได้ออกหมายจับคนร้ายและตั้งรางวัลค่าตามกล้องวงจรปิด และจับกุมผู้ต้องสงสัยได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว[11]

ผลกระทบ[แก้]

เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา โดยสุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่าประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจหลังเกิดเหตุระเบิดขึ้นในอำเภอหาดใหญ่คาดว่าจะสูงถึง 800 ล้านบาท เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวไทยยกเลิกการเดินทางทั้งหมด[12] ส่วนที่จังหวัดยะลาประเมินผลกระทบเบื้องต้นบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายถูกเพลิงไหม้ มีจำนวน 35 หลัง รถยนต์ได้รับความเสียหาย 11 คัน และรถจักรยานยนต์ 18 คัน[13]

ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ยอมรับเหตุระเบิดที่โรงแรมลีการ์เดนส์พลาซ่า เกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ จึงเตรียมปรับแผนรักษาความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว[14] เจ้าหน้าที่เทศบาลนครหาดใหญ่เปิดเผยว่า ไม่มีรถกระเช้าที่สูงพอในการช่วยเหลือ รวมทั้งโรงแรมไม่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์[15] ต่อมาเทศบาลนครหาดใหญ่ได้ส่งรถกระเช้ามา 1 คัน แต่ความสูงของกระเช้าแค่ตึก 4 ชั้นซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[16]

เหตุการณ์นี้ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติ เช่น เหตุการณ์การประชุมองค์กรผู้นำเยาวชนอาเซียนที่จัดที่จังหวัดปัตตานีมีเยาวชน 4 ชาติ ขอยกเลิกการเดินทางมาเข้าร่วมประชุม เพราะกลัวไม่ปลอดภัยและประชาชนในพื้นที่เสียความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โดยรวม[17]

นอกจากนี้ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555 รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ได้ดำเนินการให้ใช้วิธีรักษาความปลอดภัยขั้นสูงโดยให้ตรวจกระเป๋าทุกใบและตรวจรถยนต์อย่างละเอียดทุกคันที่เข้ามาภายในที่จอดรถ ที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ว่าที่เรืออากาศโท อนิรุทธิ์ ถนอมกุลบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าท่าอากาศยานหาดใหญ่ยังคงมาตรการรักษาความปลอดภัยไว้ที่ระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับที่ให้ความเข้มงวด[18] ด้านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้สั่งให้ตำรวจทุกนายดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์[19]

อ้างอิง[แก้]

  1. 泰 연쇄 폭탄테러 13명 사망·500명 부상(종합2보)[ลิงก์เสีย]”, 《연합뉴스》, 2012년 4월 1일 작성. 2012년 4월 4일 확인. (เกาหลี)
  2. Aantal slachtoffers aanslagen Zuid-Thailand gestegen, De Aziatische Tijger, 1 april 2012 (ดัตช์)
  3. Roughneen, Simon. "Muslim militants in south Thailand growing stronger." Christian Science Monitor. April 1, 2012. Accessed April 1, 2012. (อังกฤษ)
  4. Hookway, James. "Deadly Thai Blasts Follow Tense Weeks." The Wall Street Journal. April 1, 2012. Accessed April 1, 2012. (อังกฤษ)
  5. "ปัตตานีระเบิดด้วย ร้านข้าวแกงหน้า สภ.แม่ลานเสียหาย-ตำรวจเจ็บ 1 นาย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-24. สืบค้นเมื่อ 2012-04-08.
  6. 태국 연쇄 폭탄테러 … 14명 죽고 500명 다쳐”, 《중앙일보》, 2012년 4월 2일 작성. 2012년 4월 4일 확인. (เกาหลี)
  7. "Car bombs kill 13 in southern Thailand เก็บถาวร 2012-04-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." Hindustan Times. April 1, 2012. Accessed April 1, 2012. (อังกฤษ)
  8. Dodental aanslag Thailand loopt op, destentor.nl, 1 april 2012 (ดัตช์)
  9. เผยบึ้มลีการ์เดนท์พลาซ่าหาดใหญ่ ตาย 1 บาดเจ็บ 78[ลิงก์เสีย]
  10. รวบมือวางระเบิดที่ยะลา[ลิงก์เสีย]
  11. "จับแล้วผู้ต้องสงสัยพันบึ้มหาดใหญ่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-03. สืบค้นเมื่อ 2021-10-17.
  12. หอการค้าจังหวัดสงขลาประเมินคาร์บอมบ์หาดใหญ่สูญ 800 ล้านบาท
  13. "เหยื่อคาร์บอมบ์ยะลาตายอีก 1 รวม 11 ศพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-04-06.
  14. ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ยอมรับเหตุคาร์บอมบ์ เกิดจากความบกพร่องของ จนท.[ลิงก์เสีย]
  15. ไฟไหม้ห้างหาดใหญ่พบแล้ว 3 ศพ พบหลักฐานต้องสงสัยคาร์บอมบ์
  16. "ใต้วิกฤติ! บอมบ์ห้างดังหาดใหญ่-ย่านธุรกิจยะลาตายเจ็บนับร้อย บึ้มรอง ผกก.สภ.แม่ลานหวิดสิ้นชื่อ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-02. สืบค้นเมื่อ 2012-04-09.
  17. เยาวชน 4 ชาติไม่ประชุมปัตตานี[ลิงก์เสีย]
  18. ทอท.สั่งทุกสนามบินคุมเข้มความปลอดภัย กันเหตุวินาศกรรม[ลิงก์เสีย]
  19. "เพรียวพันธ์" สั่งคุมเข้มรับสงกรานต์[ลิงก์เสีย]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]