หลังคาเขียว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บ้านในรัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ที่สร้างขึ้นใหม่ตามแบบบ้านไวกิง
หลังคาปลูกหญ้ของบ้านหลายพลังที่เห็นในหม่บ้าน Bøur และเกาะฟาโร(Faroe Islands)

หลังคาเขียว (อังกฤษ: green roof) คือหลังคาของอาคารที่ปิดทับบางส่วนหรือทั้งหมดด้วยพืชพรรณและดิน หรือเครื่องปลูกอย่างอื่นบนชั้นแผ่นกันน้ำ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงหลังคาที่ทาด้วยสีเขียว หรือวัสดุมุงสีเขียวใดๆ หลังคาเขียวอาจรวมส่วนประกอบอื่น เช่นแผ่นชั้นกันราก ระบบระบายน้ำและระบบรดน้ำต้นไม้

สวนกระถางที่จัดบนหลังคาซึ่งต้นไม้ปลูกในกระถางอิสระไม่นับเป็น “หลังคาเขียว” ที่แท้จริงในความหมายนี้ แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันได้อยู่

คำว่า “หลังคาเขียว” อาจใช้กับหลังคาที่ใช้เทคโลโลยี “เขียว” บางรูปแบบ เช่นแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังสุริยะด้วยก็ได้ หลังคาเขียวอาจหมายถึงหลังคาแบบอื่น เช่น หลังคานิเวศ (eco-roofs) หลังคามีชีวิต (living roofs) ที่มีเป้าหมายของแนวคิดเดียวกัน

ปัจจุบัน ประโยชน์ของหลังคาเขียวได้ถูกนำมาใช้เป็นมาตรการหนึ่งทางสถาปัตยกรรมและการผังเมืองเพื่อช่วยบรรเทาปรากฏการณ์โลกร้อน

คุณประโยชน์ของหลังคาเขียว[แก้]

หลังคาเขียวมีประโยชน์ดังนี้:

  • ใช้เป็นพื้นที่รื่นรมย์สำหรับผู้ใช้อาคาร — ที่ให้ผลคล้ายสนามหรือสวนลานเล็ก (patio)
  • ใช้ปลูกไม้ผล ผักและดอกไม้
  • ลดระบบการทำความอบอุ่น (โดยการเพิ่มมวล และค่าความต้านทานความร้อน-เย็น) และลดโหลดค่าปรับอากาศเย็น (โดยได้ความเย็นจากการระเหย) ของอาคาร
  • ลดปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (urban heat island effect)
  • ยืดอายุการใช้งานของหลังคา โดยเฉพาะหลังคาคอนกรีต
  • ลดประมาณน้ำฝน (stormwater) ที่ไหลลงระบบสาธารณะ
  • กรองมลพิษ(pollutants) และ คาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ออกจากอากาศ — ดูผนังชีวะ (living wall)
  • กรองมลพิษและโลหะหนักออกจากน้ำฝน
  • เป็นที่พักพิงแก่สัตว์ในเมืองหนาแน่น — ดู สัตว์ป่าในเมือง (urban wilderness)

หลังคาเขียวนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของ “อาคารอิสระ” (อาคารที่เป็นเอกเทศจากโครงสร้างพื้นฐานของเมืองหรือท้องถิ่น -(autonomous building)

จากข้อมูลการรณรงค์การใช้หลังคาเขียวเพื่อบรรเทาปัญหาโลกร้อนขององ์กรเอกชนแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ที่ใช้ชื่อ “หลังคาเขียวเพื่อเมืองสุขภาพดี” (Green Roofs for Healthy Cities) [6] มีกล่าวไว้ดังนี้


