ซียูไรเตอร์
พื้นที่ทำงานเอกสารบนซียูไรเตอร์ | |
ผู้ออกแบบ | นายสำนวน หิรัญวงษ์ |
---|---|
นักพัฒนา | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
วันที่เปิดตัว | เมษายน พ.ศ. 2532 |
รุ่นเสถียร | |
ภาษาที่เขียน | ภาษาซี และ ภาษาแอสเซมบลี |
ระบบปฏิบัติการ | เอ็มเอสดอส |
แพลตฟอร์ม | IBM PC compatible |
ขนาด | รวม 1.17 เมกะไบต์ |
ภาษา | ภาษาไทย/ภาษาอังกฤษ |
ประเภท | โปรแกรมประมวลคำ |
สัญญาอนุญาต | สาธารณสมบัติ |
ซียูไรเตอร์ (อังกฤษ: CU Writer) หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า จุฬาเวิร์ด, เวิร์ดจุฬา หรือ CW เป็นโปรแกรมประมวลคำภาษาไทย ทำงานบนระบบปฏิบัติการเอ็มเอสดอส สร้างขึ้นโดยความร่วมมือจาก สถาบันบริการคอมพิวเตอร์ กับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยนายสำนวน หิรัญวงษ์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2532 พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึง พ.ศ. 2536 จึงยุติการพัฒนา รุ่นล่าสุดอยู่ที่รุ่น 1.6
ประวัติ
[แก้]ซียูไรเตอร์ พัฒนาขึ้นโดยสถาบันบริการคอมพิวเตอร์ ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2530[1] โดยโครงการนี้คาดหวังว่าจะใช้เป็นโปรแกรมสำหรับสร้าง และแก้ไขข้อความสำหรับโปรแกรมจัดการไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์[1] และออกรุ่นทดลองแจกจ่ายให้กับผู้ที่สนใจทดลองใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532[1][2] โดยตัวโปรแกรมมีลักษณะการแสดงผลแบบกราฟิก ใช้งานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM PC compatible ที่มีการ์ดแสดงผลแบบ Hercules แต่เนื่องจากขณะนั้นเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่เป็นแบบ IBM PC หรือ IBM PC XT จึงทำให้ทำงานได้ช้ากว่าคนป้อนข้อมูล
ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2532 ได้เผยแพร่รุ่น 1.1 อย่างเป็นทางการ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยประกาศให้เป็นโปรแกรมสาธารณะ และให้บุคคลทั่วไปคัดลอกสำเนาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ[1][2]
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2532 ได้ออกเผยแพร่รุ่น 1.2 โดยพัฒนาขึ้นให้สามารถใช้งานกับการ์ดแสดงผลแบบ VGA และ EGA ได้[1][2]
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ได้พัฒนารุ่น 1.2 ให้สามารถใช้กับจอแสดงผลชนิด EDA ของกระทรวงการต่างประเทศที่ใช้อยู่ในเวลานั้นได้ รุ่นนี้ไม่มีเพลงตอนเริ่มโปรแกรม และสามารถใช้กับเครื่องพิมพ์แบบจุด 24 หัวเข็มได้[1][2]
การพัฒนาต่อมาแบ่งเป็น 2 สายคือ รุ่น 1.21 ออกเผยแพร่ประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532 โดยรุ่นนี้สามารถบังคับเลือกใช้จอแสดงผลที่ต้องการได้ และสามารถเลือกได้ว่าจะมีเพลงหรือไม่ อีกสายหนึ่งคือ รุ่น 1.3 รุ่นนี้สามารถใช้งานกับการ์ดแสดงผลชนิด MCGA และ ATT400 (การ์ดแสดงผลของ AT&T 6300, Xerox 6060 หรือ Olivetti M24) ได้[2][3]
จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ได้นำรุ่น 1.21 และ 1.3 มารวมกัน และปรับปรุงโครงสร้างของโปรแกรมให้พัฒนาได้ง่ายขึ้น เป็นรุ่น 1.4 รุ่นทดลอง[2][3]
รุ่น 1.41 ทดลอง ได้พัฒนาให้สามารถปรับระยะระหว่างบรรทัดขณะพิมพ์ ให้เหมาะกับจำนวนบรรทัดต่อหน้าได้[3]
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2533 ออกเผยแพร่ รุ่น 1.41 โดยแก้ไขข้อบกพร่องในการพิมพ์กับเครื่องพิมพ์ LQ, FX, LX ข้อบกพร่องในการพิมพ์ตาราง และรายละเอียดอื่นๆเล็กน้อย[2][4]
ต่อมาในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 ในงานจุฬาวิชาการ '33 ออกเผยแพร่รุ่น 1.5 รุ่นทดลอง เรียกว่ารุ่น "NOVEMBER" ซึ่งพัฒนาให้สามารถแยกพื้นที่การแก้ไขเอกสาร (ทำงานแบบหน้าต่างหรือช่องแฟ้ม) ได้มากสุดถึง 8 พื้นที่ เพิ่มความสามารถในการคัดลอกส่วนของเอกสารแบบคอลัมน์ และสามารถบันทึกตัวเลือกรวมกับไฟล์เอกสารได้ แต่ยังมีข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการพิมพ์บางจุดอยู่[4][3][5]
ต่อมาในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2533 ได้ออกเผยแพร่รุ่น 1.5 เรียกว่ารุ่น "DECEMBER" ซึ่งเป็นรุ่นแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ของรุ่น 1.5 รุ่นทดลอง "NOVEMBER"[4][3]
ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2534 ได้ออกเผยแพร่รุ่น 1.43 รุ่นทดลอง เป็นรุ่นที่ได้พัฒนาต่อจากรุ่น 1.41 โดยพัฒนาให้สามารถแสดงผลภาษาบาลี และภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาสเปน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมันได้[6][4][3]
รุ่น 1.51 เป็นรุ่นแก้ไขข้อผิดพลาดที่ยังมีอยู่ของรุ่น 1.5 ใช้ภายในไม่ได้นำออกเผยแพร่[4][3]
ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2534 ออกเผยแพร่รุ่น 1.52 ในงานคอมพิวเตอร์ไทย '91 เป็นรุ่นปรับปรุงจากรุ่น 1.51 เพื่อให้เลือกการใช้งานช่องแฟ้มเดียว หรือหลายช่องแฟ้มได้ และเพิ่มสีให้กับโปรแกรม เรียกว่ารุ่น "JUN 10"[4][3]
ต่อมาไม่นานในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ได้นำรุ่น 1.52 ซึ่งเป็นรุ่นที่ปรับปรุงจากรุ่น "JUN 10" ออกเผยแพร่ในงานอิเล็คโทรนิคส์ไทย '91 เรียกว่ารุ่น "JUN 26" โดยปรับปรุงแก้ไขปัญหาเครื่องคอมพิวเตอร์หยุดชงัก (hang) เป็นบางครั้งเมื่อใช้กับจอ VGA โมโนโครม และแก้ไข CUPRINT ให้พิมพ์จดหมายเวียนได้ถูกต้อง[3]
ในปี พ.ศ. 2536 ออกเผยแพร่รุ่น 1.6 ซึ่งพัฒนาต่อจากรุ่น 1.52 โดยเพิ่มความสามารถในการแยกพยางค์ (ตัดคำไทย) โดยใช้พจนานุกรม สามารถเลือกให้ตัวโปรแกรมไม่ทำการตรวจหลักภาษาไทยได้ รองรับการใช้งานแป้นพิมพ์ปัตตะโชติ เปลี่ยนภาษาของเมนูระหว่างภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้ เพิ่มแบบอักษรให้เลือกใช้ได้ 4 แบบ และสามารถพิมพ์สมการทางคณิตศาสตร์ได้[3]
