อเมริกันฟุตบอล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อเมริกันฟุตบอล
แลร์รี ฟิตซ์เจอรัลด์ (ใส่ชุดน้ำเงิน) จับลูกฟุตบอล ในขณะที่คอร์ตแลนด์ ฟินนิแกน (ในชุดแดง) กำลังป้องกันลูกใน2009 Pro Bowl.
สมาพันธ์สูงสุดInternational Federation of American Football
ชื่ออื่น
เล่นครั้งแรก6 พฤศจิกายน ค.ศ.1869
นิวเบิร์นส์วิก, รัฐนิวเจอร์ซีย์, ประเทศสหรัฐ
(พรินซ์ตัน พบกับ รัทเกอร์ส)
ลักษณะเฉพาะ
การปะทะเต็มรูปแบบ
ผู้เล่นในทีม11 (ทั้งสองทีมอาจจะเปลี่ยนผู้เล่นได้ในช่วงพัก)
หมวดหมู่
อุปกรณ์
สถานที่สนามฟุตบอล (สี่เหลี่ยมผืนผ้า: ยาว 120 ยาร์ด, กว้าง 53 1/3 ยาร์ด)
อภิธานGlossary of American football
จัดแข่งขัน
ประเทศ ภูมิภาคทั่วโลก
โอลิมปิกไม่ (ทดสอบในโอลิมปิกฤดูร้อน 1932)[1]
เวิลด์เกมส์ใช่ (ถูกเข้าร่วมในปีค.ศ.2005 และค.ศ.2017).
กีฬาอเมริกันฟุตบอลในช่วงก่อนเริ่มเทิร์น ทั้งสองฝ่ายจะเตรียมพร้อมในแนวหน้ากระดาน
ลูกอเมริกันฟุตบอล รูปร่างกลมรี ปลายแหลม และโดยทั่วไปจะมี แนวตะเข็บด้ายขนาดใหญ่อยู่ที่ด้านหนึ่ง

อเมริกันฟุตบอล (อังกฤษ: American football) เป็นกีฬาประเภททีมที่นิยมมากที่สุดในสหรัฐ จุดมุ่งหมายของการแข่งขันคือแต่ละทีมจะต้องพยายามเคลื่อนลูกบอลเข้าไปสู่ เขตปลายสุดสนาม หรือที่เรียกว่าเอนด์โซนของฝ่ายตรงข้าม การเคลื่อนนั้นสามารถกระทำได้โดย การถือลูกวิ่ง และ การขว้างลูกไปให้เพื่อนร่วมทีม การทำคะแนนสามารถทำได้หลายวิธีคือ การถือลูกวิ่งผ่านเส้นเขตประตู การขว้างลูกไปให้เพื่อนร่วมทีมที่อยู่ในเขตสนามหลังเส้นประตู หรือ การแตะประตู โดยการเตะลูกที่มีเพื่อนร่วมทีมจับตั้งกับพื้นสนามให้ผ่านระหว่างเสาประตู (goalposts หรือ uprights) หลังจากหมดเวลาการแข่งขันทีมที่ได้คะแนนสูงกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ

ในสหรัฐและประเทศแคนาดา เรียกกีฬาประเภทนี้ว่า "ฟุตบอล (football) " (ในขณะเดียวกันเรียกฟุตบอล ว่า ซอคเกอร์) ในบางประเทศเรียกอเมริกันฟุตบอลว่า "กริดไอเอิร์นฟุตบอล (grid-iron football) " อเมริกันฟุตบอลนั้นเริ่มมีการพัฒนาแยกตัวออกมาจาก รักบี้ฟุตบอล ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อรีนาฟุตบอล หรือ ฟุตบอลในร่ม เป็นกีฬาที่ดัดแปลงมาจากอเมริกันฟุตบอล

เกมการแข่งขัน[แก้]

อเมริกันฟุตบอล มีลักษณะของการแข่งขันที่ไม่ต่างไปจาก กีฬาฟุตบอล ประเภทอื่นๆ โดยจุดประสงค์ของเกมจะเป็น การพาบอลเคลื่อนที่ ไปยังปลายสนามของคู่แข่งขัน และ ทำคะแนนให้ได้มากกว่าทีมคู่แข่ง ภายในเวลาที่กำหนด

สนาม และ ผู้เล่น[แก้]

ตัวเลขบนสนามแสดงระยะเป็นหลาจากเอนด์โซนที่อยู่ใกล้ (เอนด์โซนคือบริเวณสีเขียวเข้มที่ปลายสองข้าง)