"ในอเมริกาเหนือ คุณประโยชน์ของเทคโนโลยีหลังคาเขียวยังไม่เป็นเข้าใจกันอยู่มาก และตลาดด้านนี้ยังมีขนาดเล็ก ทั้งๆ ที่ผู้นำอุตสาหกรรมด้านนี้ได้พยายามรณรงค์ทำความเข้าได้มากพอควรแล้ว ต่างกับยุโรปที่เทคโนโลยีทางด้านนี้ได้วางรากฐานมั่นคงและไปไกลมากแล้ว "

เมื่อ พ.ศ. 2548 ผลการศึกษาของแบรด บาสส์ (Brad Bass) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งโทรอนโทได้แสดงให้เห็นว่าหลังคาเขียวสามารถลดการสูญเสียความร้อนและการสิ้นเปลืองพลังงานได้มาก [1]

ความเป็นมาและการใช้ประโยชน์ของหลังคาเขียว[แก้]

หลังคาเขียวของที่ทำการนครชิคาโก (Chicago City Hall) อิลลินอยส์. ภาพถ่ายตอนต้นฤดูใบไม้ผลิ หญ้าจึงยังเป็นสีน้ำตาลอยู่
หลังคาเขียวของห้างสหกรณ์เมาน์เทนอีควิบเมนท์ (Mountain Equipment Co-op) ใน โทรอนโท แคนาดา

หลังคาเขียวสมัยใหม่สร้างขึ้นตามระบบแผ่นชั้นที่ทำขึ้นจำหน่ายโดยบริษัทผู้ผลิตที่จงใจทำขึ้นเฉพาะเพื่อใช้วางบนหลังคาสำหรับรองรับวัสดุปลูกพืชและตัวพืชที่จะปลูก นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เทคโนโลยีนี้พัฒนาขึ้นในประเทศเยอรมันเมื่อประมาณ พ.ศ. 2508 และได้แพร่หลายไปทั่วประเทศนับแต่นั้นมา ปัจจุบัน ประมาณว่าร้อยละ 10 ของหลังคาอาคารในประเทศเยอรมนีเป็น “หลังคาเขียว” [2] หลังคาเขียวกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ แม้จะยังไม่มากและเป็นธรรมดาอย่างในยุโรป

หลังคาเขียวส่วนใหญ่สร้างให้เป็นไปตามข้อบัญญัติท้องถิ่นซึ่งให้ความสำคัญแก่การจัดการการระบายน้ำฝน[3] ในพื้นที่ที่ใช้ระบบระบายน้ำรวม (รวมน้ำโสโครกและน้ำฝนไว้ในท่อเดียวกัน - combined sewer-stormwater systems) ซึ่งน้ำฝนที่มากผิดปกติจะทำให้เกิดน้ำล้นท่อพาของเสียไหลท่วมพื้นที่แล้วไหลลงสู่ทางน้ำสาธารณะได้ หลังคาเขียวจะช่วยลดปริมาณน้ำฝนที่ไหลตามผิวโดยรวม ทำให้อัตราการไหลจากหลังคาช้าลง ซึ่งพบว่าหลังคาเขียวช่วยรับและหน่วงน้ำได้มากถึง 75% ของปริมาณน้ำฝนปกติที่ตกลงบนหลังคาแล้วจึงค่อยๆ ปล่อยน้ำกลับคืนสู่บรรยากาศอย่างช้าๆ โดยการระเหย ในขณะเดียวกันดินปลูกก็จะช่วยจับมลพิษที่ดูดซับมาโดยฝนไว้ในดิน [4] โครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ชื่อ “เอเลเวชัน 314" ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ใช้พลังคาเขียวสำหรับกรองและเก็บกักน้ำฝนบางส่วนไว้ในบริเวณโครงการเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ระบบกรองใต้ดินที่ใช้ทรายที่มีราคาแพงเพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติว่าด้วยการระบายน้ำฝนของหน่วยงานควบคุมด้านสาธารณสุขของวอชิงตัน ดี.ซี.

