เทศบาลตำบลกระจับ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทศบาลตำบลกระจับ
ทต.กระจับตั้งอยู่ในจังหวัดราชบุรี
ทต.กระจับ
ทต.กระจับ
ที่ตั้งของเทศบาลตำบลกระจับในประเทศไทย
พิกัด: 13°46′53″N 99°55′08″E / 13.781478°N 99.918925°E / 13.781478; 99.918925
ประเทศ ไทย
จังหวัดราชบุรี
อำเภอบ้านโป่ง
จัดตั้ง12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 (สุขาภิบาล)
25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 (ทต.)
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีมนัส ใจเจน
พื้นที่
 • ทั้งหมด9.1 ตร.กม. (3.5 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2558)
 • ทั้งหมด8,785 คน
 • ความหนาแน่น965.38 คน/ตร.กม. (2,500.3 คน/ตร.ไมล์)
รหัส อปท.05700503
ที่อยู่
สำนักงาน
ถนนเพชรเกษมสายเก่า (สามแยกกระจับ–หนองโพ) เลขที่ 49 หมู่ที่ 9 ตำบลหนองอ้อ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
เว็บไซต์www.krachab.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

เทศบาลตำบลกระจับ เป็นเทศบาลตำบล ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองอ้อ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มีพื้นที่ตั้งอยู่บริเวณตอนใต้ของอำเภอบ้านโป่งห่างจากอำเภอบ้านโป่ง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การปลูกพืชไร่และทำนา ลักษณะภูมิประเทศของเทศบาลตำบลกระจับ มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การปลูกพืชและทำนา มีพื้นที่จำนวน 9.1 ตารางกิโลเมตร มีทางหลวงหมายเลข 4 เดิม (ถนนเพชรเกษมสายเก่า) และทางหลวงหมายเลข 323 (ถนนทรงพล) ตัดผ่าน โดยมีลักษณะพื้นที่ตั้งฉากกับถนนดังกล่าวจากศูนย์กลางถนนข้างละ 500 เมตร มีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 65 กิโลเมตร

ประวัติ[แก้]

เทศบาลตำบลกระจับเดิมมีฐานะเป็น “สุขาภิบาลกระจับ” จัดตั้งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 (ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 80 ตอนที่ 114 หน้า 2626 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506) และต่อมาเปลี่ยนแปลงฐานะจาก “สุขาภิบาลกระจับ” เป็น “เทศบาลตำบลกระจับ” ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาล เป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นมา

ตราสัญลักษณ์ของเทศบาลเป็นรูปพระอาทิตย์ฉายแสงส่องสว่างเหนือบึงกระจับ ซึ่งมีความหมายถึง ประชาชนในเจตเทศบาลตำบลกระจับ ที่มีความสุข ความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญรุ่งเรือง เปรีบบเสมือนกับแสงของพระอาทิตย์ที่ฉายฉานเหนือบึงกระจับ

ปัจจุบันสำนักงานเทศบาลตั้งอยู่ที่ ถนนเพชรเกษมสายเก่า (สามแยกกระจับ – หนองโพ) เลขที่ 49 หมู่ที่ 9 ตำบลหนองอ้อ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี บนเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 94 ตารางวา

การเมืองการปกครอง[แก้]

โครงสร้างและอัตรากำลังในการบริหารงานของเทศบาล ในปัจจุบัน เทศบาลตำบลกระจับประกอบด้วย 2 องค์กร 2 ส่วนที่สำคัญ คือ สภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี

สภาเทศบาล ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จำนวน 12 คน เรียกว่า สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) มีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 4 ปี

นายกเทศมนตรี จำนวน 1 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาล และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาล และลูกจ้างเทศบาล มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรี ซึ่งมิใช่สมาชิกสภาเทศบาลเป็น ผู้ช่วยเหลือในการบริหารราชการของเทศบาล ได้ไม่เกิน จำนวน 2 คน นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งที่ปรึกษานายกเทศมนตรีและเลขานุการนายกเทศมนตรี ซึ่งมิใช่สมาชิกสภาเทศบาล จำนวนรวมกันไม่เกิน 2 คน

นอกจากสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองแล้ว เทศบาลตำบลกระจับยังประกอบด้วยพนักงานเทศบาล และลูกจ้าง ซึ่งได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณของเทศบาลฯ มีหน้าที่รับผิดชอบในงานประจำทั่วไปตามส่วนการงานต่างๆ โดยมีผู้บังคับบัญชาสูงสุด คือ ปลัดเทศบาล เป็นผู้บังคับบัญชารองจากนายกเทศมนตรี และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำของเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่นายกเทศมนตรีมอบหมาย