สนามอเมริกันฟุตบอล มีรูปร่างเหมือน ตะแกรงโลหะที่ใช้ในการปิ้งย่าง จึงมักจะถูกเรียกว่า กริดไอรอน (gridiron) ขนาดของสนามแข่งขัน ยาว 120 หลา หรือ 110 เมตร และ กว้าง 53-1/3 หลา หรือ 49 เมตร เส้นขอบตามแนวยาวของสนามเรียก เส้นข้าง หรือ ไซด์ไลน์ (sideline) ส่วนเส้นขอบตามแนวกว้างเรียก เส้นสุดสนาม หรือ เอนด์ไลน์ (end line) ถัดจากเส้นสุดสนามทั้งสองคือ เส้นประตู หรือ โกลไลน์ (goal line) ระยะระหว่างเส้นประตูทั้งสองข้างคือ 100 หลา (91 เมตร) บริเวณจากเส้นประตูถึงสุดสนาม ซึ่งมีระยะ 10 หลา (9.1 เมตร) เรียก เอนด์โซน (end zone)

เส้นบอกหลา หรือ ยาร์ดไลน์ (yard line) จะลากตัดสนามทุกๆ ระยะ 5 หลา และ มีตัวเลขบอกระยะจากเส้นประตู ทุกๆ 10 หลา จนถึง เส้น 50 หลา ซึ่งเป็นเส้นแบ่งกลางสนาม ส่วนเส้นประสองเส้นกลางสนามที่ขนานกับเส้นข้าง เรียกว่า เส้นประ หรือ แฮชมาร์ก (hash mark) การเริ่มเล่นทุกครั้ง ลูกฟุตบอลจะต้องวางในตำแหน่งเริ่มบนเส้นประ หรือ ระหว่างเส้นประนี้

ด้านหลังของเอนด์โซนทั้งสองด้าน จะมีเสาประตู ซึ่งเป็นเสาสองเสา ห่างกัน 18.5 ฟุต เชื่อมต่อกันด้วยคานแนวนอน สูงจากพื้น 10 ฟุต (3 เมตร) การเตะประตูทำคะแนนจะต้องเตะให้ลูกลอยผ่านระหว่าง เสาทั้งสองข้าง และ สูงกว่าคาน

ในการเล่นแต่ละครั้ง แต่ละฝ่ายจะมีผู้เล่นในสนามฝ่ายละ 11 คน โดยสามารถสลับเปลี่ยนผู้เล่นได้ ตามแต่สถานการณ์ ซึ่งแต่ละทีมใน เอ็นเอฟแอล จะมีผู้เล่นในทีม 53 คน และจะแบ่งออกเป็น ทีมรุก (offensive team) ทีมรับ (defensive team) และ ทีมพิเศษ (special team)

เวลาการแข่งขัน[แก้]

ระยะเวลาการแข่งขันแบ่งเป็น 2 ครึ่ง แต่ละครึ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 15 นาที เรียกว่า ควอเตอร์ (Quarter) รวมเป็นเวลาแข่งขัน 60 นาที และ มีช่วงเวลาพักครึ่งระหว่าง ควอเตอร์ที่ 2 และ ควอเตอร์ที่ 3 เป็นเวลา 10 นาที ทว่าในการเล่นแต่ละครั้งอาจจะมีการหยุดเวลาหลังการเล่นเมื่อลูกตาย ดังนั้นเวลาที่ใช้ในการแข่งขันจริงโดยปกติจะยาวนานกว่า 3 ชั่วโมง ในการแข่งขันเอ็นเอฟแอล หากมีคะแนนเสมอกันหลังจบเวลาการแข่งขันปกติ จะมีการต่อเวลาการแข่งขันออกไปอีก 10 นาที การตัดสินว่าทีมใดจะครองลูกครั้งแรกใช้การเสี่ยงเหรียญทาย ทีมแรกที่สามารถทำคะแนนได้จะเป็นฝ่ายชนะทันที แต่ถ้าหากไม่มีทีมใดทำคะแนนได้ใน 10 นาทีนี้ ถ้าเป็นการแข่งขันในฤดูกาลปกติการแข่งขันนัดนั้นจะตัดสินผลเป็นเสมอกัน แต่ถ้าหากเป็นการแข่งขันเพลย์ออฟ จะต่อเวลาไปอีกครั้งละ 15 นาที จนกว่าจะมีทีมใดทีมหนึ่งทำคะแนนได้

ในปัจจุบัน เอ็นเอฟแอลได้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกฎกติกาการแพ้-ชนะในช่วงต่อเวลาเป็นดังนี้