การต่อสู้กับปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง [5] เป็นเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้หลังคาเขียวได้รับการยอมรับ วัสดุก่อสร้างอาคารทั่วไปเมื่อดูดซับความร้อนไว้เต็มที่แล้วก็จะไม่ดูดซับได้ไว้อีกและจะแผ่ความร้อนสู่อากาศที่เย็นกว่า ทำให้เมืองหนาแน่นทั่วไปมีความร้อนสูงกว่าพื้นที่ชานเมืองโดยรอบที่มีพื้นที่สีเขียวถึง 4 °C [6] หลังคาเขียวของที่ทำการนครชิคาโก (ในภาพ) จะมีอุณหภูมิต่ำกว่าหลังคาธรรมดาอื่นๆ ทั่วไปที่อยู่ใกล้เคียงประมาณ 14-44 °C [7]

หลังคาเขียวเริ่มมีมากและกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นในชิคาโก รวมทั้งแอตแลนตา พอร์ตแลนด์และเมืองอื่นๆ การใช้ที่มากขึ้นนี้เกิดจากข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ให้การสนับสนุนเพื่อต่อสู้กับปรากฏการณ์เกาะความร้อนในขึ้นและเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นตัวอย่างหนึ่งของประเทศ ที่ได้จัดสร้างขึ้นเพื่อทดลองหาข้อมูลว่าหลังคาเขียวว่าจะมีผลต่อลมฟ้าอากาศจุลภาคบนหลังอย่างไร จากตัวอย่างนี้และจากการศึกษาหลังคาเขียวแห่งอื่นๆ ทำให้ประมาณการได้แล้วว่า หากหลังคาของอาคารทุกหลังในเมืองใหญ่เป็นหลังคาเขียว ในวันที่ร้อนจัด อุณหภูมิในเมืองจะลดลงได้มากถึง 7 °C [8]

นอกจากนี้ยังพบว่าหลังคาเขียวสามารถเพิ่มค่าความเป็นฉนวนของหลังคาได้มากอีกด้วย การศึกษาที่ทำโดยหน่วยงานสิ่งแวดล้อมของแคนาดา (Environment Canada) พบว่าหลังคาเขียวสามารถลดความต้องการในการทำความอบอุ่นในฤดูหนาวได้ 26°C และลดความต้องการในการทำความเย็นในฤดูร้อนได้ 26°C เช่นกัน [9] การศึกษาของศูนย์วิจัยหลังคาเขียวของมหาวิทยาลัยเพนสเตตพบว่าหลังเขียวสามารถยืดอายุขัยการใช้งานของหลังคาให้ยืนยาวไปได้อีก 2-3 เท่า [10]

ประการสุดท้าย หลังคาเขียวยังเป็นที่ขึ้นของพืชและที่อยู่อาศัยพักพิงของแมลงและสัตว์อื่นๆ ที่มีที่ขึ้นและที่มาอยู่อาศัยจำกัดมากขึ้นในเมืองใหญ่ แม้บนหลังอาคารสูง 19 ชั้นในเมืองใหญ่ก็ยังพบว่าหลังคาเขียวเป็นที่อยู่อาศัยและพักพิงของสัตว์ที่มีประโยชน์ประภทแมลง นก ผึ้งและผีเสื้อ หลังคาเขียวเพิ่มความเป็น “ป่า” ที่เป็นที่พักพิงของนกที่ร้องไพเ ราะ นกอพยพและสัตว์อื่นที่มีที่พักพิงน้อยลง [11]

ประเภทของหลังคาเขียว[แก้]

