เจ้าจันทรา ซิมส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จันทรา ซิมส์
เจ้าจันทาราว พ.ศ. 2477
ประสูติ20 ตุลาคม พ.ศ. 2471 (95 ปี)
ยองห้วย รัฐยองห้วย (ในอารักขาของบริติช)
พระภัสดาปีเตอร์ ซิมส์ (พ.ศ. 2499–2545)
ราชวงศ์ยองห้วย
พระบิดาเจ้าฟ้าส่วยแต้ก
พระมารดานางจันทา
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
ศิษย์เก่าวิทยาลัยเกอร์ตัน (เคมบริดจ์)
(ศศ.บ., ศศ.ม.)

เจ้าจันทรา, จันทา, ซานดา (พม่า: စဝ်စန္ဒာ) หรือ เจ้านางเมียะซานดา (စောနန်းမြစန္ဒာ) ต่อมาคือ จันทรา ซิมส์ หรือ ซานดา ซิมส์ (อังกฤษ: Sanda Simms; ประสูติ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2471) เป็นเจ้าหญิงพระองค์สุดท้ายแห่งรัฐยองห้วย[1] หนึ่งในรัฐเจ้าฟ้าไทใหญ่ซึ่งปัจจุบันถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่า พระองค์เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ของเจ้าฟ้าส่วยแต้ก ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศพม่า

เจ้าจันทรามีชื่อเสียงจากการเป็นนักข่าวของสำนักข่าวรอยเตอส์ พระองค์เสกสมรสกับปีเตอร์ ซิมส์ และมีพระนิพนธ์ร่วมกับพระภัสดาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ จันทราเทวี ความทรงจำจากรัฐฉาน (The Moon Princess: Memories of the Shan States) ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2551 บอกเล่าเรื่องราวความวุ่นวายภายในประเทศพม่า พระประวัติส่วนพระองค์ และพระประวัติของเจ้าฟ้าส่วยแต้ก พระบิดาผู้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของพม่าหลังได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร[2]

พระประวัติ[แก้]

เจ้าจันทราประสูติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2471 เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในเจ้าฟ้าส่วยแต้ก ประสูติกับนางจันทา บาทบริจาริกา ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเมทอดิสต์อเมริกัน (American Methodist School) เมืองกาดล้อ เจ้าจันทราได้ตามเสด็จพระบิดาขณะประกอบพระกรณียกิจตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยเจ้าจันทราตามเสด็จเจ้าฟ้าส่วยแต้กเพื่อร่วมประชุมสนธิสัญญาปางโหลง เมื่อ พ.ศ. 2490[1] และในปีเดียวกันนั้น เจ้าจันทราได้ตามเสด็จเจ้าฟ้าส่วยแต้กและเจ้านางเฮินคำไปในพระราชพิธีอภิเษกสมรสของมกุฎราชกุมารีเอลิซาเบธ[3] เจ้าจันทราทรงสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) เมื่อ พ.ศ. 2496 และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (เกียรตินิยม) เมื่อ พ.ศ. 2499 จากวิทยาลัยเกอร์ตัน (เคมบริดจ์) สหราชอาณาจักร[2]