  • หากทีมที่ได้บุกก่อนทำทัชดาวน์ได้จะเป็นฝ่ายชนะทันที แต่ในขณะเดียวกันทีมที่ได้บุกก่อนจะเป็นฝ่ายแพ้ทันทีเมื่อเสียคะแนนในขณะเป็นทีมบุก ไม่ว่าจะเป็นเสียเซฟตี้, ถูกฝ่ายตรงข้ามอินเตอร์เซ็ปต์แล้ววิ่งย้อนกลับไปทำทัชดาวน์ได้ หรือเกิดฟัมเบิ้ลแล้วฝ่ายตรงข้ามเก็บลูกวิ่งย้อนกลับไปทำทัชดาวน์ได้
  • ในกรณีทีมที่ได้บุกก่อนทำได้เพียงแค่ฟิลด์โกล การแข่งขันจะคงดำเนินต่อไปโดยอีกทีมจะได้เป็นฝ่ายบุก หากทำทัชดาวน์ได้จะเป็นฝ่ายชนะทันที แต่ถ้าทำคะแนนไม่ได้ก็จะเป็นฝ่ายแพ้เช่นกัน
  • ในกรณีทีมที่ได้บุกก่อนทำคะแนนไม่ได้ หรือการบุกครั้งแรกของแต่ละทีมทำได้เพียงแค่ฟิลด์โกลทั้งคู่ ในการบุกครั้งต่อๆไป หากทีมใดทำคะแนนได้ก่อนจะเป็นฝ่ายชนะทันที

การขอเวลานอก[แก้]

แต่ละทีมมีสิทธิ์ขอเวลานอกครึ่งละสามครั้ง โดยการขอเวลานอกทำโดยการส่งสัญญาณมือให้ผู้ตัดสินทราบ การขอเวลานอกกระทำได้ทั้งโดยหัวหน้าผู้ฝึกสอนหรือผู้เล่นในสนาม อนึ่ง หากมีการต่อเวลา แต่ละทีมจะสามารถขอเวลานอกได้สองครั้งในช่วงฤดูกาลปกติ ส่วนในรอบเพลย์ออฟจนถึงซูเปอร์โบวล์นั้นแต่ละทีมสามารถขอเวลานอกได้ทีมละสามครั้ง

การเตะเปลี่ยน หรือ คิกออฟ (kickoffs)[แก้]

เป็นการเตะลูกให้ฝ่ายตรงข้ามเริ่มเล่นเป็นฝ่ายรุก โดยจะมีการเตะเปลี่ยนตอนเริ่มเกม ตอนเริ่มครึ่งหลัง (หลังจากพักครึ่งเวลา) และหลังจากที่ทำคะแนนได้จากการทัชดาวน์ หรือ การเตะประตู โดยทีมที่ทำคะแนนได้จะเตะเปลี่ยนให้ทีมคู่แข่งได้เป็นฝ่ายรุก ในการเตะลูกจะวางอยู่บนที่วางลูก ที่ตำแหน่งเส้น 35 หลาในฝั่งของตัวเอง ผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม จะรับลูกที่เตะไปให้และวิ่งย้อนกลับมาให้ได้ระยะมากที่สุด จุดที่ผู้ถือลูกสวนกลับมาถูกหยุดจะเป็นจุด ที่ทีมรุกของฝ่ายนั้นเริ่มเล่น ถ้าผู้รับลูกรับลูกที่เตะมาในเขตเอนด์โซนของตน ผู้เล่นนั้นสามารถเลือกที่จะวิ่งพาลูกสวนกลับไป หรือ ทำการ ทัชแบค (touchback) โดยการคุกเข่ากับพื้นสนามในเขต endzone ของฝ่ายตัวเอง และทีมรุกจะได้เริ่มเล่นที่เส้น 25 หลา

การรุกคืบ[แก้]

การรัช
การพาส

การรุกคืบในอเมริกันฟุตบอล กระทำโดยการพาลูกรุกคืบไปยังปลายสนามของฝ่ายตรงข้าม ทีมรุก (offense) คือทีมที่ได้ครอบครองลูก และ มีโอกาสเล่น 4 ครั้ง เรียก ดาวน์ (down) เพื่อพาลูกรุกคืบไปยังแดนของฝ่ายตรงข้าม ให้ได้ระยะทาง 10 หลา เมื่อทีมรุกพาลูกรุกคืบไปได้ระยะทางมากกว่า 10 หลา ก็จะกลับไปเริ่มนับ ดาวน์ที่หนึ่ง (first down) เพื่อรุกคืบให้ได้ 10 หลาใหม่ หากทีมรุกไม่สามารถรุกคืบหน้าได้เป็นระยะทาง 10 หลาใน 4 ดาวน์ คือ ไม่สามารถกลับไปเริ่มดาวน์ที่หนึ่งใหม่ได้ ทีมนั้นก็จะสูญเสียการครอบครองลูกให้ฝ่ายตรงข้ามได้เล่นเป็นฝ่ายรุกบ้าง