สวนหลังคาแบบป่าใน แมนฮัทตัน

หลังคาเขียวอาจจำแนกได้เป็นแบบดูแล (intensive) หรือแบบกึ่งดูแล (semi-intensive) หรือแบบปล่อย(extensive) ขึ้นอยู่กับขนาดความลึกของดินปลูกและความต้องการในการดูแลรักษา สวนหลังคาทั่วไปซึ่งต้องการใช้ความลึกของดินปลูกมากพอควรเพื่อใช้ปลูกต้นไม้และปลูกหญ้าสนามแบบทั่วไปซึ่งนับเป็นสวนที่ต้องการการดูแลรักษาสูง ต้องการระบบการให้น้ำที่เพียงพอ ต้องการปุ๋ยและการดูแลรักษาอีกหลายอย่าง ต่างกับหลังคาเขียวแบบปล่อยที่ออกแบบให้ดูแลตนเองและต้องการการดูแลรักษาต่ำสุด ซึ่งอาจเป็นการกำจัดวัชพืชปีละครั้ง หรือให้ปุ๋ยชนิดปลดปล่อยช้าเพื่อเสริมการเจริญเติบโตบ้าง พืชพรรณที่ใช้กับหลังคาเขียวแบบปล่อยสามารถขึ้นได้บน “ดินปลูก” (ส่วนใหญ่เป็นดินผสมปุ๋ยหมักสูตรเฉพาะ)ที่ตื้น หรือแม้แต่ใช้แผ่นใยหิน (rock wool) ธรรมชาติ (ที่ไม่ใช่แอสเบสตอส) หรือใยหินสังเคราะห์ที่ใช้ทำฉนวนความร้อนที่ปูลงบนหลังค่าที่ทำระบบกันน้ำซึมไว้ดีแล้วได้โดยตรง ซึ่งต้นเซดัม (Sedum sp.) หรือพรรณไม้ประเภทอวบน้ำและมอสสามารถขึ้นได้ดี

ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งของหลังคาเขียวคือ หลังคาเขียวแบบลาดเอียง กับ หลังคาเขียวแบบแบนราบ หลังคาเขียวแบบลาดเอียงเป็นแบบตามสถาปัตยกรรมประเพณีของสแกนดิเนเวียซึ่งมักเป็นการออกแบบที่ง่ายกว่าแบบแบนราบ ทั้งนี้เนื่องจากหลังคาเอียงน้ำไหลได้ดีกว่า ปัญหาการรั่วซึมเข้าไปในโครงสร้างหลังคาจึงมีน้อยกว่าจึงสิ้นเปลืองค่าป้องกันการซึมและการระบายน้ำน้อยกว่า

หลังคาน้ำตาล[แก้]

ดูบทความหลัก: ที่ดินบราวน์ฟิลด์

ที่ดินบริเวณบราวน์ฟิลด์ อาจกลายเป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่า เป็นที่ขึ้นและอยู่อาศัยพักพิงของพืชและสัตว์มีกระดูกสันหลังและที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่หายากได้หลายชนิด ที่ดินบราวน์ฟิลด์ในเมืองที่ลดลงจากที่เคยมีอยู่เดิมเนื่องจากเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองในบริเวณ ทำให้สัตว์ป่าในเมือง (Urban wildlife) ถูกคุกคามสูญเสียถิ่นที่อยู่ในที่ดินบราวน์ฟิลด์หลังคาน้ำตาล” หรือ บราวน์รูฟ จึงอาจช่วยบรรเทาเรื่องนี้ลงได้บ้างด้วยการใช้อิฐหักและกรวดบางๆ ปิดทับบนดินปลูกหลังคาเขียวที่อยู่บนหลังคาแบนของอาคารโครงการที่สร้างใหม่ซึ่งไม่แพง มันจะค่อยๆ กลายเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงต่างๆ และแมงมุมและกลายเป็นแหล่งอาหารของนกกินแมลง ศูนย์ลีลาศลาบาน (Laban) ซึ่งเป็นศูนย์ลีลาศร่วมสมัยในนครลอนดอนมีหลังคาน้ำตาลออกแบบเป็นแหล่งอาหารเฉพาะสำหรับนกหายากท้องถิ่นคือนกแบ็กเรดสตาร์ท ([Black Redstart]).[12] (เมื่อ พ.ศ. 2546 อาคารลาบานได้รับรางวัลสเตอร์ลิง ( Stirling Prize) ของสถาบันสถาปนิกบริเตน (RIBA) และยังมีอาคารหลังคาน้ำตาลในลักษณะเดียวกันนี้อีกหลายหลังในเมืองเดพท์ฟอร์ดใกล้ๆ นั้น เช่นอาคารศูนย์การศึกษาครีกไซด์