สถานที่สำคัญ / OTOP[แก้]

  • สวนสาธารณะบึงกระจับ1
  • หลวงพ่ออโนทัย วัดจันทาราม
  • สวนสาธารณะบึงกระจับ

พื้นที่อาณาเขต[แก้]

เทศบาลตำบลกระจับ มีพื้นที่ จำนวน 9.1 ตารางกิโลเมตร มีทางหลวงหมายเลข 4 เดิม (ถนนเพชรเกษมสายเก่า) และทางหลวงหมายเลข 323 (ถนนทรงพล) ตัดผ่าน โดยมีลักษณะพื้นที่ตั้งฉากกับถนนดังกล่าวจากศูนย์กลางถนน ข้างละ 500 เมตร มีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 65 กิโลเมตร

  • ทิศเหนือ ตำบลหนองอ้อ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
  • ทิศใต้ ตำบลหนองอ้อ, ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง และตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
  • ทิศตะวันออก ตำบลสระกระเทียม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
  • ทิศตะวันตก ตำบลหนองอ้อ, ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

ลักษณะภูมิอากาศ[แก้]

ลักษณะภูมิอากาศในรอบปี แบ่งออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม ถึง เดือนมิถุนายน
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม ถึง เดือนตุลาคม
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนกุมภาพันธ์

ในเขตเทศบาลตำบลกระจับ จะมีฝนตกชุกในราวเดือนกันยายน เดือนตุลาคม และจะมีช่วงแล้งมากในระหว่างเดือนมีนาคม และเดือนเมษายนของทุกปี

หมู่บ้าน และประชากร[แก้]

วันที่ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด : 20 กรกฎาคม 2558 รวม 3,329 ครัวเรือน ประชากร 8,785 คน

ตำบลหนองอ้อ ตำบลดอนกระเบื้อง
  • หมู่ 0 (หนองอ้อ) 3 ครัวเรือน
  • หมู่ 3 หัวโป่ง 144 ครัวเรือน
  • หมู่ 4 หนองอ้อ 27 ครัวเรือน
  • หมู่ 5 บ้านสามแยกกระจับ 398 ครัวเรือน
  • หมู่ 9 บ้านหนองกระจ่อย 284 ครัวเรือน
  • หมู่ 10 บ้านหนองตะแคง 516 ครัวเรือน
  • หมู่ 11 บ้านทุ่งน้อย 852 ครัวเรือน
  • หมู่ 13 บ้านโรงข้าวสาร 99 ครัวเรือน
  • หมู่ 14 บ้านหนองเจริญ 264 ครัวเรือน
  • หมู่ 15 บ้นาทุ่งเจริญ 185 ครัวเรือน
  • หมู่ 2 บ้านดอนกระเบื้อง 94 ครัวเรือน
  • หมู่ 4 บ้านดอนกระเบื้อง 345 ครัวเรือน
  • หมู่ 5 บ้านหนองกระถิน 27 ครัวเรือน
  • หมู่ 9 บ้านร่วมใจพัฒนา 91 ครัวเรือน

สถานศึกษา[แก้]

  1. วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก บ้านโป่ง
  2. โรงเรียนวัดจันทาราม
  3. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลกระจับ

ศาสนสถาน[แก้]

  1. วัดจันทาราม
  2. โบสถ์คาทอลิกอัครเทวดามีคาแอล ดอนกระเบื้อง

สภาพทางเศรษฐกิจ[แก้]

สภาพทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางเศรษฐกิจหลักของเทศบาลตำบลกระจับ ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมทางด้านอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันประชากรวัยทำงานในเขตเทศบาลตำบลกระจับประกอบอาชีพรับจ้าง เป็นช่างฝีมือในโรงงานอุตสาหกรรมและเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการต่างๆ ในเขตเทศบาล โดยสถานประกอบการด้านต่างๆ มีดังนี้

สถานประกอบการด้านอุตสาหกรรม แยกตามขนาดการลงทุน ( Capital Intensive ) ได้เป็น 3 ขนาด คือ

  • โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ( เงินลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท ) จำนวน 8 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สิ่งทอ
  • โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง ( เงินลงทุนระหว่าง 10 – 100 ล้านบาท ) จำนวน 35 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร สิ่งทอ โรงงานประเภทแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์กระดาษ โรงสี ขุดตักดิน อู่ต่อรถ และอุตสาหกรรมประดับยนต์ และอื่นๆ
  • โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ( เงินลงทุนต่ำกว่า 10 ล้านบาท ) จำนวน 89 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นอู่ต่อรถ และอุตสาหกรรมประดับยนต์ โรงงานประเภทแปรรูปไม้ และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์กระดาษ โรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ขุดตักดิน โรงสี สิ่งทอ ห้องเย็น และอื่นๆ

