กัฟรีโล ปรินซีป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กัฟรีโล ปรินซีป
Гаврило Принцип
ปรินซีปในเรือนจำ ป. ค.ศ. 1915
เกิด25 กรกฎาคม ค.ศ. 1894(1894-07-25)
Obljaj, บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
(จักรวรรดิออตโตมัน โดยนิตินัย)
เสียชีวิต28 เมษายน ค.ศ. 1918(1918-04-28) (23 ปี)
ป้อมเตเรซิน โบฮีเมีย จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
สุสานโบสถ์น้อยวีรบุรุษวีดอฟดัน ซาราเยโว
43°52′0.76″N 18°24′38.88″E / 43.8668778°N 18.4108000°E / 43.8668778; 18.4108000
มีชื่อเสียงจากการลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรีย
พิพากษาลงโทษฐานทรยศต่อประเทศ
มาตกรรม (2 กระทง)
บทลงโทษจำคุก 20 ปี
ลายมือชื่อ

กัฟรีโล ปรินซีป (เซอร์เบีย: Гаврило Принцип, ออกเสียง: [ɡǎʋrilo prǐntsip]; 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1894 — 28 เมษายน ค.ศ. 1918) เป็นชาวเซิร์บ-บอสเนีย สมาชิกของเยาวชนบอสเนีย (Young Bosnia) องค์กรยูโกสลาเวียที่มีความต้องการที่จะทำลายการปกครองของออสเตรีย-ฮังการีในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เมื่อเขามีอายุ 19 ปี เขาได้ลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรีย และพระชายา โซฟี ในเมืองซาราเยโว วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 ก่อให้เกิดห่วงโซ่ของเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[1] ปรินซีปและพรรคพวกของเขาได้ถูกจับกุมและมีส่วนเกี่ยวข้องกับสมาคมลับชาตินิยมเซอร์เบียที่เป็นที่รู้จักกันคือ แบล็กแฮนด์ ทำให้ออสเตรีย-ฮังการีได้ยื่นหนังสือคำประท้วงไปยังเซอร์เบียที่เป็นที่รู้จักกันคือ การยื่นคำขาดเดือนกรกฎาคม (July Ultimatum)[2]

ปรินซีปได้กล่าวว่าท่านอาร์ชดยุกเป็นเป้าหมายเพราะ"เมื่อได้เป็นกษัตริย์ในอนาคต พระองค์จะทรงขัดขวางสหพันธ์ของเราโดยได้ดำเนินการปฏิรูปบางอย่าง" ด้วยการพาดพิงถึงกิตติศัพท์ของท่านอาร์ชดยุกในการสนับสนุนโครงสร้างการปฏิรูปของระบอบราชาธิปไตยที่จะมอบเอกราชให้กับดินแดนชาวสลาฟมากขึ้น[3] นี่เป็นภัยคุกคามต่อโครงการการเรียกร้องดินแดนของชาวเซอร์เบียที่เป็นชนชาติเดียวกัน

ปรินซีปเป็นชาวยูโกสลาเวียผู้รักชาติที่มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการมาลดา บอสนา (เยาวชนบอสเนีย) ซึ่งจะประกอบเต็มไปด้วยชาวเซิร์บ แต่ยังคงเป็นชาวบอสนีแอกและชาวโครแอต[4] ในช่วงการพิจารณาคดีของเขา เขาได้กล่าวว่า"ผมคือผู้รักชาติยูโกสลาเวีย ได้มีความมุ่งหมายที่จะรวมยูโกสลาเวียให้เป็นหนึ่งไว้ทั้งหมด และผมไม่สนในสิ่งที่เป็นรูปแบบของรัฐ แต่จะต้องเป็นอิสระจากออสเตรีย"[5]

ปรินซีปได้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1918 ด้วยวัณโรคที่เกิดจากสภาพคุกที่แย่มาก ซึ่งทำให้เขาสูญเสียขาไปก่อนหน้านี้

ชีวิตช่วงต้น[แก้]