ตัวอย่างหลังคาเขียว[แก้]

หลังคาเขียวที่ปลูกต้นไม้พื้นถิ่นที่ L'Historial de la Vendée พิพิธภัณฑ์ใหม่ในฝรั่เศส

หลังคาเขียวแบบปล่อยที่กว้างใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ขณะนี้ คือหลังคาเขียวของโรงงานประกอบรถยนต์ริเวอร์รูจ (River Rouge Plant) ในเดียร์บอร์น (Dearborn) มิชิแกน ของบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ จำกัด ซึ่งมีพื้นที่รวมกันถึง 42,000 ตารางเมตร (26.25 ไร่) ปลูกคลุมด้วยต้นเซดัม (ไม้พุ่มอวบน้ำมีดอกชนิดหนึ่ง) รวมทั้งพืชพรรณอื่นๆ ตัวอย่างหลังคาเขียวที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในสหรัฐฯ อีกแห่งหนึ่งได้แก่อาคารที่ทำการเมืองชิคาโกดังกล่าวมาแล้วและสำนักงานใหญ่ของ “Gap” ในซานบรูโน แคลิฟอร์เนีย เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมภูมิสถาปนิกอเมริกัน (American Society of Landscape Architects) ได้ปรับปรุงสำนักงานใหญ่ในวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วยหลังคาเขียวที่ออกแบบโดยภูมิสถาปนิกไมเคิล แวน วาลเคนเบรอะ ( Michael Van Valkenburgh) [13] ชิคาโก แอตแลนตาและปอร์ตแลนด์ ออริกอน ต่างก็อวดว่าตนมีหลังคาสีเขียวเป็นจำนวนมากมาย [14]

สวิสเซอร์แลนด์มีหลังคาเขียวที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป สร้างเมื่อ พ.ศ. 2457 ที่โรงทำน้ำประปาทะเลสาบมูส วอลลิชโชเฟน ซูริก ตัวโรงกรองน้ำมีหลังคาคอนกรีตคลุมเป็นเนื้อที่ 30,000 ตารางเมตร (18.75 ไร่) เพื่อรักษาความเย็นภายในและป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเติบโตในชั้นกรอง จึงมีการใส่ชั้นระบายน้ำด้วยกรวดและชั้นดินหนา 15 ซ.ม. บนหลังคาคอนกรีตที่ได้ป้องการรั่วซึมไว้แล้วด้วยยางมะตอย มีเมล็ดหญ้าทุ่งต่างๆ ที่งอกบ้างแล้วติดมากับดินจำนวนมากเติบโตขึ้นเต็มพื้นที่ ปัจจุบันหลังคาเขียวแห่งนี้เป็นสวรรค์ของพืชหลายขนิด มีบางชนิดอาจสูญพันธุ์ไปจากย่านนั้นไปแล้ว ที่เด่นชัดได้แก่ “กล้วยไม้ปีกเขียว” หรือ (Orchis morio) ที่มีอยู่ที่นี่ประมาณ 6,000 ต้น อีกตัวอย่างหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ของสวิสฯ ได้แก่หลังคาโรงพยาบาลเขต คลินิคัม 1 และคลินิคัม 2 ของนครบาเซิล สวิสเซอร์แลนด์ และหลังคาชานชลารถไฟในสถานีใหญ่ของนครซูริก

