เวตาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวิกรมาทิตย์และเวตาล

เวตาล (สันสกฤต: वेताल) เป็นอมนุษย์จำพวกหนึ่ง คล้ายค้างคาวผี ในปรัมปราคติของฮินดู เวตาลอยู่ในจำพวกมรุตคณะ เป็นบุตรนางอทิติ เป็นผู้ตามพระรุทระเป็นเจ้าแลนางภัทรา ดำรงอยู่เป็นภูตที่อาศัยในซากศพผู้อื่นในตอนกลางวัน ศพเหล่านี้อาจใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการเดินทาง เพราะขณะที่เวตาลอาศัยอยู่นั้น ซากศพจะไม่เน่า แต่เวตาลอาจออกจากศพเพื่อหากินในตอนกลางคืน ไปตามหนอง ตามพุ่มไม้ ตามป่ารกแลป่าที่มืดอับ บางทีไปกับลมพายุแลฟ้ามัว เวลาเที่ยวจะเป็นเวลากลางคืนสงัดในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 กล่าวไว้ว่า "เวตาล คือ ผีจำพวกหนึ่ง ชอบสิงอยู่ในป่าช้า"

เวตาลมักจะปรากฏรูปร่างเป็นมนุษย์ แต่มือและเท้าหันกลับไปทางด้านหลัง นัยน์ตาเป็นสีลานแกมเขียว มีเส้นผมตั้งชันทั้งศีรษะ มือขวาถือไม้เท้า มือซ้ายถือหอยสังข์ ขณะเมื่อมาปรากฏตัวจะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีเขียวทั้งชุด นั่งมาบนเสลี่ยง บางคราวก็ขี่ม้า มีภูตบริวารถือคบเพลิงแวดล้อมโดยรอบ และส่งเสียงโห่ร้องกึกก้อง[1]

ลักษณะของเวตาล[แก้]

ลักษณะของเวตาลที่กล่าวถึงในนิทานและตำนานต่างๆ มีต่างกัน ดังนี้

  • กถาสริตสาคร กล่าวว่า "เวตาลมีกลิ่นเหมือนเนื้อโสโครก บินไปบินมา ดำเหมือนกลางคืน แข่งคู่กันกับควันอันเป็นกลุ่มขึ้นจากไฟเผาศพ"
  • นิทานเวตาลของ น.ม.ส. กล่าวว่า รูปร่างคล้ายค้างคาว สูงประมาณ 2 ถึง 3 ฟุต กว้างฟุตครึ่ง หนาตั้งแต่อกถึงหลังครึ่งฟุตถึง 1 ฟุต หางสั้นเหมือนหางแพะ ผมขนหัวยาวแลดก ขนที่ยาวแลยืดเหยียด หัวกลม หน้ารูปไข่ ตากลมแลถลน จมูกยาวเป็นขอเหมือนปากเหยี่ยวปากอ้า แก้มตอบ คางแลขาตะไกรกว้าง ฟันเป็นส้อม แขนแลมือสั้น ขาสั้น ท้องพลุ้ย เล็บคม ปีกมีแรงมาก รูปเป็นค้างคาวตัวใหญ่เกาะห้อยหัวลืมตา สีตาเป็นสีน้ำตาลเจือเขียว ขนสีน้ำตาล หน้าสีน้ำตาล ตัวผอมเห็นโครง เมื่อจับเข้าก็เย็นชืดแลเหนียวคล้าย ๆ งู
  • Penzer, VII บรรยายว่า "มีกายดำชะลูด อีกทั้งมีคอดังอูฐ ใบหน้าละม้ายช้าง แลแข้งขาดุจกระทิง ดวงตาเหมือนนกเค้าแมว"

เวตาลในตำนาน[แก้]

ตามตำนานของชาวฮินดูกล่าวว่าเวตาลนั้นเป็นวิญญาณร้ายที่วนเวียนอยู่ตามสุสาน และคอยเข้าสิงอยู่ในซากศพต่างๆ มันจะทำร้ายมนุษย์ที่เข้าไปรบกวน เหยื่อของเวตาลจะถูกเข้าสิง ทำให้มือและเท้าหันไปข้างหลังเสมอ เวตาลยังทำให้ผู้คนเป็นบ้า ฆ่าเด็ก และแท้งลูก แต่เวตาลยังมีข้อดี คือมันจะคอยดูแลหมู่บ้านของมันเอง

เวตาลนั้นเป็นวิญญาณร้าย คอยทำร้ายบุคคลที่ลูกหลานไม่ยอมทำพิธีศพให้พ่อแม่ ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงถูกกักอยู่ในแดนสนธยา ระหว่างการดำรงอยู่ด้วยชีวิต และการดำรงอยู่หลังมีชีวิต (หลังความตาย) ปิศาจเหล่านี้อาจได้รับอามิสด้วยเครื่องเซ่นหรือถูกขับให้ตกใจด้วยมนตร์ เวตาลอาจหลุดพ้นจากสภาพปิศาจได้หากการทำพิธีศพของตน แต่เมื่อเป็นปิศาจแล้ว ก็ไม่สามารถพ้นจากกฎแห่งเวลาและเทศะ พวกมันจะมีความรู้ประหลาดเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และหยั่งรู้สึกถึงใจตน ดังนั้นหมอผีจำนวนมากจีงพยายามดั้นด้นเสาะหาเวตาล และควบคุมเอาไว้ใช้เป็นทาส

ครั้งหนึ่งหมอผีกราบทูลให้พระเจ้าวิกรมาทิตย์ไปจับเวตาล ซึ่งอาศัยอยู่บนต้นไม้ (ต้นอโศก) ในใจกลางสุสาน วิธีเดียวที่จะจับเวตาลได้ก็คือ ต้องทำอย่างเงียบ ๆ และห้ามปริปากพูดสิ่งใด มิฉะนั้นเวตาลจะหนีกลับไปได้

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่พระเจ้าวิกรมาทิตย์จับเวตาลได้ มันจะหลอกล่อพระองค์โดยเล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะจบด้วยคำถาม และพระองค์ก็อดรนทนไม่ได้ ต้องตอบคำถามนั้นทุกครั้งไป ทำให้เวตาลหนีกลับไปยังต้นไม้ได้ดังเดิม เรื่องราวเกี่ยวกับเวตาลนั้นรวบรวมไว้เรียกว่า "เวตาลปัญจวิงศติ" (หรือ นิทานเวตาล 25 เรื่อง) รวมอยู่ใน หนังสือกถาสริตสาคร ของนักปราชญ์อินเดียชื่อโสมเทวะ

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ศักดิ์ศรี แย้มนนัดดา.(2543). เวตาลปัญจวิงศติ: นิทานเวตาลยีสิบห้าเรื่อง. กรุงเทพฯ:แม่คำผาง
  • ณรงค์กรรณ รอดทรัพย์. 2552. [[ลิงก์เสีย] ภาพลักษณ์ด้านลบของสตรีอินเดียโบราณในนิทานซ้อนนิทานสันสกฤต : มุมมองทางสัญญวิทยา]. การประชุมทางวิชาการ นเรศวรวิจัย ครั้งที่5 2552