กัฟรีโล ปรินซีปเกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ห่างไกลของObljaj ใกล้บอซานสกอกราฮอวอเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม [ตามปฎิทินเก่า: 13 กรกฎาคม] ค.ศ. 1894 เขาเป็นลูกคนที่สองจากลูก ๆ ทั้ง 9 คน โดยเสียชีวิตตั้งแต่วัยทารก 6 คน มารียา (Marija) แม่ของปรินซีป ต้องการตั้งชื่อเขาตามชปีรอ (Špiro) น้องชาย แต่นักบวชอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ท้องถิ่นเรียกร้องให้ตั้งชื่อเขาเป็นกัฟรีโล (Gavrilo) โดยอ้างว่าการตั้งชื่อทารกที่ป่วยตามทูตสวรรคกาเบรียลจะทำให้เขารอดชีวิต[6]

มารียากับเปตาร์ ปรินซีป (Petar Princip) พ่อแม่ของกัฟรีโล ปรินซีป ป. 1927
บ้านของครอบครัวปรินซีปที่ Obljaj

ครอบครัวปรินซีปเป็นครอบครัวชาวเซิร์บที่อาศัยอยู่ในบอสเนียตะวันตกเฉียงเหนือมาหลายศตวรรษ[7] บรรพบุรุษของเขามาจาก Grahovo, Nikšić ที่มอนเตเนโกร แล้วอพยพเข้าในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 1700 โดยเป็นสมาชิกของตระกูล Jovičević[8] และนับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์เซอร์เบีย[9] เปตาร์และมารียา (สกุลเดิม Mićić) พ่อแม่ของปรินซีป เป็นชาวนาที่ยากจนซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินเล็ก ๆ ที่พวกเขาเป็นเจ้าของ[10] ทั้งคู่อยู่ในชนชั้นกสิกรคริสเตียนที่มีชื่อว่า kmetovi (ทาสติดที่ดิน) ซึ่งมักถูกเจ้าของที่ดินที่เป็นมุสลิมกดขี่[11] เปตาร์ ผู้ยืนกรานใน "ความถูกต้องโดยเคร่งครัด" ไม่เคยดื่มเครื่องดื่มมึนเมาหรือสบถ และถูกเพื่อนบ้านเยาะเย้ย[10] ในช่วงวัยหนุ่ม เขาสู้รบในการก่อกำเริบเฮอร์เซโกวีนาต่อจักรวรรดิออตโตมัน[12] หลังการก่อกบฏ เขากลับมาทำงานเป็นชาวไร่ในหุบเขากราฮอวอ โดยเขาทำงานในที่ดินขนาดประมาณ 4 เอเคอร์ (1.6 เฮกตาร์; 0.0063 ตารางไมล์) และถูกบังคับให้ยกรายได้หนึ่งส่วนสามให้แก่เจ้าของที่ดิน เขาจึงหันไปขนส่งไปรษณีย์และผู้โดยสารข้ามภูเขาระหว่างบอสเนียตะวันตกเฉียงเหนือกับแดลเมเชีย เพื่อเพิ่มรายได้และเลี้ยงดูครอบครัว [13]

ปรินซีปเข้าโรงเรียนประถมศึกษาใน ค.ศ. 1903 ตอนอายุ 9 ขวบ แม้ในตอนแรกพ่อจะไม่ให้ลูกชายเข้าเรียน เนื่องจากเขาต้องการคนเลี้ยงแกะคอยดูแลแกะของตน เขาก้าวผ่านปีแรกที่ยากลำบากและประสบความสำเร็จในการศึกษาอย่างมาก โดยอาจารย์ใหญ่ให้รางวัลชุดสะสมบทกวีมหากาพย์เซอร์เบียแก่เขา[12] ตอนอายุ 13 ปี ปรินซีปย้ายไปที่ซาราเยโว ซึ่งเป็นที่ที่โยวัน (Jovan) พี่ชายของเขา เคยตั้งใจที่จะให้เขาลงทะเบียนที่โรงเรียนการทหารออสเตรีย-ฮังการีในซาราเยโว[12] อย่างไรก็ตาม เมื่อปรินซีปเดินทางมาถึงที่นั่น โยวันเปลี่ยนใจหลังเจ้าของร้านแนะนำว่าอย่าให้น้องชายของเขาเป็น "ผู้ประหารชีวิตคนของเขาเอง" ปรินซีปจึงลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนพ่อค้าแทน[14] โยวันจ่ายค่าเล่าเรียนด้วยเงินจากการทำงานด้วยตนเอง โดยขนท่อนไม้จากป่าที่อยู่รอบ ๆ ซาราเยโวไปยังโรงสีในเมือง[15] หลังศึกษาไป 3 ปี กัฟรีโลจึงย้ายไปยังโรงพลศึกษาซาราเยโว[14]