การ สแนป (snap) เป็นการเริ่มเล่น ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะเรียงตัวหันหน้าเข้าหากัน ที่ เส้นแบ่งแดน (line of scrimmage) ซึ่งเป็นตำแหน่งวางลูกบอลเพื่อเริ่มเล่น การเล่นจะเริ่มเมื่อผู้เล่นฝ่ายรุก ตำแหน่งเซนเตอร์ (center) ส่งลูกบอลผ่านใต้ขาให้กับเพื่อนรวมทีมซึ่งปกติจะเป็นผู้เล่นตำแหน่งควอเตอร์แบค (quarterback)

การรุกคืบจะกระทำได้สองวิธีคือ

  • โดยการวิ่งถือบอล ซึ่งเรียกว่า การรัช (rushing)
  • โดยการขว้างบอลให้กับเพื่อนร่วมทีม เรียก การพาส (passing) โดยในการบุกหนึ่งครั้งจะสามารถขว้างบอลไปข้างหน้าได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

การเล่นแต่ละรอบ หรือที่เรียกว่า ดาวน์ ในอเมริกันฟุตบอลนั้นจะจบลงเมื่อลูกบอลตาย เนื่องจาก

  • ผู้เล่นที่ถือบอลอยู่ ถูกหยุด หรือ "แทกเกิล" โดยผู้เล่นฝ่ายรับ
  • ลูกบอลที่ถูกขว้างไปข้างหน้า (forward pass) ตกกระทบพื้นก่อนที่จะมีผู้เล่นรับลูก เรียกว่า อินคอมพลีทพาส (incomplete pass) ลูกบอลจะถูกนำกลับมาเริ่มเล่นที่ตำแหน่งเดิม
  • ลูกบอล หรือ ผู้เล่นที่ถือบอล เคลื่อนออกนอกสนาม (out of bound)
  • มีการทำคะแนนเกิดขึ้น

การเตะทิ้ง หรือ พันท์ (punt)[แก้]

ถ้าทีมรุกไม่สามารถกลับไปเริ่มดาวน์ที่หนึ่งได้หลังจากเล่น 3 ครั้งแล้ว คือ เปลี่ยนเป็นดาวน์ที่ 1 ไม่ได้ภายใน 3 ครั้ง ส่วนมากดาวน์ที่ 4 ทีมที่ได้บุกจะไม่เล่นต่อ แต่จะให้ทีมพิเศษของผ่ายตนเองลงมาพั้นท์เพื่อกินระยะ แล้วเปลี่ยนให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายบุกแทน เนื่องจากถ้าเล่นครบ 4ดาวน์แล้วยังไม่สามารถบุกได้ระยะ 10 หลา จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถเริ่มบุกจากจุดสุดท้ายที่ลูกตาย ดังนั้นเลยต้องพั้นทิ้ง เพื่อเอาระยะและให้ฝ่ายตรงข้ามเริ่มบุกให้ห่างจากระยะ endzone ของฝ่ายตัวเอง

ส่วนในการรับลูกพันท์แล้ววิ่งย้อนนั้นสามารถทำได้เหมือนกับการรับลูก kick off แต่จะมีกฎพิเศษก็คือเมื่อทีมพิเศษรับลูกหรือแตะถูกลูก จะทำให้การเล่นเพลย์นั้นเป็นฟรีเพลย์ กล่าวคือ การเล่นครั้งนั้นถ้าการเล่นสิ้นสุดลงทีมไหนครอบครองลูกได้ก็จะได้เป็นฝ่ายบุกทันที ยกตัวอย่าง เช่น ทีมเอพันท์ไปให้ทีมบี แล้วทีมบีรับลูกวิ่งย้อนคืนมาแล้วเกิดฟัมเบิ้ล แล้วทีมเอเก็บลูกได้ ทีมเอก็จะได้บุกต่อทันที ณ ตำแหน่งที่ลูกตาย ในการรับลูก พันท์นั้น เราจะเห็นตัวรับลูกวิ่งย้อนชูมือแล้วโบกไปมาบ่อยๆ มันก็คือการเรียกแฟร์แคช (Fair Catch) ในการเรียกแฟร์แคชหมายถึง การที่ตัวรับลูกวิ่งย้อนเมื่อรับลูก แล้ว จะไม่สามารถวิ่งต่อเพื่อเพิ่มระยะได้ แต่จะได้สิทธิพิเศษก็คือ รับพิเศษของฝ่ายพันท์จะไม่มีสิทธิเข้ามาแท๊คเกิลได้โดยเด็ดขาด

การสูญเสียการครอบครองลูก (Turnover)[แก้]

