อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เสรีภาพนำทางผองชน (La Liberté guidant le peuple) ภาพวาดของเออแฌน เดอลาครัว (Eugène Delacroix) เพื่อฉลองชัยในการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1830 ซึ่งล้มล้างพระมหากษัตริย์เป็นผลสำเร็จ

อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ หรือเดิมใช้ว่า อำนาจตั้งแผ่นดิน (อังกฤษ: constituent power; ฝรั่งเศส: pouvoir constituant) เป็นอำนาจที่จะตราหรือแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ประเภท[แก้]

อำนาจตรารัฐธรรมนูญเรียกว่า "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญโดยแท้" (original constituent power) เป็นอำนาจที่จะสร้างหลักเกณฑ์พื้นฐานในการใช้อำนาจทางการเมืองของรัฐ

ส่วนอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรียกว่า "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตามที่ได้รับมา" (derived constituent power) เป็นอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญโดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทางรูปแบบ (condition of form) ซึ่งว่าด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม และข้อกำหนดเกี่ยวกับสาระสำคัญ (substantive requirement) ซึ่งกำหนดกรอบของเนื้อหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมได้

ความเป็นมาและแนวคิด[แก้]

แนวคิดปัจจุบันเห็นว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของปวงชน แต่รากฐานของแนวคิดนี้ปรากฏมีมาตั้งแต่มัชฌิมยุค[1] โดยเป็นผลจากการคิดวิเคราะห์ของกลุ่มเคลื่อนไหวในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเรียกตนเองว่า "ผู้เรืองปัญญา" (Enlightenment) คนเหล่านี้เสนอว่า รัฐธรรมนูญเป็นตราสารซึ่งได้รับอำนาจมาจากการที่ประชาชนตัดสินใจทางการเมือง กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นผลิตผลของการที่ประชาชนแสดงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญโดยการสร้างหรือปรับปรุงหลักเกณฑ์การปกครองตนเอง[1]

ต่อมา ชาวลัทธิคาลวิน (Calvinism) ได้ตีความเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยตามแนวคิดของฌ็อง โบแดง (Jean Bodin) เสียใหม่ การตีความดังกล่าวเป็นรากฐานของแนวคิดเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในปัจจุบัน[1] ชาวลัทธิคาลวินสร้างทฤษฎี "อธิปไตยสองด้าน" (double sovereignty) โดยเห็นว่า อำนาจอธิปไตยมีองค์ประกอบสองอย่าง คือ "อำนาจอธิปไตยตามบุคคล" (majestas personalis) คือ อำนาจของผู้ปกครอง และ "อำนาจอธิปไตยที่แท้จริง" (majestas realis) คือ อำนาจอันเป็นของประชาชน[1] ภายหลัง กลุ่มหัวรุนแรง (radical) ในยุโรปได้ใช้ทฤษฎีดังกล่าวในการพิพาทเกี่ยวกับ "เทวสิทธิ์" (divine right) และ "อธิปไตยของปวงชน" (popular sovereignty) หลายครั้ง ตกผลึกเป็นการแบ่งแยกระหว่าง "อำนาจที่สถาปนาขึ้น" (constituted power) คือ อำนาจของผู้ปกครอง กับ "อำนาจที่จะสถาปนา" (constituent power) คือ อำนาจในการให้ผู้ปกครองมีอำนาจ[1]

การแบ่งแยกดังกล่าวส่งผลให้แนวคิดปฏิวัติในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นรูปเป็นร่างยิ่งขึ้น อิทธิพลที่จอห์น ล็อก (John Locke) ปรัชญาเมธีอังกฤษ มีต่อลัทธิล่าอาณานิคม (colonialism) ในสหรัฐอเมริกายังได้รับการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในประกาศเอกราช (Declaration of Independence) ด้วยว่า[1]

"เมื่อการปกครองรูปแบบใด ๆ มาถึงจุดจบด้วยการทำลายตนเองเช่นนี้ ก็เป็นสิทธิของปวงชนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างการปกครองนั้นเสีย แล้วสถาปนาการปกครองใหม่"

"Whenever any form of government becomes destructive of these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government."

แม้เป็นแนวคิดสมัยใหม่ แต่แนวคิดทำนองนี้ก็เป็นเสียงสะท้อนการอภิปรายที่มีมาแต่โบราณกาลเรื่อง ประชาชนสามารถอาศัยกฎหมายธรรมชาติ (natural law) ลุกขึ้นต่อต้านผู้ปกครองได้หรือไม่ ตามที่นักบุญออกัสติน (Saint Augustine) เสนอไว้ในแนวคิดเรื่อง "กฎหมายไร้ธรรมหาใช่กฎหมาย" (lex iniusta non est lex)[2]

แนวคิดเรื่องประชาชนมีอำนาจตั้งแผ่นดินนี้ยังได้รับการใช้สถาปนาอำนาจของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา แม้เป็นการขัดกับบทบัญญัติสมาพันธรัฐ (Articles of Confederation) ซึ่งเป็นข้อตกลงในการรวมแผ่นดินเป็นสหรัฐอเมริกาก็ตาม[1]

อนึ่ง แนวคิดดังกล่าวยังได้รับการอ้างถึงในวาทกรรมช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส หลวงพ่อเซเยส (Abbé Sieyès) นักทฤษฎีการเมืองชาวฝรั่งเศสซึ่งถือกันว่า เป็นบุคคลสำคัญในการสร้างทฤษฎีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เน้นย้ำว่า ประชาชนคือชาติและดำรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะสถาปนาการเมือง ส่วนรัฐบาลไม่ใช่ชาติ เป็นเพียงสถาบันที่ได้รับมอบอำนาจมาจากชาติ[1] หลวงพ่อเซเยสยังระบุว่า สถาบันผู้ได้รับมอบอำนาจนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขแห่งการมอบอำนาจได้ เพราะเป็นอำนาจของชาติ[1] ข้อความคิดทำนองนี้กลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญของวาทกรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ เช่น รัฐธรรมนูญต้องยกร่างในนามของปวงชน[1]

การวิพากษ์วิจารณ์[แก้]

ฌอแซฟ เดอ แม็สทร์ (Joseph de Maistre) นักนิติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เห็นว่า ถ้าว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว ผู้คนที่ปกครองกับผู้คนใต้ปกครองเป็นคนละคนกัน ("the people which command are not the people which obey") กล่าวคือ โดยสภาพแล้ว ประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยผ่านผู้แทน ย่อมบ่งบอกว่า ถึงอย่างไรเสีย รัฐบาลก็เป็นผู้ใช้อำนาจที่แท้จริง ไม่ใช่ปวงชน[1] เดอ แม็สทร์ใช้ถ้อยคำว่า "ประชาชนเป็นองค์อธิปัตย์ที่ไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยของพวกตนได้" ("the people are the sovereign which cannot exercise their sovereignty")[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 Martin Loughlin (2013-01-15). "The Concept of Constituent Power" (pdf). Critical Analysis of Law Workshop, University of Toronto. สืบค้นเมื่อ 2013-11-24.
  2. Illan rua Wall (2013-06-20). "Notes on the Theology of Constituent Power". สืบค้นเมื่อ 2013-11-24.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]