อาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำหรับชื่อวงดนตรีดูที่ ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์
อาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์
อาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย-เอ็สเทอ
พระฉายาลักษณ์ ค.ศ. 1914
ประสูติ18 ธันวาคม ค.ศ. 1863(1863-12-18)
กราซ, จักรวรรดิออสเตรีย
ถูกลอบปลงพระชนม์28 มิถุนายน ค.ศ. 1914(1914-06-28) (50 ปี)
ซาราเยโว, ออสเตรีย-ฮังการี
ชายาโซฟี ดัชเชสแห่งโฮเอินแบร์ค
พระราชบุตร
ราชวงศ์ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค-ลอแรน
พระราชบิดาอาร์ชดยุกคาร์ล ลูทวิช แห่งออสเตรีย
พระราชมารดาเจ้าหญิงมาเรีย แอนนันซิเอตา แห่งซิซิลีทั้งสอง
ศาสนาโรมันคาทอลิก
ลายพระอภิไธย

ฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์ คาร์ล ลูทวิช โยเซฟ มารีอา แห่งออสเตรีย-เอ็สเทอ (เยอรมัน: Franz Ferdinand Carl Ludwig Joseph Maria von Österreich-Este) ทรงเป็นอาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย-เอ็สเทอ และยังทรงเป็นพระราชกุมารแห่งฮังการีและโบฮีเมีย และเป็นรัชทายาทลำดับหนึ่งแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีอีกด้วย พระองค์ทรงเป็นองค์รัชทายาทจวบจนถูกลอบปลงพระชนม์โดยนักชาตินิยมหัวรุนแรงชาวเซอร์เบีย ที่เมืองซาราเยโวในแคว้นบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (ขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี) หลังพระองค์และพระชายาสิ้นพระชนม์ก็ทำให้จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ประกาศสงครามกับราชอาณาจักรเซอร์เบียทันที ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

พระประวัติ[แก้]

อาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์ประสูติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1863 ที่เมืองกราซ จักรวรรดิออสเตรีย เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ในอาร์ชดยุกคาร์ล ลูทวิชแห่งออสเตรีย (พระโอรสในอาร์ชดยุกฟรันทซ์ คาร์ล และทรงพระอนุชาในจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟ) และพระชายาองค์ที่ 2 ของพระองค์ เจ้าหญิงมาเรีย แอนนันซิเอตาแห่งซิซิลี เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษา 12 ปี ดยุกฟรังเซสโกที่ 5 แห่งโมเดนา พระปิตุลาของพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์กะทันหัน ทำให้พระองค์ทรงได้รับสืบพระยศเป็นอาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย-เอ็สเทอ และดยุกแห่งโมเดนา

ตั้งแต่พระองค์ประสูติ ประชาชน ราชนิกุลชั้นสูงหรือบุคคลคณะต่างๆ ไม่เคยคาดคิดเลยว่าพระองค์จะทรงเป็นองค์รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อิมพีเรียลออสเตรีย-ฮังการี พระองค์ทรงได้รับการศึกษาอย่างเรียบง่าย โดยอาจารย์ของพระองค์นั้นเน้นสอนในทางประวัติศาสตร์และศีลธรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยอาจารย์ของพระองค์คือนักประวัติศาสตร์ ออนโน คล๊อป ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1876 ถึง 1885 และในปี 1882 พระองค์ได้ทรงเข้าร่วมกองทัพราชนาวี โดยพระองค์ได้ทรงยศทหารเป็นร้อยโท

เมื่อทรงพระเยาว์นั้น พระองค์ทรงงานอดิเรกเป็นประจำ นั่นคือการล่าสัตว์และท่องเที่ยว โดยพระองค์ทรงสามารถล่ากวางได้มากกว่า 5,000 ตัว และพระองค์ทรงชอบเสด็จประพาสไปยังประเทศต่างๆ ด้วย โดยเมื่อปี ค.ศ. 1882 พระองค์เสด็จเยือนประเทศอิตาลี และอีกสองปีต่อมาก็เสด็จประพาสอียิปต์ ปาเลสไตน์ ซีเรีย และออตโตมัน และปี 1889 เสด็จเยือนเยอรมนี