นอกจากการที่ทีมบุกสูญเสียการครอบครองลูกเนื่องจากไม่สามารถรุกคืบได้เกิน 10 หลาภายใน 4 ดาวน์แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ทำให้ทีมบุกสูญเสียการครอบครองลูกซึ่งมีดังต่อไปนี้:

  • การถูกแย่งรับลูก หรือ การอินเตอร์เซป (Interception) โดยทีมรับสามารถแย่งรับลูกที่ฝ่ายตรงข้ามขว้างให้เพื่อนร่วมทีมได้
  • การทำลูกหล่น หรือ ฟัมเบิล (Fumble) เมื่อทีมบุกทำลูกหล่นก่อนที่จะเกิดการดาวน์ ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายที่อยู่บนสนามสามารถครอบครองลูกนั้นได้ โดย การกระโดดตะครุบ หรือ การเก็บลูกขึ้นมาและวิ่งต่อ ฝ่ายที่ได้ครอบครองลูกหลังจากเกิดการฟัมเบิลจะได้เล่นเป็นฝ่ายครอบครองลูกต่อจากนั้น
  • ทีมบุกเลือกที่จะเตะฟิลด์โกล (Field Goal) เพื่อทำคะแนนแล้วเตะไม่เข้า ไม่ว่าจะเป็นการเล่นในดาวน์ที่เท่าไหร่ก็ตาม

ในทั้งสามกรณีข้างต้น ผู้เล่นทีมรับที่ได้ลูกบอลมาครอบครอง สามารถพาบอลวิ่งไปสู่เอนด์โซนของทีมตรงข้ามได้ การเล่นจะไม่จบจนกว่าจะถูกแทกเกิล วิ่งออกนอกสนาม หรือ ทำคะแนนได้[2]

การทำคะแนน[แก้]

แต่ละทีมสามารถทำคะแนนได้โดย:

  • การทัชดาวน์ (Touchdown) ได้ 6 คะแนน การทัชดาวน์เกิดขึ้นเมื่อ ผู้เล่นถือลูกวิ่งเข้าในเอนด์โซนของฝ่ายตรงข้าม หรือ การรับลูกที่ขว้างมาในเอนด์โซนของฝ่ายตรงข้าม นอกจากนั้นแล้วการทัชดาวน์ยังอาจเกิดจาก การเก็บลูกที่ฟัมเบิล ลูกพันท์ หรือ ลูกเตะประตู ที่ถูกปัด หรือ สกัด ในเขตเอนด์โซน
    • การทำคะแนนหลังทัชดาวน์ หรือ คอนเวอร์ชัน (Conversion) ทีมอาจเลือกทำการเตะประตู เพื่อทำคะแนนพิเศษ 1 คะแนน (Extra point) โดยลูกบอลจะถูกวางที่เส้น 15 หลา หรือ ทำการเล่นเข้าไปเอนด์โซนอีกหนึ่งครั้ง ด้วยการวิ่งพาลูก หรือ การขว้าง เข้าไปเขตเอนด์โซน เพื่อทำคะแนนเพิ่ม 2 คะแนน (2 Points Conversion) โดยลูกบอลจะถูกวางที่เส้น 2 หลา
  • การเตะประตู (Field Goal) เพื่อทำ 3 คะแนน เป็นการทำคะแนนโดยเตะลูกข้ามคาน ผ่านระหว่างเสาประตู การเตะนั้นจะต้องเป็นการเตะโดยที่ลูกบอลถูกจับวางตั้งบนพื้นสนามโดยเพื่อนร่วมทีม โดยจุดตั้งลูกบอลเพื่อเตะฟิล์ดโกลจะต้องอยู่ห่างจากแนววางลูกเดิม 8 หลา ปกติแล้วการเตะประตูจะกระทำในดาวน์ที่สี่ แทนการพันท์ เมื่อระยะระหว่างตำแหน่งของลูกไม่ห่างจากประตูจนเกินไป
  • เกิดเซฟตี (Safety) สำหรับ 2 คะแนน ทีมรับจะได้คะแนนจากการเกิดเซฟตี คือ ทีมรุกพาลูกบอลออกนอกสนามในเขตเอนด์โซน หรือ ผู้ถือบอลถูกแทกเกิลในเขตเอนด์โซน นอกจากนั้นในเกมเอ็นเอฟแอล การทำผิดกติกาบางประเภทของฝ่ายรุกก็นับเป็นเซฟตี อาทิ การขว้างบอลทิ้งออกนอกสนามของควอเตอร์แบค หลังจากเกิดเซฟตีทีมที่ครอบครองลูก(ทีมที่เสียเซฟตี)จะต้องเตะทิ้ง ฟรีคิก (Free Kick) ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการพันท์ ที่เส้น 20 หลา

