เซียนแปะโรงสี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพเคารพของเซียนแปะโรงสี ด้านล่างภาพท่านคือภาพจำลองของยันต์ฟ้าประทานพร

เซียนแปะโรงสี (28 สิงหาคม พ.ศ. 2441 — 16 มกราคม พ.ศ. 2527) หรือ อาจารย์โง้ว กิมโคย หรือชื่อขณะยังมีชีวิต นที ทองศิริ และ กิมเคย แซ่โง้ว เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีความเชี่ยวชาญด้านพิธีกรรม ความเชื่อจีนและฮวงจุ้ย[1] ท่านอาศัยและประกอบธุรกิจโรงสีอยู่ในจังหวัดปทุมธานี หลังท่านเสียชีวิตลงได้รับการยกขึ้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และได้รับการเคารพนับถือในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวไทยแท้ในกรุงเทพมหานครและปทุมธานี ท่านเป็นที่รู้จักจากความศักดิ์สิทธิ์ในทางปลดหนี้ การค้า และกันภัย และจาก "ยันต์ฟ้าประทานพร"[2] ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัวของท่านซึ่งได้รับการเคารพบูชาในหมู่นักธุรกิจไทยแท้และนักธุรกิจที่มีเชื้อสายจีน

ประวัติ[แก้]

นามเดิมของท่านคือ นายกิมเคย แซ่โง้ว เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน เกิดที่ตำบลเท้งไฮ้ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2441 เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเมื่ออายุได้ราว 10 ปี ต่อมาประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าข้าวเปลือก เมื่อตั้งตัวได้จึงร่วมหุ้นก่อตั้งโรงสีข้าวบริเวณปากคลองบางโพธิ์ล่าง ปัจจุบันคือตำบลบางเดื่อ อำเภอเมืองปทุมธานี เมื่ออายุได้ 22 ปี ท่านได้สมรสกับนางนวลศรี เอี่ยมเข่ง มีบุตรธิดารวม 10 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก 4 คน หลังจากนั้นท่านได้ตั้งกิจการโรงสีของตนเองบริเวณปากคลองเชียงราก ใกล้กับวัดศาลเจ้า พร้อมทั้งได้รับสัญชาติไทย และเปลี่ยนชื่อเป็นนายนที ทองศิริ ท่านมีความสำคัญมากต่อการดำเนินงานของวัดศาลเจ้า[3] บูรณะซ่อมแซม และจัดการพิธีกรรมต่าง ๆ ในงานสำคัญของศาลเจ้าตั้งแต่ยังเป็นเพียงอาคารไม้เก่า ๆ ในหลายครั้งท่านได้แสดงปาฏิหารย์ในพิธีกรรมต่าง ๆ จนเป็นที่เชื่อกันว่าท่านเป็นบุคคลที่ "มีองค์" คือองค์ "ทีกง" ประทับในตน ส่วนผ้ายันต์นั้นจะเรียกว่า "เทียน กัว สื่อ ฮก" แปลได้ว่า เหล่าทวยเทพบนสวรรค์ชั้นฟ้าประทานพรให้มีโชคลาภความสุข นอกจากนี้ท่านเป็นผู้มีเมตตาชอบช่วยเหลือและให้คำปรึกษาด้านความเชื่อจีน จึงทำให้มีผู้ศรัทธาทั่วไป ท่านเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2527 ด้วยวัย 85 ปี ที่โรงพยาบาลพญาไท ปัจจุบันศาลเจ้าของท่านตั้งอยู่ศาลานที ทองศิริ ภายในวัดศาลเจ้า[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "เซียนแปะโรงสี (อ.โง้ว กิมโคย)ฆราวาสเชื้อสายจีนขมังเวทย์". คมชัดลึก. 8 กุมภาพันธ์ 2559. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. อ.วันชัย บ้านเมือง พระเครื่อง (28 กรกฎาคม 2562). "'ฉี หมื่นเฮง'คนแรกปลุกกระแสเซียนแปะโรงสี "ยันต์ฟ้าประทานพร"". บ้านเมือง พระเครื่อง. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. คอลัมน์พระเครื่อง (22 มิถุนายน 2561). "วัตถุมงคล "เซียนแปะโรงสี" รุ่นที่รฤก120ปี-ชาตกาล". ข่าวสด. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)