เวียงเชียงรุ้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เวียงเชียงรุ้ง เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งในลุ่มแม่น้ำลาว ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านห้วยเคียน หมู่ที่ 10 ตำบลทุ่งก่อ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่[1]

ประวัติ[แก้]

เวียงเชียงรุ้งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนา เคยเจริญรุ่งเรืองและเสื่อมไปหลายยุคหลายสมัย สันนิษฐานว่าเวียงเชียงรุ้ง คงจะทำหน้าที่เป็นเมืองเชื่อมต่อกับเมืองต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่เช่นเดียวกัน เวียงเชียงรุ้งน่าจะเป็นพันนาหนึ่งเรียกว่า พันนาเชียงรุ้ง ซึ่งมีหลักฐาน ปรากฏในสมัยพระเจ้าติโลกราช เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ที่เมืองเชียงใหม่ ได้โปรดให้นายร้อยก้อนทองมาเป็นหมื่นขวาที่พันนาเชียงรุ้ง ดังความว่า

"...ในกาละเมื่อ พะญาผู้ชื่อท้าวติโลกะติลกสารราชาธิบดีสรีธรรมิกะจักะวัดติราชเจ้า เสวยในเมิงเนาวะชาติบุรีเชียงใหม่ใส่กูผู้ชื่อ ร้อยก้อนทองมาเป็นหมื่นขวาในพันนาเชียงรุ้ง..."

มีความเป็นไปได้ว่าพันนาเชียงรุ้งเพิ่งจะตั้งขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช เนื่องจากเมื่อตรวจสอบรายชื่อพันนาของเชียงแสน เชียงราย และพะเยาก็ไม่พบชื่อพันนาเชียงรุ้งอยู่ในรายชื่อพันนาของเมืองทั้งสามเช่นกัน[2]

เวียงเชียงรุ้งค้นพบเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 โดยปลัดอำเภอเวียงชัย นายโกเมศ ขุนศรี พร้อมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยเคียน ชาวบ้านได้เดินตรวจงานโครงการสร้างงานในชนบท ได้พบที่ดินลักษณะเป็นเนินสูง มีซากปรักหักพังของวัตถุโบราณปรากฏอยู่ เช่นซากเจดีย์ พระพุทธรูปหิน กองอิฐ หิน โอ่ง ไห ถ้วยชาม เสาหินและใบเสมา และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ไว้ทั้งหมด 508 ไร่ เป็นวนอุทยานประวัติศาสตร์เวียงเชียงรุ้ง ได้มีการสร้างวัด สิ่งปลูกสร้าง และยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ใช้ชื่อว่า วัดเวียงเชียงรุ้ง บนพื้นที่ 50 ไร่ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2538[3]

ลักษณะเมือง[แก้]

เวียงเชียงรุ้งตั้งอยู่บนเนินคล้ายหลังเต่า ทำให้น้ำไม่ท่วมเมืองทั้ง ๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำลาว โดยใช้แม่น้ำลาวเป็นคูเมืองทางทิศตะวันตก ลักษณะเมืองมีคูน้ำคันดินถึง 3 ชั้น และคูเมืองแต่ละชั้นค่อนข้างกว้างและลึก คูเมืองชั้นนอก ลึกประมาณ 2 เมตร กว้าง 12 เมตร คูเมืองชั้นกลางลึก 5–7 เมตร กว้าง 30 เมตร ยาวรอบ ตัวเมือง 5 กิโลเมตร และชั้นในลึก 3 เมตร กว้าง 14 เมตร เป็นคูรอบเป็นวงแหวน ยาวรอบเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร[4]

โบราณสถานและโบราณวัตถุ[แก้]

โบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น กองอิฐ พระพุทธรูปหินทราย 4 องค์ และใบเสมาหินทราย 3 ชิ้น การพบกองอิฐหลายแห่งและพระพุทธรูปหินทราย 4 องค์ ทำให้สันนิษฐานว่ามีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนและอาจมีวัดมากกว่า 1 วัด

พบชิ้นส่วนของเครื่องปั้นดินเผาที่มาจากพื้นที่อื่น เช่น เครื่องปนดินเผาจากกลุ่มเตาเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และเครื่องปั้นนดินเผาจากกลุ่มเตาล้านนา ประกอบด้วย กลุ่มเตาเวียงกาหลง กลุ่มเตาพะเยา และกลุ่มเตาพาน รวมทั้งเครื่องปนดินเผาจากกลุ่มเตาจีนและกลุ่มเตาพื้นบ้าน ซึ่งอาจจะผลิตในพื้นที่นี้หรือสั่งเข้ามาจากแหล่งผลิตอื่น พบเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นจาน ชาม ถ้วย หม้อและไห[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พบศิลาจารึก"เวียงฮุ้ง"ที่วัดเวียงเชียงรุ้งยุคกษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 9-สังคโลกราชวงศ์"หมิง"". ผู้จัดการออนไลน์.
  2. 2.0 2.1 อุษณีย์ ธงไชย (2015). ""เวียงเชียงรุ้ง" ชุมชนบนเส้นทางการค้าในเขตภาคเหนือตอนบน : ศึกษาจากเครื่องปั้นดินเผาเวียงเชียงรุ้ง" (PDF). วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาษาไทย. 35 (2).
  3. "โบราณสถานวัดเวียงเชียงรุ้ง". องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งก่อ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-09. สืบค้นเมื่อ 2022-12-09.
  4. "เมืองโบราณเวียงเชียงรุ้ง (พิกัดวัดเวียงเชียงรุ้ง)". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.