การทำผิดกติกา[แก้]

อเมริกันฟุตบอลเป็นการแข่งขันที่มีกติกาละเอียด ทำให้มีการทำผิดกติกาขึ้นบ่อยครั้งระหว่างการแข่งขัน เมื่อมีการทำผิดกติกาเกิดขึ้นผู้ตัดสินจะโยนธงสีเหลืองลงมาบนพื้นสนาม หรือเป่านกหวีดถ้าการทำผิดกติกาเกิดขึ้นก่อนการเริ่มเล่นแต่ละดาวน์ เมื่อการเล่นหยุดลง หัวหน้าผู้ตัดสินจะใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ผู้เล่นและผู้ชมทราบว่ามีการทำผิดกติกาใดเกิดขึ้นพร้อมทั้งประกาศการลงโทษ

ตัวอย่างการทำผิดกติกาที่เกิดขึ้นบ่อย

ชื่อเรียก คำอธิบาย โทษ สัญลักษณ์จากกรรมการ
ฟอล์ท สตาร์ท (False Start) ผู้เล่นทีมรุกที่จดตัวบริเวณแนวการเล่นขยับตัวก่อนการสแนป 5 หลา หมุนมือ
ล้ำหน้า (Offside) ผู้เล่นทีมรับหรือทีมบุกข้ามแนวการเล่นก่อนการสแนป 5 หลา เท้าเอว
เอนโครชเมนต์ (Encroachment) ผู้เล่นทีมรับข้ามแนวการเล่นก่อนการสแนปและโดนตัวผู้เล่นทีมบุก 5 หลา เท้าเอว
ดึง (ทีมบุก) (Offensive Holding) 10 หลา นับจากจุดที่เกิดการทำผิดกติกา นำมือข้างหนึ่งจับที่ข้อมืออีกข้าง
ดึง (ทีมรับ) (Defensive Holding) 5 หลา และเปลี่ยนเป็นดาวน์ที่หนึ่งอัตโนมัติ นำมือข้างหนึ่งจับที่ข้อมืออีกข้าง
รบกวนปีก (Pass Interference) (ทีมรับ) กระทบตัวผู้เล่นทีมบุกก่อนการรับลูก นำลูกไปตั้ง ณ จุดเกิดเหตุ และเปลี่ยนเป็นดาวน์ที่หนึ่งโดยอัตโนมัติ (ถ้าเหตุเกิดในเอนด์โซนให้นำลูกมาตั้งที่เส้น 1 หลา) แสดงท่าผลัก
รบกวนตัวคุมปีก (Pass Interference) (ทีมบุก) กระทบตัวผู้เล่นทีมรับก่อนการรับลูกเพื่อทำอินเตอร์เซ็ป 10 หลา แสดงท่าผลัก
ฟาว์ลบุคคล (Personal Foul) เล่นรุนแรงเกินเหตุ กระแทกผู้เล่นหลังจากที่บอลตายไปแล้ว กระแทกควอเตอร์แบ็คหรือตัวเตะหลังจากปล่อยบอลออกจากตัวไปแล้ว ดึงหน้ากากโดยตั้งใจ ฯลฯ 15 หลา และเปลี่ยนเป็นดาวน์ที่หนึ่งอัตโนมัติถ้าทีมรับเป็นฝ่ายทำผิด นำมือข้างหนึ่งฟาดลงกับท่อนแขนอีกข้าง
ดึงหน้ากาก (Facemask) 15 หลา นำมือขึ้นมาทำท่าดึงหน้ากาก
ไม่มีน้ำใจนักกีฬา (Unsportmanlike Conduct) แสดงอาการดีใจจนออกนอกหน้า แสดงกิริยาเยาะเย้ยคู่แข่ง แสดงอาการไม่เคารพการตัดสินของกรรมการ ฯลฯ 15 หลา (กรณีที่เป็นการทำคะแนนของทีมบุกจะยกไปลงโทษที่การคิกออฟ) คว่ำมือกางแขนออกทั้งสองข้าง
เจตนาขว้างทิ้ง (Intentional Grounding) ขณะอยู่ในแนวป้องกัน ควอเตอร์แบคขว้างลูกไปยังจุดที่ไม่มีผู้เล่นฝ่ายตัวเองอยู่ 10 หลา และปรับเป็นการเล่นดาวน์ถัดไป (Lost Of Down) แต่ถ้าเกิดขึ้นในเอนด์โซนจะถือว่าเป็นเซฟตี้ (Safety) ถ้าเกิดขึ้นในช่วงนาทีสุดท้ายของแต่ละครึ่งเวลา จะถูกตัดเวลา (Run Off) อีก 10 วินาที และถือเป็นบอลตายในสนาม เคลื่อนมือทั้งสองไปด้านข้าง
ใช้เวลาเกิน (Delay of Game) ผู้เล่นทีมบุกใช้เวลาก่อนการดึงลูกขึ้นเล่นเกิน 40 วินาที นับจากกรรมการนำลูกมาตั้ง หรือผู้เล่นทีมรับเจตนาถ่วงเวลาเพื่อให้การเล่นของทีมบุกไม่ต่อเนื่อง 5 หลา นำแขนสองข้างมาทาบกัน