นอกจากนี้ยังมีรุ่นอื่นๆ อีก เช่น ซียูไรเตอร์ฉบับภาษาลาว[7], ซียูไรเตอร์ซึ่งดัดแปลงสำหรับใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ NEC PC-9801 โดยนายวิวัฒน์ วงศ์วราวิภัทร์ และ CW สุขุม ที่ดัดแปลงจากรุ่น 1.52 เพื่อเพิ่มการทำงานสำหรับอักษรเบรลล์ เป็นต้น
ต่อมามีการพัฒนาโปรแกรมซียูไรเตอร์สำหรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (CU-Writer for Windows) ชื่อมีชื่อว่า "จุฬาจารึก"
องค์ประกอบ
[แก้]องค์ประกอบของซียูไรเตอร์ ประกอบด้วย 3 หน่วยหน้าที่หลักดังนี้
- CW.EXE เป็นหน่วยทำหน้าที่หลักของโปรแกรมประมวลคำ
- CUPRINT.EXE เป็นหน่วยทำหน้าที่สนับสนุนด้านการพิมพ์เอกสารทางเครื่องพิมพ์
- CUFONT.EXE เป็นหน่วยทำหน้าที่สนับสนุนด้านการออกแบบตัวอักษร
นอกจากนี้ ในชุดโปรแกรมยังมี LASERP.EXE, LASER-PRINT รุ่น 1.0 รุ่นทดสอบ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ที่ใช้สำหรับเครื่องพิมพ์เอชพี เลเซอร์เจ็ทหรือเครื่องพิมพ์เลเซอร์รุ่นเทียบเท่าได้[8] และ CUPRINT.EXE, CUPRINT รุ่น 1.41 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งสามารถพิมพ์ข้อความขนาด 10 และ 12 ตัวอักษรต่อนิ้ว และใช้กับเครื่องพิมพ์เอชพี เลเซอร์เจ็ท[9]และเครื่องพิมพ์แคนนอน บีเจ-10ได้[10]
โปรแกรมนี้ทำงานบนเอ็มเอสดอสเป็นพื้นฐาน สามารถทำงานได้ในโปรแกรมจำลองเช่น DOSBox และเครื่องเสมือน (VM) ที่ติดตั้งเอ็มเอสดอส
คุณลักษณะเด่น
[แก้]- เมื่อรันโปรแกรม โปรแกรมจะแสดงหน้าต่างรุ่น และเล่นเมโลดี้เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ จนกว่าผู้ใช้จะกดปุ่มใด ๆ จึงเข้าสู่พื้นที่ทำงาน
- เปลี่ยนภาษาแป้นพิมพ์ด้วยปุ่ม F10 เข้าสู่เมนูแบบดรอปดาวน์ด้วยปุ่ม ESC
- ในเอกสารสามารถเลือกชุดฟอนต์ได้หลายชุดพร้อมกันจากทั้งหมดสี่ชุด แต่ละชุดมีสองแบบได้แก่ ตัวตรง และตัวเอน (ส่วนตัวหนาและขีดเส้นใต้จะกระทำขณะรัน) โดยเฉพาะชุดที่สี่ เป็นชุดสำหรับพิมพ์ภาษาต่างประเทศเช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส ลักษณะเหมือนกับชุดที่หนึ่งแต่ต่างกันที่สัญลักษณ์ สามารถแก้ไขฟอนต์ได้ด้วยโปรแกรม CUFONT.EXE
- การเข้ารหัสภาษาในเอกสาร สามารถเลือกเป็นแบบ สมอ. (เทียบเท่า ISO-8859-11) หรือแบบเกษตรได้ แบบเกษตรจะต่างจาก สมอ. ตรงที่ไม่มี ฃ กับ ฅ
- สามารถกำหนดตำแหน่งเอกสาร (bookmark) เพื่อกระโดดไปยังตำแหน่งนั้นทันที สามารถบันทึกได้คราวละ 10 ตำแหน่ง
- สามารถคัดลอกข้อมูลในเอกสารเป็นบล็อกสี่เหลี่ยม เพื่อนำไปวางที่อื่นได้ และคัดลอกข้อมูลข้ามหน้าต่างได้ หาผลรวมข้อมูลในบล็อก สามารถใส่เครื่องหมายจุลภาคแสดงหลักพันได้อัตโนมัติ และสามารถวาดตารางได้โดยใช้วิธีตีเส้นรอบบล็อกที่เลือก