สถานประกอบการด้านอุตสาหกรรม แยกตามขนาดจำนวนการจ้างงาน (Labor Intensive ) มีรายละเอียด ดังนี้

  • อู่ต่อรถ จำนวน 71 แห่ง เป็นวิสาหกิจขนาดกลาง 15 แห่ง และขนาดเล็ก 56 แห่ง
  • โรงงานประเภทอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 13 แห่ง เป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ 7 แห่ง ขนาดกลาง 3 แห่ง และขนาดเล็ก 3 แห่ง
  • โรงงานประเภทสิ่งทอ จำนวน 7 แห่ง เป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ 2 แห่ง ขนาดกลาง 3 แห่ง และขนาดเล็ก 2 แห่ง
  • โรงงานประเภทแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์กระดาษ จำนวน 10 แห่ง เป็นวิสาหกิจขนาดกลาง 2 แห่ง และขนาดเล็ก 8 แห่ง
  • โรงสี จำนวน 2 แห่ง เป็นวิสาหกิจขนาดกลาง 1 แห่ง และขนาดเล็ก 1 แห่ง

สถานประกอบการด้านพาณิชยกรรม ( ธุรกิจค้าปลีก ) ได้แก่

  • สถานีบริการน้ำมัน จำนวน 4 แห่ง
  • ห้างสรรพสินค้า จำนวน 2 แห่ง
  • มินิมาร์ท จำนวน 3 แห่ง
  • ร้านค้าทั่วไป จำนวน 50 แห่ง
  • ตลาดนัด จำนวน 5 แห่ง
  • แผงลอย จำนวน 100 แห่ง

สถานประกอบการด้านบริการ

  • โรงแรม จำนวน 2 แห่ง

สถานประกอบการด้านการเงิน/ธนาคาร

  • ธนาคาร จำนวน 7 แห่ง

นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ยังคงประกอบกิจกรรมทางด้านเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา และพืชไร่ (อ้อย) ผลผลิตที่ได้ไม่คงที่ขึ้นอยู่กับสภาพตามฤดูกาล ทำให้ระดับรายได้ไม่แน่นอน สำหรับการปศุสัตว์ ได้แก่ การเลี้ยงโคนม เป็ด ไก่ และสุกร ซึ่งเป็นพื้นที่ประมาณ 3 ใน 10 ของพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร ทั้งนี้ เกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมจะส่งขายน้ำนมดิบแก่สหกรณ์โคนมหนองโพ ( ในพระบรมราชูปถัมภ์ ) โดยปัจจุบัน การเพาะปลูกพืชไร่ในพื้นที่ จะเป็นการปลูกเพื่อเป็นพืชอาหารสัตว์แก่โค และสุกรดังกล่าว

เกษตรกรรม จากพื้นที่ทั้งหมดของเทศบาล จำนวน 5,687.50 ไร่ เป็นเนื้อที่ถือครองทางการเกษตร 3,314.94 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 58.28 ของเทศบาล โดยมีพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ คือ พืชไร่ ได้แก่ ข้าวและอ้อย

สภาพทางสังคม ศาสนาและลักษณะทางวัฒนธรรม[แก้]

สภาพทางสังคม และศาสนา ลักษณะทางสังคม ประชากรในเขตเทศบาลตำบลกระจับมีหลายเชื้อชาติ เช่น ไทย จีน ไทยโยนก (ยวน) โดยประชากรในเขตเทศบาลส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธ คิดเป็นอัตรา ร้อยละ 85 โดยในพื้นที่เทศบาล มีศาสนสถาน จำนวน 1 แห่ง คือ วัดจันทาราม ซึ่งมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ ที่ชาวบ้านโป่ง และประชาชนในพื้นที่อื่นให้ความเคารพอย่างมาก นอกจากนี้ประชาชนในตำบลดอนกระเบื้อง ที่อยู่ในเขตเทศบาลยังนับถือศาสนาคริสต์ โดยมี ศาสนสถาน จำนวน 1 แห่ง คือ โบสถ์คาทอลิกอัครเทวดามีคาแอล ซึ่งศาสนสถานทั้ง 2 แห่ง ในพื้นที่ล้วนมีความเก่าแก่ และเป็นที่เคารพของประชาชนมาอย่างยาวนาน

