เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม (อังกฤษ: industrial organization หรือ industrial economics) เป็นสาขาในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เน้นศึกษาโครงสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตในตลาดที่มีการแข่งขันไม่สมบูรณ์[1] เช่น ตลาดที่มีผู้ผลิตรายใหญ่น้อยราย หรือมีปัจจัยกีดกันไม่ให้ผู้ผลิตรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ หัวข้อการศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมมักเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของตลาด (เช่น จำนวนผู้ประกอบการ ลักษณะสินค้า) พฤติกรรมของหน่วยธุรกิจ ไปจนถึงนโยบายของรัฐที่มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงตลาดให้มีประสิทธิภาพ เช่น กฎหมายการแข่งขันทางการค้า นโยบายกำกับดูแลอุตสาหกรรม เป็นต้น

ประวัติ[แก้]

แนวคิดการอธิบายอำนาจในการกำหนดราคาของหน่วยผลิตนั้นเป็นส่วนหนึ่งของขนบงานวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อยู่แล้วก่อนที่จะมีการจำแนกเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมเป็นสาขาย่อยเฉพาะทาง ในปี ค.ศ. 1837 นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส อ็องตวน-โอกุสแต็ง กูร์โน ได้นำเสนอทฤษฎีตลาดผูกขาดโดยผู้ขายน้อยราย (oligopoly) ในหนังสือ "งานวิจัยว่าด้วยหลักคณิตศาสตร์ของทฤษฎีทรัพย์" (ฝรั่งเศส: Recherches sur les principes mathématiques de la théorie des richesses) แต่ในระยะแรกไม่ได้มีการอภิปรายกันในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์มากนัก แบบจำลองทฤษฎีตลาดผู้ขายน้อยรายของกูร์โนยังคงเป็นแบบจำลองสำคัญในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ในปัจจุบัน[2] การศึกษาเรื่องการผูกขาดและการแข่งขันมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1870-1900 โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา จากการที่การพัฒนาทางอุตสาหกรรมส่งผลให้เกิดบรรษัทขนาดใหญ่ที่มีอำนาจในตลาดสูง จึงมีการอภิปรายและถกเถียงกันเรื่องผลของการกระจุกตัวของผู้ผลิตในอุตสาหกรรม การกำกับธุรกิจโดยรัฐบาล และการใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า[3]

สาขาเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมสมัยใหม่มักถูกจัดว่าว่ามีที่มาจากช่วงทศวรรษ 1930 ที่ถือว่าเป็นช่วงที่มีพัฒนาการสำคัญในด้านการแข่งขันไม่สมบูรณ์ ในช่วงนี้มีการเสนอแนวคิดใหม่ๆ โดยมีเอ็ดเวิร์ด แชมเบอร์เลนกับเอ็ดเวิร์ด เมสันที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เสนอแนวคิดตลาดแข่งขันกึ่งผูกขาด (monopolistic competition) และโจน โรบินสันที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ใช้หลักคิดรายได้ส่วนเพิ่ม (marginal revenue) ในการวิเคราะห์รูปแบบการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์[3][4][5][6]

ในช่วงทศวรรษ 1950 การศึกษาเชิงประจักษ์ของเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม เปลี่ยนไปมุ่งความสนใจกับการศึกษาอุตสาหกรรมด้วยข้อมูลทางสถิติจากเดิมที่เน้นการใช้กรณีศึกษารายอุตสาหกรรม การวิจัยในลักษณะนี้มีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน โจ เบน เป็นผู้บุกเบิก ทำให้งานวิจัยเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมช่วงทศวรรษ 1950-1960 นิยมใช้การศึกษาทางเศรษฐมิติด้วยข้อมูลตามขวาง[7] เบนยังเป็นผู้ริเริ่มกระบวนทัศน์ที่เรียกว่า โครงสร้าง-พฤติกรรม-ผลลัพธ์ (structure-conduct-performance) โดยพิจารณาโครงสร้างของตลาด พฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจในตลาด และผลของโครงสร้างและพฤติกรรมนั้นที่มีต่อความกินดีอยู่ดีทางเศรษฐกิจ[1][8]

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา การศึกษาเชิงทฤษฎีในด้านเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมได้หันมาใช้หลักการคณิตศาสตร์ด้านทฤษฎีเกมเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ ด้วยแนวคิดดุลยภาพแบบแนช[9] การศึกษาเชิงประจักษ์ในยุคหลังมานี้ จึงได้อาศัยทฤษฎีที่อธิบายปฏิสัมพันธ์ของหน่วยผลิตในตลาด เป็นฐานในการศึกษาด้วย[10]

หัวข้อศึกษาหลัก[แก้]

โครงสร้างของตลาด[แก้]