ถ้าการกระทำผิดเกิดขึ้นและเหลือระยะไม่พอให้ลงโทษ จะนำลูกไปตั้งที่ระยะครึ่งหนึ่งของการเล่นก่อนหน้า เช่น ถ้าทีมบุก ฟอล์ท สตาร์ท ที่เส้น 4 หลาในแดนตนเอง ผู้ตัดสินจะนำลูกไปตั้งเพื่อเริ่มเล่นใหม่ที่เส้น 2 หลา

บางครั้งอาจจะมีการไม่เอาโทษ (Penalty Decline) ในกรณีดังต่อไปนี้

  • ทั้งทีมบุกและทีมรับทำผิดกติกาทั้งคู่ กรณีนี้จะไม่มีการลงโทษ (Penalty Offset) และเริ่มเล่นดาวน์นั้นใหม่
  • เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับทีม เช่น

- ทีมบุกทำคะแนนได้ และทีมรับทำผิดกติกา ทีมบุกสามารถเลือกไม่เอาโทษเพื่อเปลี่ยนเป็นการทำคะแนนได้

- ทีมรับทำผิดกติกา แต่ทีมบุกสามารถรุกคืบจนได้ดาวน์ที่หนึ่ง ทีมบุกสามารถเลือกไม่เอาโทษเพื่อเอาดาวน์ที่หนึ่งได้

- ทีมบุกทำผิดกติกาในดาวน์ที่สาม ทีมรับสามารถเลือกไม่เอาโทษเพื่อให้ทีมบุกต้องเล่นดาวน์ที่สี่ได้

- ทีมเดียวกันทำผิดกติกามากกว่า 1 ข้อหาในดาวน์นั้น ทีมฝ่ายตรงข้ามมีสิทธิ์เลือกพิจารณาลงโทษในข้อหาที่สามารถสร้างความได้เปรียบให้กับทีมตัวเองมากที่สุดเพียงข้อหาเดียวเท่านั้น ส่วนข้อหาอื่นจะถูกยกเลิกไม่สามารถนำมาลงโทษรวมกันได้

การท้าทายคำตัดสินของกรรมการ[แก้]

ในการแข่งขัน เอ็นเอฟแอล เมื่อหัวหน้าผู้ฝึกสอนของทีมใดทีมหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของผู้ตัดสิน สามารถร้องขอให้มีการดูภาพซ้ำ(instant replay)โดยการขว้างธงสีแดงลงไปในสนาม หัวหน้าผู้ตัดสินจะประกาศความไม่เห็นด้วยของหัวหน้าผู้ฝึกสอนให้ผู้ชมทราบ และเข้าไปดูการฉายภาพซ้ำจากมุมกล้องต่างๆที่ถูกบันทึกไว้บริเวณข้างสนาม หลังจากหัวหน้าผู้ตัดสินดูภาพซ้ำจะออกมาประกาศคำตัดสินอีกครั้ง โดยอาจจะเปลี่ยนแปลงคำตัดสินหรือยืนยันคำตัดสินเดิมพร้อมกับประกาศเหตุผลของการให้คำตัดสินนั้นๆ แต่ละทีมมีสิทธิ์ในการขอดูภาพซ้ำ 2 ครั้งต่อเกม โดยหากผู้ตัดสินยืนยันคำตัดสินเดิม ทีมจะถูกริบสิทธิ์การขอเวลานอก 1 ครั้ง หากสามารถท้าทายคำตัดสินจนสามารถทำให้กลับคำตัดสินได้ทั้ง 2 ครั้งจะได้รับสิทธิ์เพิ่มอีก 1 ครั้ง อย่างไรก็ตามการขอดูภาพซ้ำโดยหัวหน้าผู้ฝึกสอนจะกระทำไม่ได้ในช่วงเวลา 2 นาทีสุดท้ายของแต่ละครึ่งเวลารวมไปถึงช่วงต่อเวลาด้วย โดยในช่วงเวลาดังกล่าวสิทธิ์ขอดูภาพซ้ำจะตกอยู่กับผู้ควบคุมการแข่งขันที่อยู่ด้านบนอัฒจันทร์