เข้าร่วมเยาวชนบอสเนีย[แก้]

การลอบสังหาร[แก้]

ถูกจับกุมและไต่สวน[แก้]

ปรินซีปขณะไต่สวน (นั่งตรงกลางแถวแรก)
ปืนพก Browning ของปรินซีปที่ใช้เป็นหลักฐานขณะไต่สวน

ก่อนที่ปรินซีปจะยิงเป็นครั้งที่สาม มีผู้ดึงปืนพกออกจากมือและผลักเขาลงไปที่พื้น เขากลืนแคปซูลไซยาไนด์หนึ่งแคปซูลได้ แต่กลับไม่สามารถทำให้เขาตาย[16] การไต่สวนเริ่มต้นในวันที่ 12 ตุลาคมและสิ้นสุดในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1914 ปรินซีปกับอีกยี่สิบสี่คนถูกดำเนินคดี มือสังหารทั้งหมด 6 คนมีอายุต่ำกว่า 20 ปีในขณะนั้น (ยกเว้น Mehmedbašić) ในขณะที่ตัวกลุ่มมีสมาชิกส่วนใหญ่เป้นชาวเซิร์บบอสนีแอก ผู้ถูกดำเนินคดี 4 คนเป็นชาวโครแอตบอสนีแอกและทั้งหมดเป็นพลเมืองออสเตรีย-ฮังการี ไม่มีคนใดเลยที่มาจากเซอร์เบีย[17] ทนายความของรัฐตั้งข้อหาผู้ต้องหา 22 คนในข้อหากบฏต่อแผ่นดินและฆาตกรรม และอีกสามคนฐานสมรู้ร่วมคิดในคดีฆาตกรรม ปรินซีปกล่าวว่าตนรู้สึกเสียใจที่สังหารดัชเชสและตั้งใจที่จะสังหาร Potiorek แต่ถึงกระนั้นก็รู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่ทำ[18][19] ตำรวจฝ่ายสืบสวนออสเตรียกระตือรือร้นที่จะเน้นย้ำถึงลักษณะเฉพาะของเซอร์เบียในแผนการลอบสังหารด้วยเหตุผลทางการเมือง[20] แต่ในระหว่างการพิจารณาคดี ปรินซีปยืนกรานว่า แม้ว่าเขาจะมีเชื้อสายเซิร์บ แต่ความมุ่งมั่นของเขาคือการปลดปล่อยชาวสลาฟใต้ทั้งหมด หัวหน้าผู้สมรู้ร่วมคิดทุกคนกล่าวถึงการปฏิวัติด้วยการทำลายล้างออสเตรีย-ฮังการี และการปลดปล่อยชาวสลาฟใต้ว่าเป็นแรงจูงใจต่อการกระทำของพวกเขา[21]