หลังคาเขียวที่เชื่อว่าเป็นสวนพฤกษศาสตร์หลังคาเขียวแห่งแรกของโลกตั้งขึ้นที่ออกัสเตนบอร์ก แถบชานเมืองมาลโม (Malmö) ประเทศสวีเดน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2542 บนหลังคาของสถาบันหลังคาเขียวนานาชาติ (International Green Roof Institute (IGRI)) ซึ่งเปิดเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2544 เพื่อให้เป็นสถานีวิจัยและที่ศึกษาหลังคาเขียวแก่สาธาณชนในเวลาต่อมา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สถาบันหลังคาเขียวสแกนดิเนเวียน” SGRI) หลังคาเขียวเป็นที่ยอมรับและแพร่หลายมากในมาลโม โครงการพัฒนาเคหการที่อยู่ใกล้สวนพฤกศาสตร์ GISR ใช้หลังคาเขียวแบบปล่อยที่ผนวกลำธาร สระน้ำและที่รับน้ำแบบซึมทิ้ง (soakaways) ที่สร้างสรรค์อย่างสวยงามไว้ระหว่างอาคารเพื่อรองรับน้ำฝนของหลังคาอาคาร โครงการที่พักอาศัยในเมืองที่สร้างบนพื้นที่อุตสาหกรรมเก่าชื่อโครงการ Bo01 ในวาสตราแฮมเนน อ่าวตะวันตกใกล้กับอาคารอพาร์เมนต์-สำนักงาน “เอวบิด” (Turning Torso) ในมาลโมออกแบบโดยซานติอาโก คาลาทราวา (Santiago Calatrava) นี้ก็เช่นกัน ที่ได้ใช้หลังคาเขียวเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่างในประเทศอังกฤษอาจดูได้ที่อาคารห้องสมุดมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม และในลอนดอนดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ฮอร์นิมาน (Horniman Museum) และสะพานเทียบเรือคะแนรี (Canary Wharf) เอเทลเรดเอสเตดใกล้แม่น้ำเทมส์ (Thames) ในลอนดอนกลางนับเป็นโครงการหลังเขียวในเมืองหลวงของอังกฤษที่ใหญ่ที่สุด ณ ปัจจุบัน, ทอซเทช (Toxteth) ในลิเวอร์พูลก็นับได้ว่าเป็นหลังคาเขียวโครงการใหญ่คู่แข่งได้เช่นกัน

ในประเทศฝรั่งเศส หลังคาเขียวขนาดใหญ่ประมาณ 8,000 ตารางเมตร (5 ไร่) ได้สร้างขึ้นบนหลังคาพิพิธภัณฑ์ L'Historial de la Vendée ที่ Les Lucs-sur-Boulogne ทำการเปิดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549

อาคารใหม่ของ สถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย (California Academy of Sciences) ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในสวนสาธารณะโกลเดนเกท (Golden Gate Park) ซานฟรานซิสโกมีหลังคาเขียวขนาด 6.25 ไร่ สำหรับปลูกพืชพรรณประจำถิ่นที่ออกแบบให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ประถิ่นชนิดต่างๆ รวมทั้ง ผีเสื้อเบย์ลายตาหมากรุก (Bay checkerspot butterfly) ที่เป็นสัตว์อยู่ในรายชื่อเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จากเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับอาคารใหม่นี้แจ้งไว้ว่า หลังคาเขียวของอาคารนี้จะใช้พลังงานน้อยกว่ากฎหมายกำหนดได้ 30-35%

หลังคาเขียวในประเทศไทย[แก้]