ลักษณะทางวัฒนธรรม เนื่องจากชุมชนในเขตเทศบาลตำบลกระจับ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ภาคกลาง จึงมีขนบ-ธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมเหมือนกับคนไทยภาคกลางทั่วไป โดยมีการประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญต่างๆ ทางศาสนา เช่น การอุปสมบท วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา ประเพณีลอยกระทง นอกจากนี้ประชากรในพื้นที่มีลักษณะการอยู่อาศัยเป็นครอบครัวใหญ่ และยังมีการรวมตัวกันทางสังคม และวัฒนธรรมประเพณีของชนบางกลุ่มอยู่ รวมถึงความร่วมมือทางด้านสังคม มีการจัดตั้งชุมชนย่อย จำนวน 12 ชุมชน ลักษณะความร่วมมือที่เกิดขึ้นมีแบ่งกลุ่ม และรวมตัวตามลักษณะพื้นที่ ที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกันแบบอัตโนมัติ เช่น มีการรวมตัวกันเพื่อร่วมกิจกรรมทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ การบริจาคโลหิต หรือการทำกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญ ทางศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ เป็นต้น

การบริการพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ[แก้]

การคมนาคม การจราจร การคมนาคมขนส่งในเขตเทศบาลใช้ยานพาหนะทางบกเป็นหลัก โดยมีเส้นทางคมนาคมสายสำคัญ จำนวน 2 สาย ดังนี้

  • ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) เป็นเส้นทางสายหลักติดต่อระหว่างจังหวัดในภาคกลางไปยังภาคใต้ ผ่านอำเภอบ้านโป่ง โพธาราม บางแพ เมืองราชบุรีและ ปากท่อ ต่อไปยังจังหวัดเพชรบุรีและภาคใต้
  • ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 323 (บ้านโป่ง – กาญจนบุรี) แยกจากถนน เพชรเกษม บริเวณกิโลเมตรที่ 66 ผ่านบ้านโป่ง ท่ามะกา ท่าม่วง แล้วไปยังจังหวัดกาญจนบุรี

จากการที่พื้นที่ในเขตเทศบาล เป็นบริเวณเขตติดต่อระหว่างอำเภอและจังหวัด ที่เป็นย่านชุมชนและเศรษฐกิจที่สำคัญ (อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี อำเภอท่ามะกา อำเภอท่าเรือ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอเมืองนครปฐม อำเภอกำแพงแสน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม) จึงทำให้มีประชาชนที่เดินทางผ่านหรือเข้ามาติดต่อทำกิจธุระในเขตเทศบาล หรือใช้เส้นทางในเขตเทศบาลเป็นทางผ่านจำนวนมากประกอบกับมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นระยะๆ จึงทำให้การจราจรบนถนนประสบปัญหาการติดขัดและเกิดอุบัติเหตุ อยู่บ้าง โดยเฉพาะบริเวณทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 323 ในช่วงเปลี่ยนกะงานของพนักงานโรงงาน ( ช่วงบ่ายและช่วงเที่ยงคืน )

การขนส่งผู้โดยสาร ปัจจุบันในเขตเทศบาล การคมนาคมทางรถยนต์มีความสะดวกและเป็นที่นิยมที่สุด โดยเฉพาะการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล ได้แก่ รถยนต์และรถจักรยานยนต์ สำหรับการเดินทางระหว่างอำเภอใกล้เคียง ได้แก่

  • รถโดยสารสาธารณะประจำทาง ให้บริการจำนวน 2 สาย คือ บ้านโป่ง – โพธาราม และสายกาญจนบรี – ราชบุรี ผ่านเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 และมี
  • รถโดยสารปรับอากาศและรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ผ่านทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 323 ได้แก่ กรุงเทพฯ – กาญจนบุรี ( ปรับอากาศ ) , กรุงเทพฯ – บ้านโป่ง , บ้านโป่ง – ราชบุรี , ราชบุรี - กาญจนบุรี
  • รถตู้บริการ ได้แก่ กรุงเทพฯ ( ปิ่นเกล้า ) – บ้านโป่ง และ กรุงเทพฯ ( อนุสาวรีย์ / หมอชิต ) – กาญจนบุรี

การประปา การดำเนินกิจการประปาในเขตเทศบาล อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลกระจับ มีจำนวนผู้ใช้น้ำประปาในเขตเทศบาลรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,887 ราย (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2557)