เจ้าจันทราเสกสมรสกับปีเตอร์ ซิมส์ ซึ่งเป็นนักข่าวที่กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2499[4] หลังจากนั้นพระองค์นิวัตกลับประเทศพม่า ประกอบกิจเป็นผู้ประกาศข่าวและวิเคราะห์ข่าวให้กับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพพม่า (Burma Broadcasting Service) เป็นระยะเวลาสี่ปี ส่วนปีเตอร์ ซิมส์ ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยร่างกุ้ง[5] กระทั่งเกิดเหตุรัฐประหารในประเทศพม่า พ.ศ. 2505 ทั้งสองจึงลี้ภัยออกนอกประเทศ[6] ในเหตุครั้งนั้นเจ้าฟ้าส่วยแต้กถูกสภาปฏิวัติสหภาพของนายพลเนวินควบคุมตัว ส่วนพระอนุชาชื่อ มีมี หรือ หมี[7] ถูกลอบปลงพระชนม์ในพระชันษา 17 ปี ซึ่งดูเหมือนจะเป็นผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียวจากการปฏิวัติดังกล่าว[8] ส่วนเจ้าฟ้าส่วยแต้กหลังถูกควบคุมตัวในเรือนจำได้ 18 เดือนก็พิราลัยลง[7] เบื้องต้นเจ้าจันทราและพระสวามีย้ายไปตั้งหลักอยู่ที่ประเทศลาว จากนั้นพระองค์ได้ทรงงานเป็นนักข่าวในหลายประเทศ ตั้งแต่ประเทศไทย ประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง ประเทศแคนาดา และประเทศโอมาน หลังจากนั้นทรงย้ายครอบครัวไปประทับที่ประเทศฝรั่งเศส และย้ายไปประทับที่สหราชอาณาจักรเป็นที่สุด เจ้าจันทราและสามีเริ่มพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา จนกระทั่งปีเตอร์จากไปใน พ.ศ. 2545 เจ้าจันทราได้ตีพิมพ์หนังสือ จันทราเทวี ความทรงจำจากรัฐฉาน (The Moon Princess: Memories of the Shan States) ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2551 ซึ่งถูกแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาพม่าใน พ.ศ. 2557[9]

เจ้าจันทราแห่งรัฐยองห้วย และเจ้านวลอู๋แห่งรัฐลอกจอก เป็นผู้ร่วมประชุมสนธิสัญญาปางโหลง เพียงสองพระองค์เท่านั้นที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ใน พ.ศ. 2565[1] ซึ่งเจ้านวลอู๋มีพระนิพนธ์อัตชีวประวัติส่วนพระองค์ในหนังสือ My Lost World[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "ပင်လုံညီလာခံတက်ခဲ့တဲ့ စော်ဘွားသမီး "Daughters of Saopha who attended the Panglong Conference"". BBC News မြန်မာ (ภาษาพม่า). 2022-02-13. สืบค้นเมื่อ 2022-12-04.
  2. 2.0 2.1 Sanda, Sao (2008). The Moon Princess: Memories of the Shan States (ภาษาอังกฤษ). River Books. ISBN 978-974-9863-37-4.
  3. "ကိုလိုနီယားနာနှင့် အဆောင်အယောင် နိုင်ငံရေး". BNI (ภาษาพม่า). สืบค้นเมื่อ 2022-12-06.
  4. "St. Lucie News Tribune 10 Dec 2002, page 9". Newspapers.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-12-06.
  5. Simms, Sao Sanda (2017-08-09). AHP 48 GREAT LORDS OF THE SKY: BURMA'S SHAN ARISTOCRACY (ภาษาอังกฤษ). Asian Highlands Perspectives.
  6. "ဗြိတိသျှ-မြန်မာ ရွှေလမ်းငွေလမ်းနဲ့ ခယောင်းလမ်း". BBC News မြန်မာ (ภาษาพม่า). สืบค้นเมื่อ 2022-12-04.
  7. 7.0 7.1 สกุณา ประยูรศุข. เจ้าหาญ ยองห้วย เจ้าฟ้าไทยใหญ่รุ่นสุดท้าย กู้ชาติด้วยประชาธิปไตย. [ม.ป.ท.] : มติชนรายวัน 31:(11194), 2 พฤศจิกายน 2551. หน้า 2.
  8. Donald M. Seekins (2006). Historical Dictionary of Burma (Myanmar). Rowman & Littlefield. pp. 410–411. ISBN 9780810854765.
  9. Linn, Hsu Wai (2017-02-17). "ဒီတပတ်ဖတ်စရာ". ဧရာဝတီ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2022-12-04.