เมื่อปี 1889 ชีวิตของพระองค์ถูกเปลี่ยนดังละคร เมื่อพระญาติของพระองค์ อาร์ชดยุกรูดอล์ฟ มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งเป็นพระราชโอรสในจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟ ทรงสิ้นพระชนม์กะทันหันจากการฆ่าตัวตายที่ คฤหาสน์ล่าสัตว์ที่มาเยอร์ลิง รัฐนีเดอร์เอิสเทอร์ไรช์ จักรวรรดิออสเตรีย ทำให้อาร์ชดยุกคาร์ล ลูทวิช พระบิดาของพระองค์เป็นรัชทายาทแห่งออสเตรีย-ฮังการี และตัวอาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟร์ดีนันด์ กลายเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 ต่อมาพระบิดาของพระองค์ทรงสละสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติ ทำให้อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ทรงเป็นองค์รัชทายาทลำดับที่ 1 แต่ทรงเป็นองค์รัชทายาททางพฤตินัย ไม่มีการสถาปนาอย่างเป็นทางการ

อภิเษกสมรส[แก้]

อาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์ และพระชายาโซฟี ดัชเชสแห่งโฮเอินแบร์ค พร้อมด้วยพระบุตรทั้งสามในปีค.ศ. 1910

เมื่อปี 1895 พระองค์ทรงได้พบกับ เคานเตสโซฟี โชเท็ค ซึ่งเป็นนางกำนัลของอาร์ชดัชเชสอิสซาเบลล่า ซึ่งเป็นพระชายาในอาร์ชดยุกฟรีดริช ดยุกแห่งเทเชิน โดยพระองค์เสด็จเยี่ยมพระญาติของพระองค์ที่ พระตำหนักของอาร์ชดยุกฟรีดริช ในเมืองเพรสบวร์ค (ปัจจุบันคือบราติสลาวา) โดยพระองค์และโซฟีทรงมีการติดต่อหากันอย่างลับๆ โดยโซฟีได้เขียนจดหมายมาหาพระองค์ระหว่างที่พระองค์ทรงอยู่ในระยะพักฟื้นจากโรควัณโรคหลังจากเสด็จกลับจากเกาะลอว์ชิน บนทะเลอาเดรียติก ประเทศโครเอเชีย ทั้งสองได้เก็บความสัมพันธ์นี้อย่างลับๆมาเป็นเวลากว่าสองปี สำหรับฝ่ายโซฟีนั้น ครอบครัวของเธอไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์แม้แต่น้อย ถึงแม้ว่า ถ้านับถอยหลังบรรพบุรุษของครอบครัวนั้น จะเห็นว่า บรรพบุรุษทางแม่ของโซฟีนั้น เป็นเจ้าหญิงแห่งบาเดิน, โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น-เฮ็คคิงเงิน และลีชเทินชไตน์ โดยกฎมณเฑียรบาลเรื่องการอภิเษกสมรสนั้นระบุว่า จะต้องอภิเษกสมรสกับเจ้าชายหรือเจ้าหญิงที่เป็นเชื้อพระวงศ์ยุโรปด้วยกันเท่านั้น

ในตอนแรกนั้นอาร์ชดัชเชสอิสซาเบลลาทรงพระดำริว่าอาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ ผู้เป็นพระนัดดาทรงหลงรักหนึ่งในพระธิดาของพระองค์ แต่เมื่อปี 1898 พระองค์ทรงแอบเข้าไปในห้องของพระนัดดา เพื่อทรงค้นอัลบั้มพระฉายาลักษณ์ ทรงหวังว่าจะทรงเห็นพระรูป แต่แทนที่พระองค์จะทรงเห็นพระรูปของพระธิดาของพระองค์ กลับทรงเห็นโซฟี นางข้าหลวงแทน ทำให้โซฟีถูกขับออกจากตำแหน่งนางข้าหลวง และถูกขับออกจากวังด้วย

ด้วยความที่พระองค์ทรงหลงรักโซฟีหัวปักหัวปำ พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะทรงอภิเษกสมรสกับสตรีคนใดเลย สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 13 ซาร์นิโคไลที่ 2 แห่งรัสเซียและจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี ทรงร่วมมือกันเจรจากับจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ โดยพระองค์ทรงกังวลว่าอาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์จะทำให้พระราชวงศ์เสื่อมเสีย หลังจากที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงมีปากเสียงกันมาก่อนหน้านี้แล้ว