หลังคาเขียวอาคารชุดพักผ่อนการ์เดนคลิฟ 2 พัทยา พ.ศ. 2524

ประเทศไทยมีสวนหลังคามานานแล้ว โดยเฉพาะในย่านในเมืองหนาแน่น ด้วยการนำต้นไม้มาปลูกในภาชนะหรือกระถางบนดาดฟ้า แต่สวนหลังคาที่จงใจออกแบบให้เป็นสวนหลังคาตั้งแต่แรกและมีการจัดเผื่อการรับน้ำหนัก การกันน้ำซึมและอื่นๆ ไว้ก่อนเพิ่งเกิดขึ้นประมาณ 25-30 ปีที่ผ่านมาแต่มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อความสวยงามและเพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ดาดฟ้า การใช้ในเชิงของหลังคาเขียวหรือเชิงการช่วยลดค่าการส่งผ่านความร้อนจากหลังคา (RTTV) โดยเฉพาะยังไม่ปรากฏชัดเจน สวนหลังคาที่อาจตรงเกณฑ์มากที่สุดและจัดหลังคาเขียวได้แห่งหนึ่งได้แก่หลังคาอาคารชุดพักผ่อนโครงการการ์เดนคลิฟ 2 ที่พัทยา ชลบุรีซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 2524 แม้จะไม่ได้ออกแบบตั้งแต่แรกเพื่อบรรเทาปรากฏการณ์โลกร้อนแต่เป็นการเปิดวิวทะเลและลดความน่าเกลียดเมื่อมองจากตัวอาคารหลักที่เป็นอาคารสูงในโครงการเดียวกัน หลังคาเขียวแห่งนี้หากจัดประเภทตามเกณฑ์ อาจจัดให้อยู่ในหลังคาเขียวแบบ "กึ่งปล่อย" (Semi-intensive) ได้เพราะดูแลรักษามีเพียงการตัดหญ้าและให้น้ำ

สวนหลังคาอาคารชุดพักอาศัยอาคารตรีทศมารีนา ธนบุรี กรุงเทพฯ พ.ศ. 2536

เศรษฐกิจฟองสบู่ซึ่งก่อตัวขึ้นประมาณ 15 ปีที่ผ่านมามีส่วนทำให้ที่ดินราคาสูงขึ้นมาก ทำให้มีสวนหลังคาเกิดขึ้นตามโครงการต่างๆ ในย่านหนาแน่นมากจนเป็นปกติ แต่การสร้างหลังคาเขียวเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อนโดยเฉพาะยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน การทำหลังคาเขียวเพียงเพื่อการลดความร้อนผ่านทางหลังคายังมีน้ำหนักไม่พอในเชิงของการคุ้มทุนและการดูแลรักษา การบูรณาการประโยชน์ใช้สอยและความงามเข้าไปด้วยอาจเป็นวิธีที่ได้ผล การยกปรากฏการณ์โลกร้อนมาเป็นเกณฑ์ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)นับเป็นสิ่งที่ดี มาตรการ "ปลูกต้นไม้ 1 ต้นต่อเครื่องปรับอากาศ 1 ตัน?" อาจเป็นไปได้ยากในเมือง แต่หากใช้ "หลังคาเขียว" มาใช้เป็นเกณฑ์เสริมก็อาจช่วยให้เกิดความเป็นไปได้มากขึ้น

ข้อเสียของหลังคาเขียว[แก้]

หลังคาเขียวต้องการโครงสร้างที่แข็งแรงมากขึ้นกว่ามาตรฐานหลังคาธรรมดา อาคารเดิมบางหลังไม่สามารถปรับหลังคาเป็นหลังคาเขียวได้เนื่องจากน้ำหนักของดินปลูกและพืชพรรณที่เพิ่มเกินจากน้ำหนักที่ได้คำนวณไว้ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาซึ่งผันแปรมากน้อยไปตามประเภทของหลังคาเขียว

ค่าก่อสร้างหลังคาเขียว[แก้]