- สามารถสร้างสูตรคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเช่น ตัวยก ตัวห้อย วงเล็บใหญ่ ขีดคร่อม เศษส่วน อินทิเกรต ลิมิต รากที่สอง ค่าสัมบูรณ์ ผลรวม ผลคูณ เรียกใช้โดยพิมพ์ ".M" ที่คอลัมน์แรกตามด้วยคำสั่งต่าง ๆ
- สามารถเลือกหรือไม่เลือกทำการตรวจหลักภาษาไทยได้ (ถ้าไม่เลือกก็จะสามารถพิมพ์วรรณยุกต์ลงบนอักษรอังกฤษได้เป็นอาทิ) สามารถเลือกใช้แป้นพิมพ์เกษมณีหรือปัตตะโชติ เปลี่ยนภาษาของเมนูระหว่างภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้
- สามารถแก้ไขเอกสารได้ 8 ไฟล์พร้อมกัน
- สร้างไฟล์สำรองนามสกุล .bak โดยอัตโนมัติเมื่อทำการบันทึก
- ไม่มีนามสกุลไฟล์ที่เป็นเอกสารซียูไรเตอร์โดยเฉพาะ สามารถตั้งอะไรก็ได้ในรูปแบบชื่อไฟล์ 8.3
อ้างอิง
[แก้]- เดือน สินธุพันธ์ประทุม, สำนวน หิรัญวงษ์. CU Writer : ศึกษาด้วยตนเอง เวอร์ชัน 1.52 และ 1.6. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536.
- ส.อ.บุญเรือน คงเขียว. คู่มือการใช้งาน CU Writer เวอร์ชัน 1.52 และ 1.6. ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2537. ISBN 974-510-276-8
- CU-Writer (http://www.cp.eng.chula.ac.th/~pizzanu/temp/cuwriter.pdf), สืบค้นเมื่อ 2015-09-20
- เอกสารคู่มือ CW.DOC และ CW16.DOC ซึ่งมาพร้อมกับโปรแกรมซียูไรเตอร์ (สาธารณสมบัติ)
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 ส.อ.บุญเรือน คงเขียว, 2537, หน้า 12
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 เดือน สินธุพันธ์ประทุม, สำนวน หิรัญวงษ์, 2536, หน้า 14
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 ส.อ.บุญเรือน คงเขียว, 2537, หน้า 12-13
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 ส.อ.บุญเรือน คงเขียว, 2537, หน้า 13
- ↑ เดือน สินธุพันธ์ประทุม, สำนวน หิรัญวงษ์, 2536, หน้า 15
- ↑ บุญเรือน คงเขียว. CUWRITER เวอร์ชันพิเศษ 1.43 สำหรับภาษาต่างประเทศ. คอมพิวเตอร์ บิซิเนสแมกะซีน 3, 28 (มิ.ย.2534), หน้า 195-199.
- ↑ ดุสิต เลาหสินณรงค์. CU WRITER ฉบับภาษาลาว. คอมพิวเตอร์ทูเดย์ ปีที่ 4, ฉบับที่ 38 (ส.ค.2537). หน้า 125-127.
- ↑ ส.อ.บุญเรือน คงเขียว, 2537, หน้า 301-303
- ↑ ส.อ.บุญเรือน คงเขียว, 2537, หน้า 294-299
- ↑ ส.อ.บุญเรือน คงเขียว, 2537, หน้า 299-300
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- www.cp.eng.chula.ac.th/cww/home.htm ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ดาวน์โหลด ซียูไรเตอร์ รุ่น 1.6 (Nov 30 1993) ที่ mahamodo.com
- ดาวน์โหลด ซียูไรเตอร์ รุ่น 1.6 (Nov 30 1993) ที่ thaiware.com
- ซียูไรเตอร์ รุ่น 1.52, เอกสารคู่มือของโปรแกรมซียูไรเตอร์ และรหัสต้นฉบับของซียูไรเตอร์ รุ่น 1.41 บน ftp.cs.washington.edu
- รหัสต้นฉบับของซียูไรเตอร์ รุ่น 1.41 บน GitHub