เพลงสุรินทราหู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เพลงสุรินทราหู

ประวัติ[แก้]

  • หนังสือ ฟังและเข้าใจเพลงไทยโดยอาจารย์มนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยกรมศิลปากร และ วิเชียร กุลตัณฑ์ ( สำนักดนตรีไทยพระยาประสานดุริยศัพท์ )ได้อธิบายไว้เกี่ยวกับประวัติเพลงสุริทราหู 3 ชั้น มีความดังนี้

เพลง สุรินทราหู อัตราจังหวะ 2 ชั้นเป็นเพลงเก่าที่มีลีลาไพเราะเย็นๆ หู เพลงหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาใช้บรรเลงรวมอยู่ในเพลงมโหรี ต่อมา สมัยรัตนโกสินทร์จึงนำมาใช้ในการบรรเลงปี่พาทย์ และเรียบเรียงเป็นเพลงเรื่อง เรียกว่า เรื่องสุรินทราหู มี เพลงสุรินทราหู และเพลงจันทราหูเป็นเพลงช้าแล้วออกสองไม้ เพลงกระต่ายชมเดือน และแม่วอนลูก เพลงลูกวอนแม่ เป็นเพลงเร็ว มาถึงราวๆปลายรัชกาลที่ 3 หรือต้นรัชกาลที่ 4 ครูทัต นักร้องและครูวงดนตรีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)ได้เรียบเรียงเพลงสุรินทราหู 2 ชั้นมาแต่งทำนองดนตรีขึ้นเป็นอัตราจังหวะ 3 ชั้นสำหรับบรรเลงรับร้อง

ในส่วนทางร้องท่านนักปราชญ์ในทางคีตศิลป์ก็ได้แต่ทำนองประกอบในรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งนับว่าเป็นเพลงร้องที่ไพเราะน่าฟังอย่างยิ่งเพลงหนึ่ง แต่ทั้งนี้ผู้แต่งทำนองดนตรีและผู้แต่งทำนองร้องไม่ทราบว่าท่านผู้ใด อันวิธีการแต่งทำนองร้องจะให้ไพเราะเพราะพริ้งนั้น จะต้องแต่งให้บทร้องกับทำนองเพลงกลมกลืนกันอย่างสนิทสนมโดยดัดแปลงแก้ไขทำนองเพลงให้เข้ากับบทร้องหรือแก้ไขบทร้องให้เข้ากับทำนองเพลง แล้วแต่จะเห็นว่าจะเกิดความไพเราะเหมาะสม เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าบทร้องต่างๆ จะมีถ้อยคำที่พลิกแพลงแตกต่างไปจากต้นฉบับของเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะบทร้องสุรินทราหูท่านผู้แต่งทำนองร้องได้แก้ไขดัดแปลงบทร้องออกไปจากบทเดิมอย่างมากมาย ซึ่งบทเดิมเป็นบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนนางศรีมาลารำพันถึงพลายงาม อันเป็นลักษณะกลอนสุภาพแต่ท่านผู้แต่งทำนองร้องได้แก้ไขดัดแปลงให้เข้ากับทำนองร้องจนบทร้องกลายเป็นบทกลอนบ้างกาพย์บ้าง ระคนกันแต่อย่างไรก็ตามบทกับทำนองร้องเพลงสุรินทราหูนี้ไพเราะสนิทสนมกลมกลืนกันเป็นอย่างดี

  • หนังสือ สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทยภาคประวัติและบทร้องเพลงเถา ฉบับราชบัณฑิต ปี 2552 ได้อธิบายประวัติและที่มาของทำนองเพลงสุรินทราหู ได้ความว่า

เพลงสุรินทราหู อัตราจังหวะ 2 ชั้นของเก่าสำเนียงมอญประเภทหน้าทับปรบไก่มี 3 ท่อน ท่อนที่ 1 มี 3 จังหวะ ท่อนที่ 2และ 3 มี 4 จังหวะใช้ส่งมโหรีเป็นที่แพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ราวต้นรัตนโกสินทร์ได้มีผู้นำทำนองนี้มาปรับปรุงเรียบเรียงเป็นเพลงเรื่องจัดไว้ในประเภทเพลงช้า เพื่อใช้เป็นเพลงสำหรับวงปี่พาทย์นำออกบรรเลงโดยเฉพาะการนี้ ตามประเพณีนิยมในสมัยการบรรเลงเพลงไทย เมื่อบรรเลงเพลงเรื่องสุรินทราหูแล้วนักดนตรีมักนิยมออกเพลงกระต่ายชมเดือน กระต่ายเต้น กระต่ายกินน้ำค้าง ลูกวอนแม่ และแม่วอนลูกซึ่งเป็นเพลงหน้าทับสองไม้เป็นเพลงเร็วส่งท้ายอีกชุดหนึ่งเสมอ

ส่วนทำนองสุรินทราหู 3 ชั้น หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เคยเล่าว่าครูทัต นักรัองมีชื่อและ ครูดนตรีของวง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ( ช่วง บุญนาค )เป็นผู้เรียบเรียงเพลงดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นคุณานุสรณ์แด่สมเด็จเจ้าพระยาท่านนั้น เช่นเดียวกับที่ พระประดิษฐ์ไพเราะ ( มี ดุริยางกูร )เคยเรียบเรียง เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง เพื่อเป็นคุณานุสรณ์แด่สมเด็จเจ้าพระยาท่านนี้มาครั้งหนึ่งประมาณ พ.ศ. 2476 อันเป็นยุคที่นิยมเพลงเถากันแพร่หลาย หลวงประดิษฐ์ไพเราะได้ตัดเพลงสุรินทราหู อัตรา 3 ชั้นของครูทัต ลงเป็นอัตรา 2 ชั้นและชั้นเดียวเพื่อบรรเลงให้ครบเถา เพลงสุรินทราหูแม้จะดำเนินลีลาไปอย่างไม่สู้จะไม่โลดโผนนัก แต่ก็มีหลายช่วงหลายตอนที่อาจใช้ภูมิปัญญาตกแต่งให้ไพเราะได้ ด้วยเหตุนี้เองตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2485 เป็นต้นมาจึงได้มีผู้นำสุรินทราหู อัตรา 3 ชั้นมาประดิษฐ์เป็นทางเดี่ยวเพื่อใช้บรรเลงอวดฝีมือมากมายหลายทางด้วยกัน เช่น ทางของหลวงไพเราะเสียงซอ ( อุ่น ดูรยะชีวิน )และทางนายเทวาประสิทธ์ พาทยโกศลราว พ.ศ. 2496 หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)ได้ขยายเพลงสุรินทราหู 3 ชั้น อีกเท่าตัวเป็นอัตราจังหวะ 4 ชั้นใช้บรรเลงรับร้องร่วมกับอัตราจังหวะ 2 ชั้นและชั้นเดียวที่มีอยู่แล้วแต่เพลงสุรินทราหูอัตราจังหวะ 4 ชั้นที่ท่านขยายขึ้นในระยะหลังนี้เป็น “ทางโกลน” ยังมิได้ตกแต่งให้วิจิตร เพลงสุรินทราหูอัตราจังหวะ 4 ชั้นเป็นผลงานเพลงชิ้นสุดท้ายของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เพราะหลังจากเรียบเรียงเพลงนี้เสร็จแล้วท่านก็มิได้สร้างผลงานใดอีกเลย จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2497