หลังคาเขียวที่ออกแบบและก่อสร้างถูกต้องจะตกประมาณตั้งแต่ 50 ดอลลาร์สหรัฐ (ในยุโรป) ไปจนถึง 350 ดอลลาร์สหรัฐ (อย่างสูงในสหรัฐ) ต่อตารางเมตร ค่าก่อสร้างมากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของหลังคาอาคาร และชนิดของพืชพรรณที่สามารถขึ้นได้ในวัสดุที่อยู่บนหลังคา จอร์ก บรูนิงได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องลมและไฟบนหลังคาเขียวแบบปล่อย รวมทั้งวิธีที่บริษัทประกันเยอรมันจัดการกับหลังคาเขียวแบบปล่อยไว้ในบทความของเขาในหน้า 12 ของ “วาสารกรีนรูฟอินฟราสตรักเจอร์มอนิเตอร์” ของเว็บไซต์ หลังคาเขียวเพื่อสุขภาพของเมือง [7] เก็บถาวร 2007-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ค่าใช้จ่ายบางส่วนอาจขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา หลังคาเขียวแบบปล่อยมีค่าดูแลรักษาต่ำแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องดูแล นักวิจัยเยอรมันได้วิเคราะห์หาตัวเลขเวลาที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดการกับวัชพืชที่ไม่ต้องการออกมาโดยประมาณได้ 0.1 นาที/(ตารางเมตร*ปี)[15]ค่าใช้จ่ายรวมค่าใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มดอกและการคลุมของพืชอวบน้ำ แต่ถ้าไม่ต้องการหรือไม่จำเป็นต้องมีความสวยงามก็ไม่ต้องมีการดูแลและใส่ปุ๋ย ปุ๋ยที่จะใช้กับหลังคาเขียวจำเป็นต้องเป็นชนิดควบคุมการละลายเพื่อป้องกันมลภาวะกับน้ำฝนที่ระบายออกมาสู่ระบบสาธารณะ ไม่ควรใช้ปุ๋ยชนิดธรรมดากับพืชพรรณของหลังคาเขียวแบบปล่อย [16][17] การศึกษาของเยอรมันดังกล่าวได้ประมาณการความต้องการธาตุอาหารสำหรับพืชพรรณหลังคาเขียวไว้ที่ 5 กรัมไนโตรเจน/ตารางเมตร และที่สำคัญยิ่งคือ จะต้องใช้สารตั้งต้นชนิดที่ไม่อุ้มสารอาหารได้มาก แนวทาง FLL ได้กำหนดส่วนประกอบสารอาหารมากสุดที่ยอมให้ได้สำหรับสารตั้งต้นไว้แล้ว[18].

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. [1]
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-08-24. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  3. Earth Pledge. Green Roofs : Ecological Design and Construction. Atglen, PA: Schiffer Pub., 2005.
  4. [2]
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-15. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-28. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  7. [3]
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-07. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-02. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-08-24. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  11. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-28. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  12. Laban. Architecture of Laban building. Accessed October 27, 2007. [4] เก็บถาวร 2008-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  13. [5]
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-28. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  15. Kolb, W. and T. Schwarz (2002). Gepflegtes grün auf dem dach Deutscher Gartenbau(7): 32-34.
  16. Emilsson, T., Czemiel Berndtsson, J., Mattsson, J-E and Rolf, K., 2007 Effect of using conventional and controlled release fertiliser on nutrient runoff from various vegetated roof systems, Ecological Engineering, Volume 29, Issue 3, Pages 260-271, http://dx.doi.org/10.1016/j.ecoleng.2006.01.001
  17. Czemiel Berndtsson, J., Emilsson, T. and Bengtsson, L., 2006 The influence of extensive vegetated roofs on runoff water quality, Science of The Total Environment, Volume 355, Issues 1-3, Pages 48-63, http://dx.doi.org/10.1016/j.scitotenv.2005.02.035
  18. Forschungsgesellschaft Landschaftsentwicklung Landschaftsbau e.V., http://www.fll.de
  • Scholz-Barth, Katrin. "Harvesting $ from Green Roofs: Green Roofs Present a Unique Business Opportunity with Tangible Benefits for Developers." Urban land 64.6 (2005): 83-7.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]