การไฟฟ้า การดำเนินการเกี่ยวกับไฟฟ้าให้กับประชาชนในเขตเทศบาลอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าภูมิภาค อำเภอบ้านโป่ง (ซึ่งมีพื้นที่ความรับผิดชอบครอบคลุมทั่วอำเภอ) โดยการไฟฟ้าได้ดำเนินการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปที่อยู่ตามบ้านเรือน สถานธุรกิจ อุตสาหกรรมต่าง ๆ และหน่วยงานราชการ

การสื่อสารและโทรคมนาคม เขตเทศบาลตำบลกระจับ ถือเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่หลากหลาย ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม บริษัท ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และโรงแรม ระบบโทรคมนาคม จึงเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อกิจกรรมทางธุรกิจดังกล่าว

  • การบริการด้านโทรศัพท์ในชุมชนเทศบาล ปัจจุบันประชาชนสามารถใช้บริการระบบโทรศัพท์พื้นฐานและระบบสื่อสารไร้สาย ( โทรศัพท์เคลื่อนที่ ) ในรูปแบบโทรศัพท์ส่วนบุคคลและโทรศัพท์สาธารณะได้จากผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม ได้แก่ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) TOT Corporation Public Company Limited และบริษัท ที ที แอนด์ ที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) CAT Telecom Public Company Limited ซึ่งสามารถให้บริการด้านโทรศัพท์ได้ครอบคลุมทั้งเขตเทศบาล โดยบริการดังกล่าวยังรวมถึงบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ บริการสื่อสารข้อมูลและบริการอินเทอร์เน็ต
  • การบริการด้านไปรษณีย์ ในเขตเทศบาลที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข จำนวน 1 แห่ง

นอกจากนี้ในเขตเทศบาล ยังมีหอกระจายข่าวและวิทยุชุมชนที่เป็นช่องทางการสื่อสาร ที่สามารถตอบสนองการสื่อสารเพื่อชีวิตชุมชน เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ โดยมีวิทยุชุมชนที่ส่งกระจายเสียงประมาณ 10 คลื่นความถี่ และมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ( ที่มีการจำหน่ายและรับบริการด้านการประชาสัมพันธ์ในเขตเทศบาลตำบลกระจับ) ได้แก่ เสียงมวลชน ข่าวภาค 7 พลังชน สื่อตะวันตก สื่อจักรีราช นิวชาวไทย ฯลฯ

การสาธารณสุข สถานพยาบาลในเขตเทศบาลตำบลกระจับ ประกอบด้วย

โดยที่สามารถรองรับความต้องการใช้บริการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างพอเพียง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่หากเจ็บป่วยจะเดินทางไปรับการรักษาในอำเภอบ้านโป่ง ซึ่งมีโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงคลินิกเอกชนมากมายหลายแห่ง เพราะมีระยะทางห่างจากเขตเทศบาลตำบลกระจับเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น

การดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัย ดำเนินการโดยฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีรถดับเพลิง 1 คัน หัวท่อประปาข้างถนนสำหรับต่อสายสูบน้ำดับเพลิง จำนวน 11 จุด

การกำจัดขยะ เทศบาลดำเนินการจัดเก็บขยะภายในเขตเทศบาล และนำส่ง หจก.คุณธรรมขนส่ง เป็นผู้กำจัดโดยวิธีการฝังกลบ บนพื้นที่ 18 ไร่ 3 งาน เลขที่ 39/1 หมู่ 17 ตำบลปากแรต อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

กีฬา นันทนาการ และการพักผ่อน เทศบาลตำบลกระจับมีลานกีฬาเพื่อให้ประชาชนและเยาวชนได้มาออกกำลัง เล่นกีฬา จำนวน 3 แห่ง คือ ลานกีฬาบ้านโพธิ์เจริญ ลานกีฬาชุมชนหัวโป่ง สนามกีฬาของโรงเรียน วัดจันทาราม และสวนสาธารณะบึงกระจับ ซึ่งสามารถใช้เป็นสถานที่เล่นกีฬาได้หลายประเภท เช่นฟุตบอล วอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล ตะกร้อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้งไว้สำหรับบริการประชาชน จำนวน 12 แห่ง กระจายไว้ในชุมชนในเขตเทศบาล ตำบลกระจับ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย

เทศบาลตำบลกระจับ ยังมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ จำนวน 1 แห่ง คือ สวนสาธารณะบึงกระจับ หมู่ที่ 11 ตำบลหนองอ้อ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถใช้เป็นสถานที่สำหรับการทำนันทนาการ และการพักผ่อน ออกกำลังกายยามว่าง

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]