เลนส์ใกล้วัตถุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เลนส์ใกล้วัตถุของกล้องจุลทรรศน์

เลนส์ใกล้วัตถุ (object lens หรือ objective) คือ เลนส์ของกล้องชนิดต่าง ๆ เช่น กล้องจุลทรรศน์ กล้องสองตา หรือ กล้องโทรทรรศน์ ที่อยู่ใกล้กับวัตถุที่กำลังสังเกตการณ์อยู่ แสงจากวัตถุจะผ่านเลนส์ใกล้วัตถุก่อนที่จะเข้าสู่ลำกล้อง เลนส์ใกล้วัตถุจะรวมแสงเพื่อสร้างภาพจริงบน ระนาบโฟกัส

สมรรถภาพของอุปกรณ์เชิงแสงนั้นพิจารณาจากประสิทธิภาพของเลนส์ใกล้วัตถุเป็นหลัก ในระบบเชิงแสงที่ได้รับการแก้ไขความคลาดเป็นอย่างดีโดยทั่วไปสมรรถภาพจะถูกกำหนดโดยค่ารูรับแสงเชิงตัวเลขของเลนส์ใกล้วัตถุ

ความคลาดทางทัศนศาสตร์เกิดขึ้นเนื่องจากดรรชนีหักเหของแก้วแตกต่างกันไปตามความยาวคลื่นของแสง หรือเนื่องจากเลนส์มีรูปร่างเป็นผิวทรงกลม เนื่องจากเลนส์นูนที่ทำจากแก้วแผ่นเดียวไม่สามารถให้ภาพที่ชัดเจนได้ เลนส์บางชนิดจึงใช้แก้วพิเศษประกอบกับเลนส์เว้าหรือเลนส์ที่ไม่เป็นผิวทรงกลมที่มีดรรชนีหักเหต่างกัน เพื่อแก้ไขความคลาดเคลื่อน

เลนส์ใกล้วัตถุของกล้องโทรทรรศน์[แก้]

เลนส์ใกล้วัตถุสำหรับกล้องโทรทรรศน์หักเหแสงนั้นนิยมใช้เลนส์ที่ประกอบขึ้นจากเลนส์นูนและเลนส์เว้าซึ่งเรียกว่าเลนส์อรงค์เพื่อขจัดความคลาดสี นอกจากนี้ ยังมีเลนส์ใกล้วัตถุที่แก้ไขความคลาดเคลื่อนจนเกือบจะสมบูรณ์จนถึงส่วนขอบโดยใช้เลนส์กลุ่มหน้าและเลนส์กลุ่มหลัง ทำให้ขนาดรูรับแสงกว้างขึ้นและสามารถสร้างระบบแสงที่สว่างได้

รูรับแสงยังผลของเลนส์ใกล้วัตถุเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความละเอียดและพลังการรวบรวมแสง ค่าความยาวโฟกัสของเลนส์ใกล้วัตถุหารด้วยรูรับแสงเรียกว่าค่าเอฟ และจะส่งผลต่อความสว่างของภาพ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตการณ์ด้วยสายตา ขนาดของค่าเอฟและความสว่างของภาพแทบจะไม่สัมพันธ์กัน โดยทั่วไป เลนส์ใกล้วัตถุที่มีค่าเอฟสูงจะแก้ไขความคลาดต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า กำลังขยายของกล้องโทรทรรศน์คือผลหารของความยาวโฟกัสของเลนส์ใกล้วัตถุหารด้วยความยาวโฟกัสของเลนส์ใกล้ตา