ทางการออสเตรีย-ฮังการีพยายามซ่อนข้อเท็จจริงที่ว่ามีผู้สมรู้ร่วมคิดเป็นชาวโครแอตและบอสนีแอก จนถึงการเปลี่ยนชื่อหนึ่งในนั้นในรายงานข่าว[17] เพื่อสร้างภาพว่าแผนการทั้งหมดว่ามีต้นกำเนิดจากเซอร์เบียและดำเนินการโดยชาวเซิร์บเท่านั้น[22] แบล็กแฮนด์ถูกกล่าวเป็นนัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการลอบสังหาร เนื่องจากมีการให้อาวุธแก่มือสังหารและช่วยให้พวกเขาข้ามพรมแดน แต่นั้นไม่ได้พิสูจน์ว่ารัฐบาลเซอร์เบียมีส่วนรู้เห็นต่อการลอบสังหาร ไม่ต้องพูดถึงการอนุมัติด้วยซ้ำ[a] แต่สิ่งนี้มีมากพอที่ทางออสเตรีย-ฮังการีเตรียมการยื่นหนังสือประท้วงต่อเซอร์เบียที่รู้จักกันในชื่อ วิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคม ซึ่งนำไปสู่การปะทุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[24] เดวิด ฟรอมกินรายงานว่า สิ่งที่การสังหารให้แก่เวียนนาไม่ใช่เหตุผล แต่เป็นข้ออ้างในการทำลายเซอร์เบีย[25]

ในเวลานั้นปรินซีปมีอายุ 19 ปีและเด็กเกินไปที่จะประหารชีวิต เนื่องจากตามกฎหมายฮาพส์บวร์ค เขายังเหลือเวลาอีก 27 วันก่อนที่จะถึงอายุขั้นต่ำ 20 ปี[17] จากนั้นในวันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1914 ศาลตัดสินให้ปรินซีปมีความผิดฐานฆาตกรรมและกบฏต่อแผ่นดิน เขาถูกตัดสินให้จำคุกสูงสุด 20 ปี โดยเข้าไปจำคุกที่เรือนจำทหารในป้อมฮาพส์บวร์คที่ Theresienstadt ในโบฮีเมียตอนเหนือ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเช็กเกีย)[26]

จำคุกและเสียชีวิต[แก้]

ห้องขังของปรินซีปที่ป้อม Terezín

ปรินซีปถูกล่ามโซ่ที่กำแพงตามการขังเดี่ยวที่ป้อมขนาดเล็กใน Terezín โดยมีสภาพย่ำแย่และทำให้เขาเป็นวัณโรค[27][24] โรคนี้กัดกระดูกของเขามากจนแพทย์ต้องตัดแขนขวาทิ้ง[28] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1916 ปรินซีปพยายามแขวนคอตนเองด้วยผ้าเช็ดตัว แต่ล้มเหลว[29] โดยในช่วงกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ค.ศ. 1916 ปรินซีปพบกับ Martin Pappenheim จิตแพทย์ประจำกองทัพออสเตรีย-ฮังการีถึง 4 ครั้ง[29] Pappenheim เขียนว่า ปรินซีปกล่าวว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะยังคงเกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่มีการลอบสังหาร และเขา "ไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบต่อเหตุร้ายครั้งนี้"[27]

ปรินซีปเสียชีวิตในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1918 หลังเหตุการณ์ลอบสังหาร 3 ปีกับอีก 10 เดือน ในช่วงที่เขาเสียชีวิต เขามีน้ำหนัก 40 กิโลกรัม (88 ปอนด์; 6 สโตน 4 ปอนด์) เนื่องจากภาวะทุพโภชนาการและโรคภัยไข้เจ็บ[30]

สิ่งสืบทอด[แก้]