โครงสร้างของตลาด มีความหมายอย่างกว้างๆ หมายถึงลักษณะพื้นฐานของอุตสาหกรรมนั้นๆ ที่ค่อนข้างคงที่ และส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ขายและผู้ซื้อในตลาด ลักษณะของอุตสาหกรรมอาจมีที่มาทั้งจากธรรมชาติของสินค้านั้นเอง เช่น เทคโนโลยีการผลิต หรือเป็นลักษณะที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยอื่น (รวมถึงธรรมชาติของสินค้านั้นๆ) เช่น จำนวนผู้ขายในตลาด ปัจจัยที่กีดกันการเข้าร่วมตลาดของผู้ผลิตรายใหม่[1] หนึ่งในหัวข้อสำคัญของเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม คือการพยายามอธิบายว่ามีปัจจัยใดในโครงสร้างของตลาด ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมในตลาดและประสิทธิภาพของตลาด และโครงสร้างเหล่านั้นถูกกำหนดอย่างไร

พฤติกรรมของธุรกิจในตลาด[แก้]

การศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม มักให้ความสำคัญกับอำนาจเหนือตลาด หรืออำนาจผูกขาด (market power หรือ monopoly power) ซึ่งหมายถึงความสามารถของผู้ขายหรือผู้ซื้อ ในการกำหนดราคาหรือเงื่อนไขในการค้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากแนวคิดการแข่งขันสมบูรณ์ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคแต่ละรายย่อยๆ ไม่มีอำนาจในการกำหนดราคา

หัวข้อการศึกษาที่สำคัญข้อหนึ่งในสาขานี้คือ ผู้ขายที่มีอำนาจเหนือตลาด จะใช้วิธีการตั้งราคาแบบใดเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ เช่น การตั้งราคาขายให้ผู้ซื้อแต่ละรายไม่เท่ากัน การตั้งราคาขายแบบไม่เป็นเส้นตรง นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม ยังสนใจศึกษาพฤติกรรมการรวมกลุ่มของผู้ขายเพื่อฮั้วราคา ไปจนถึงพฤติกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับราคา เช่น ผู้ขายต้องการสร้างความแตกต่างของสินค้าอย่างไร การโฆษณามีผลกีดกันไม่ให้ผู้ขายรายใหม่เข้ามาในตลาดหรือไม่ การลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนา เป็นต้น[9]

ทฤษฎีองค์กรธุรกิจ[แก้]

ทฤษฎีองค์กรธุรกิจ (theory of the firm) เป็นความพยายามตอบคำถามว่า ทำไมจึงต้องมีการตั้งองค์กรธุรกิจ (เช่น บริษัท) และเส้นแบ่งระหว่างการเป็นองค์กรธุรกิจกับตลาดคืออะไร คำถามนี้มีที่มาจากข้อสังเกตว่า ธรรมชาติขององค์กรธุรกิจ ก็คือการทำธุรกรรมระหว่างส่วนย่อยๆ ในองค์กรธุรกิจนั้น เหตุใดธุรกรรมบางประเภทจึงเกิดขึ้นในตลาดภายนอกองค์กร (เช่น การซื้อวัตถุดิบจากธุรกิจอื่น) และบางประเภทจึงเกิดขึ้นภายในองค์กร[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Schmalensee, Richard (1987). "Industrial organization". New Palgrave dictionary of economics. Palgrave Macmillan. doi:10.1057/978-1-349-95121-5_924-1. ISBN 978-1-349-95121-5.
  2. Shapiro, Carl (1989). "Theories of oligopoly behavior". ใน Schmalensee, Richard; Willig, Robert (บ.ก.). Handbook of industrial organization. Vol. 1. Amsterdam: North Holland. pp. 329–414. doi:10.1016/S1573-448X(89)01009-5. ISBN 9780444704344.
  3. 3.0 3.1 de Jong, Henry W.; Shepherd, William G. (2007). Pioneers of industrial organization: How the economics of competition and monopoly took shape. Cheltenham: Edward Elgar. ISBN 9781843764342.
  4. Grether, Ewald T. (1970). "Industrial organization: Past history and future problems". American Economic Review. 60 (2): 83–89.
  5. McKie, James W. (1972). "Industrial organization: Boxing the compass". ใน Fuchs, Victor R. (บ.ก.). Economic research: Retrospect and Prospect. Vol. 3. National Bureau of Economic Research. pp. 1–15. ISBN 0-87014-250-X.
  6. Rima, Ingrid (2009). Development of economic analysis (7 ed.). London: Routledge. ISBN 9780415772921.
  7. Bresnahan, Timothy F.; Schmalensee, Richard (1987). "An empirical renaissance in industrial economics: An overview". Journal of Industrial Economics. 35 (4): 371–378. doi:10.2307/2098578.
  8. Bain, Joe S. (1959). Industrial organization. New York: Wiley.
  9. 9.0 9.1 Schmalensee, Richard (1988). "Industrial economics: An overview". Economic Journal. 98 (392): 643–681. doi:10.2307/2233907.
  10. Einav, Liran; Levin, Jonathan (2010). "Empirical industrial organization: A progress report". Journal of Economic Perspectives. 24 (2): 145–162. doi:10.1257/jep.24.2.145.