แต่ในที่สุด อีก 1 ปีต่อมา จักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟ มีพระบรมราชานุญาตให้อาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์สามารถอภิเษกสมรสกับโซฟีได้ แต่ทรงมีข้อแม้ว่าการอภิเษกสมรสครั้งนี้จะเป็นการสมรสแบบมอร์แกนเนติคกล่าวคือไม่ได้อยู่ในกฎมณเฑียรบาล โดยเป็นการแต่งงานของชายที่สูงศักดิ์กับหญิงต่ำต้อยกว่า เมื่อทรงมีทายาท พระราชบุตรของทั้งสองจะไม่มีสิทธิ์ในการขึ้นครองราชย์และจะไม่มีสิทธิ์อยู่ในลำดับการสืบสันตติวงศ์อีกด้วย และนอกจากนี้ เมื่ออภิเษกสมรสกันแล้ว โซฟีผู้เป็นฝ่ายหญิงจะไม่มีสิทธิ์ในการดำรงพระอิสริยยศของพระสวามี และเมื่อปรากฏต่อสาธารณชน โซฟีก็จะไม่มีสิทธิ์ที่จะปรากฏตัวต่อสาธารณชนเคียงข้างผู้เป็นพระสวามี และก็จะไม่มีสิทธิ์นั่งบนพระราชรถขบวนเสด็จอีกด้วย จนกว่าจักรพรรดิจะทรงอนุญาต

ทั้งสองทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1900 ณ เมืองไรช์สตัดท์ (ปัจจุบันคือเมืองซาคูพาย) โบฮีเมีย โดยการอภิเษกสมรสครั้งนี้จักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟ ไม่ทรงเข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย ไม่มีแม้แต่พระอนุชาและพระขนิษฐาของพระองค์เลย จะมีก็แต่อาร์ชดยุกและอาร์ชดัชเชสบางพระองค์เท่านั้น รวมไปถึงพระมารดาทูนหัวของพระองค์ อาร์ชดัชเชสมาเรีย เมเรซ่าและพระธิดาทั้ง 2 พระองค์ การอภิเษกสมรสครั้งนี้ถือเป็นการอภิเษกสมรสแบบเงียบ ๆ หลังจากการอภิเษกสมรส โซฟีได้รับยศเป็น เจ้าหญิงแห่งโฮเอินแบร์ค โดยพระยศนี้อาจจะทำให้โซฟีดูสูงศักดิ์ขึ้น แต่ก็ยังให้ความสำคัญน้อยเช่นเดิม อย่างเช่นเมื่อมีงานเลี้ยงพบปะของพระบรมวงศ์ โซฟีก็ถูกแยกให้อยู่ห่างพระสวามี

อาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์และดัชเชสแห่งโฮเอินแบร์คมีพระธิดา 1 พระองค์ และพระโอรส 2 พระองค์ โดยทุกพระองค์นี้มิได้ทรงดำรงอยู่ในราชวงศ์ฮาพส์บวร์คเลย ทุกพระองค์จะทรงดำรงในราชสกุลใหม่คือ ฟอน โฮเอินแบร์ค (von Hohenberg) จึงถือได้ว่าอาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ทรงเป็นต้นราชสกุลโฮเอินแบร์ค

การลอบปลงพระชนม์[แก้]

บทความหลัก การลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์แห่งออสเตรีย
อาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์พร้อมด้วยพระชายาที่เมืองซาราเยโว ก่อนที่จะถูกลอบปลงพระชนม์
หนุ่มชาวเซอร์เบีย กัฟรีโล ปรีนซีปเข้าปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1914 เวลา 11 นาฬิกา 15 นาที อาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์และดัชเชสโซฟี พระชายาทรงถูกลอบปลงพระชนม์ที่เมืองซาราเยโว นครหลวงของประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาซึ่งขณะนั้น ยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ทั้งสองพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์โดยกัฟรีโล ปรินซีป หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแบล็คแฮนด์ (Црна рука/Tsrna Ruka) ซึ่งการลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยก่อนหน้านี้ ทั้งสองพระองค์ทรงเกือบถูกโจมตีโดยระเบิดที่หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแบล็คแฮนด์ได้ขว้างมา แต่โชคดีที่ระเบิดพลาดไป แต่พลเมืองก็ได้รับบาดเจ็บ ทั้งสองพระองค์จึงเสด็จเยี่ยมพลเมืองที่ได้รับบาดเจ็บในครั้งนี้ แต่ในขณะที่ทั้งสองพระองค์กำลังเสด็จไปเยี่ยมผู้ปะสบภัยที่โรงพยาบาลนั้น นายปรินซีปได้เห็นทั้งสองพระองค์ จึงวิ่งพรวดเข้าไปหาราชรถแล้วยิงไปที่ดัชเชสโซฟีโดยทันที จากนั้นก็ยิงอาร์ชดยุกอีกหลายนัดเข้าที่พระองค์ทันที ท่ามกลางทหารและประชาชนทั้งหมื่นคนที่มารอเฝ้ารับเสด็จ การลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้ถูกเชื่อมโยงไปถึงลัทธิชาตินิยม ลัทธิจักรวรรดินิยม ทหารและระบบสหพันธ์ ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยเริ่มขึ้นหลังจากการลอบปลงพระชนม์เพียง 2 เดือนโดยออสเตรีย-ฮังการีได้ประกาศสงครามกับเซอร์เบีย