หลังจากเสียชีวิตไปเป็นเวลานาน มรดกของปรินซีปยังคงเป็นที่โต้แย้ง และตัวเขายังคงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แต่สุดขั้ว โดยสำหรับราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คและผู้สนับสนุน เขาเป็นผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุฆาตกรรม ส่วนราชอาณาจักรยูโกสลาเวียมองเขาเป็นวีรบุรุษยูโกสลาฟ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พวกนาซีกับอูสตาชา ฟาสซิสต์โครแอต มองเขาเป็นอาชญากรผู้เสื่อมทรามและผู้นิยมอนาธิปไตยฝ่ายซ้าย ส่วนยูโกสลาเวียสมัยสังคมนิยมมองเขาเป็นตัวแทนวีรบุรุษหนุ่มของกลุ่มต่อต้านติดอาวุธ ซึ่งเป็นนักต่อสู้เสรีภาพที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาวยูโกสลาเวียจากการปกครองของจักรวรรดิ ต่อสู้เพื่อแรงงานและผู้ถูกกดขี่[31] ในคริสต์ทศวรรษ 1990 ผู้ที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมเซิร์บบางคนเริ่มมองปรินซีปเป็นตัวแทนในการสร้างเกรตเตอร์เซอร์เบีย[32] การเคลื่อนไหวทางการเมืองและระบอบการปกครองหลายแห่ง ต่างยกย่องหรือดูถูกเขา เพื่อส่งเสริมอุดมการณ์ของตนเอง[32]

ปัจจุบันชาวเซิร์บหลายคนเฉลิมฉลองตัวเขาในฐานะวีรบุรุษ และชาวโครแอตกับชาวบอสนีแอกหลายคนถือว่าเขาเป็นผู้ก่อการร้าย[32][33]

หมายเหตุ[แก้]

  1. หลังสงครามมีการเปิดเผยว่ารัฐบาลเซอร์เบียได้ยินเรื่องแผนการลอบสังหารอาร์ชดยุค และออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รักษาชายแดนให้เฝ้าระวังกลุ่มเยาวชนบอสเนียทันที[23]

อ้างอิง[แก้]

  1. Johnson, Lonnie (1989). Introducing Austria: A short history. pp. 52–54. ISBN 0-929497-03-1.
  2. Gilbert, Martin (1995). First World War. HarperCollins. pp. 20–24. ISBN 0-00-637666-5.
  3. The Sleepwalkers, How Europe went to war in 1914, Christopher Clark, p.49
  4. Dejan Djokić (January 2003). Yugoslavism: Histories of a Failed Idea, 1918–1992. C. Hurst & Co. Publishers. p. 24. ISBN 978-1-85065-663-0.
  5. Dedijer 1966, p. 341.
  6. Dedijer 1966, pp. 187–188.
  7. Fromkin 2007, pp. 121–122.
  8. Roberts 2007, p. 302"Princip's Family, members of the Jovičević clan, were originally from the rocky region of Grahovo in Montenegro, migrating to the Herzegovinian side of the border at the beginning of the eighteenth century."
  9. Roider 2005, p. 935.
  10. 10.0 10.1 Fabijančić 2010, p. xxii.
  11. Schlesser 2005, p. 93.
  12. 12.0 12.1 12.2 Kidner et al. 2013, p. 756.
  13. Schlesser 2005, p. 95.
  14. 14.0 14.1 Roider 2005, p. 936.
  15. Schlesser 2005, p. 96.
  16. Butcher 2015, p. 276.
  17. 17.0 17.1 17.2 Butcher 2015, p. 279.
  18. the Guardian 2017.
  19. Dedijer 1966, p. 346.
  20. Butcher 2015, p. 278.
  21. Dedijer 1966, p. 336.
  22. Dedijer 1966, p. 342.
  23. Butcher 2015, p. 255.
  24. 24.0 24.1 Johnson 1989, pp. 52–54. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFJohnson1989 (help)
  25. Fromkin 2007, p. 154.
  26. Butcher 2015, p. 280.
  27. 27.0 27.1 "Gavrilo Princip Speaks: 1916 Conversations with Martin Pappenheim | Carl Savich" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 29 August 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 July 2019. สืบค้นเมื่อ 4 July 2019.
  28. Foy 2004.
  29. 29.0 29.1 The British Library 2017.
  30. Prijic 2015.
  31. MacDowall 2014.
  32. 32.0 32.1 32.2 Institute for War and Peace Reporting 2014.
  33. Dzidic et al. 2014.

ข้อมูล[แก้]

บรรณานุกรม[แก้]

เว็บไซต์[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]