ผู้เล่นตำแหน่งต่างๆ[แก้]

แผนภาพตำแหน่งต่างๆ ในภาพนี้ทีมรุกคือสีน้ำเงิน เล่นแบบ I-Formation ส่วนทีมรับคือสีแดง ตั้งรับแบบ 4-3

ผู้เล่นในอเมริกันฟุตบอลตำแหน่งต่างๆ จะมีการเล่นที่เฉพาะเจาะจง โดยส่วนใหญ่แล้วผู้เล่นคนหนึ่งจะเล่นเฉพาะทีมรุก หรือทีมรับ เท่านั้น ไม่เล่นทั้งสองทีม

ทีมรุก (Offense)[แก้]

  • ออฟเฟนซ์ซีฟไลน์ (offensive line) (OL) มีผู้เล่น 5 คน โดยเป็น ออฟเฟนซ์ซีฟแทกเกิล (offensive tackle) (OT) 2 คน การ์ด (guard) (G) 2 คน และ เซนเตอร์ (center) (C) 1 คน หน้าที่หลักๆ ของ ออฟเฟนซ์ซีฟไลน์ คือ ป้องกันผู้ขว้างบอล และ ทะลวงเปิดทางให้กับผู้เล่นวิ่งพาบอล การเริ่มเล่นจะเริ่มจากผุ้เล่นตำแหน่งเซนเตอร์ สแนปลูกบอล ส่งผ่านใต้หว่างขาของตนให้กับเพื่อนร่วมทีม ซึ่งปกติแล้วจะเป็นผุ้เล่นตำแหน่งควอเตอร์แบค
  • ควอเตอร์แบค (quarterback) (QB) จะเป็นผู้ที่ได้รับลูกบอลในเกือบทุกการเล่น หลังจากนั้นก็จะส่ง หรือ โยนลูกบอลต่อให้กับผู้เล่น รันนิ่งแบค (running back) หรือขว้างให้กับผู้เล่นตำแหน่งที่อนุญาตให้รับบอลได้ หรืออาจวิ่งพาลูกไปเองก็ได้
  • รันนิ่งแบค (running back) (RB) อาจเรียก ฮาร์ฟแบค (halfback) หรือ เทลแบค (tailback) และ ฟุลแบค (fullback) (FB) จะจัดตำแหน่งก่อนเล่นอยู่ข้างหลัง หรือ ข้างๆ QB และ มีหน้าที่ในการวิ่งพาบอล (โดยเฉพาะ RB) หรือทำการสกัดผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม (โดยเฉพาะ FB) รับลูกบอลที่ขว้างมาให้ หรือ แม้แต่ทำการขว้างบอลไปให้เพื่อนร่วมทีม
  • ไวด์รีซีฟเวอร์ (wide receiver) (WR) จะเรียงตัวอยู่ใกล้เส้นข้างสนาม มีหน้าที่ในการรับลูกบอลที่ขว้างมา
  • ไทท์เอนด์ (tight end) (TE) จะวางตัวอยู่ในตำแหน่งนอกออฟเฟนซ์ซีฟไลน์ เล่นได้เหมือน ทั้ง WR โดยการรับลูกที่ขว้างมา และ OL โดยการป้องกัน QB หรือ ทะลวงทางวิ่งให้กับผู้เล่นวิ่งพาบอล

ทีมรับ (Defense)[แก้]

ทีมพิเศษ (Special teams)[แก้]

กลุ่มของผู้เล่นที่มีหน้าที่ในเกี่ยวกับการเตะทั้งหลาย เรียกว่า ทีมพิเศษ หรือ สเปเชียลทีม (special teams) ผู้เล่นในทีมพิเศษนี้จะมี พันท์เตอร์ (punter) (P) ซึ่งเป็นผู้เตะทิ้ง โดยเป็นการถือลูกเตะ และ คิกเกอร์ (kicker) หรืออาจเรียก เพลซคิกเกอร์ (placekicker) (K หรือ PK) เป็นผู้เตะเปลี่ยน และ ผู้เตะประตู ซึ่งเป็นการเตะลูกบอลจากการวางบนพื้นสนาม โดยวางบนอุปกรณ์ตั้งลูก และ การจับวางโดยเพื่อนร่วมทีม ตามลำดับ.

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Florio, Mike (กรกฎาคม 27, 2012). "Football remains an Olympic long shot". Pro Football Talk. NBC Sports. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ธันวาคม 30, 2012. สืบค้นเมื่อ มกราคม 14, 2013.
  2. Joo Won, ผลมวย 7m Score thai. สืบค้นเมื่อ มกราคม 22, 2023