พระศพอาร์ชดยุกฟรันทซ์ เฟอร์ดินานด์และดัชเชสโซฟีถูกฝังไว้ที่ปราสาทอาร์ทสเต็ทเท็น ซึ่งเป็นพระราชฐานของราชสกุลโฮเอินแบร์ค จักรวรรดิออสเตรีย

ฐานันดรและพระอิสริยยศ[แก้]

  • ค.ศ. 1863 – 1875: อาร์ชดยุกและเจ้าชายฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรีย เจ้าชายแห่งฮังการี, โบฮีเมีย และโครเอเชีย[1]
  • ค.ศ. 1875 – 1914: อาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย-เอ็สเทอ
ตราอาร์มประจำองค์


ราชตระกูล[แก้]

พระราชตระกูลในสามรุ่นของอาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์แห่งออสเตรีย-เอ็สเทอ
อาร์ชดยุชฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์แห่งออสเตรีย-เอ็สเทอ พระชนก:
อาร์ชดยุกคาร์ล ลูทวิชแห่งออสเตรีย
พระอัยกาฝ่ายชนก:
อาร์ชดยุกฟรันซ์ คาร์ลแห่งออสเตรีย
พระปัยกาฝ่ายชนก:
จักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
พระปัยยิกาฝ่ายชนก:
เจ้าหญิงมาเรีย เทเรซ่าแห่งทู ซิชิลีส์
พระอัยยิกาฝ่ายชนก:
เจ้าหญิงโซฟีแห่งบาวาเรีย
พระปัยกาฝ่ายชนก:
สมเด็จพระราชาธิบดีแม็กซีมีเลียนที่ 1 โจเซฟแห่งบาวาเรีย
พระปัยยิกาฝ่ายชนก:
เจ้าหญิงแคโรไลน์แห่งบาเดิน
พระชนนี:
เจ้าหญิงมาเรีย แอนนันซีเอต้าแห่งทู ซิชิลีส์
พระอัยกาฝ่ายชนนี:
สมเด็จพระราชาธิบดีเฟอร์ดินานด์ที่ 2 แห่งทู ซิชิลีส์
พระปัยกาฝ่ายชนนี:
สมเด็จพะราชาธิบดีเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งทู ซิชิลีส์
พระปัยยิกาฝ่ายชนนี:
อาร์ชดัชเชสมาเรีย คาโรลิน่าแห่งออสเตรีย
พระอัยยิกาฝ่ายชนนี:
อาร์ชดัชเชสมาเรีย เทเรซ่าแห่งออสเตรีย
พระปัยกาฝ่ายชนนี:
อาร์ชดยุกคาร์ลแห่งออสเตรีย ดยุกแห่งเทเชิน
พระปัยยิกาฝ่ายชนนี:
เจ้าหญิงเฮ็นเรียตต้าแห่งนาสซอว์-ไวล์บวร์ค

อ้างอิง[แก้]

  1. Kaiser Joseph II. harmonische Wahlkapitulation mit allen den vorhergehenden Wahlkapitulationen der vorigen Kaiser und Könige. Since 1780 official title used for princes ("zu Ungarn, Böhmen, Dalmatien, Kroatien, Slawonien, Königlicher Erbprinz")

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า อาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรีย ถัดไป
ดยุกฟรังเซสโกที่ 5 อาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย-เอ็สเทอ
Archduke of Austria-Este
20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1875 - 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914

อาร์ชดยุกคาร์ล
ดยุกฟรังเซสโกที่ 5 ดยุกแห่งโมเดนา
Duke of Modena
20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1875 - 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914

อาร์ชดยุกคาร์ล