หญ้าปักกิ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หญ้าปักกิ่ง
ดอกของหญ้าปักกิ่ง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Tracheophyta
ชั้น: Liliopsida
อันดับ: Commelinales
วงศ์: Commelinaceae
สกุล: Murdannia
สปีชีส์: M.  loriformis
ชื่อทวินาม
Murdannia loriformis
(Hassk.) R.S.Rao & Kammathy

หญ้าปักกิ่ง หรือ หญ้าเทวดา มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีชื่อวิทยาศาสตร์ เรียกว่า Murdannia loriformis จัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอยู่ในวงศ์ Commelinaceae ในปัจจุบันได้นิยมมีการปลูกหญ้าปักกิ่งกันทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย ลักษณะของหญ้าปักกิ่งสูงโดยประมาณ 10 ซม. ลักษณะมีใบเดี่ยว เกลี้ยง และเรียงสลับ ใบงอกเป็นกระจุกใกล้ ๆ บริเวณราก มีแผ่นใบเป็นแถบขนาดกว้าง 1.5-2.0 ซม. ยาว 15-20 ซม. ใบที่บริเวณปลายยอดสั้นกว่า ขอบใบกับกาบใบเป็นขนครุย (ciliate) บริเวณตรงช่อดอกอยู่ที่ยอดตามซอก แบ่งเป็นช่อแยกแขนงแน่น บริเวณวงใบประดับมีลักษณะคล้ายบริเวณใบแต่เล็กกว่า ตรงก้านดอกโค้งเล็กน้อย บริเวณใบประดับโปร่งแสงและมีขนาดประมาณ 4 มม. บริเวณกลีบดอกสีน้ำเงินหรือม่วงน้ำเงิน และร่วงง่าย ตรงกลีบเลี้ยงรูปไข่หรือรี จะขนาด 3 มม. และบริเวณตรงเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์จะมี 2 อัน

สรรพคุณหญ้าปักกิ่ง[แก้]

ตำหรับยาจีนจะใช้หญ้าปักกิ่งในการบรรเทาอาการเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจและขับพิษออกจากร่างกาย สำหรับสูตรตำหรับยาในประเทศไทย หญ้าปักกิ่งจัดเป็นยาเย็น มีสรรพคุณกระตุ้นภูมิต้านทานโรคในร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งประเภทต่าง ๆ วิธีใช้คือ ดื่มน้ำคั้นจากต้นของหญ้าปักกิ่งเพื่อการรักษา ในปัจจุบันการใช้หญ้าปักกิ่งยังเพื่อช่วยยืดชีวิตและลดอาการผลข้างเคียงจากการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันมายาวนานกว่า 30 ปีแล้ว จากผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบันในประเทศไทย หญ้าปักกิ่งได้รับการสนับสนุนผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลในปีพ.ศ. 2532-2537และผลงานวิจัยในองค์การเภสัชกรรมประเทศไทยในปีพ.ศ. 2542-2543และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งประเทศไทยในปี (พ.ศ. 2546) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประเทศไทย และสถาบันมะเร็งแห่งชาติประเทศไทย และเงินบริจาคต่าง ๆ จากภาคเอกชน จนในปัจจุบันได้ก่อให้เกิดองค์ความรู้มากมายด้านการต้านมะเร็งของสรรพคุณหญ้าปักกิ่ง ในหญ้าปักกิ่งมีสารที่ได้แสดงฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง คือ กลัยโคสฟิงโกไลปิด (Glycosphingolipid) ที่มีชื่อว่า G1b พบว่า อาจมีฤทธิ์ปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงคาดว่า G1b นอกจากจะมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งโดยตรงต่อเซลล์มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งตับ นอกจากนี้ สาร G1b ซึ่งจากการทดลองในหลอดทดลองเบื้องต้นยังพบว่า G1b ยังมีสรรพคุณเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดขาวในหลอดทดลองเพาะเลี้ยงอีกด้วย

การปลูกหญ้าปักกิ่ง[แก้]

หญ้าปักกิ่ง เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนผสมดินทราย ชอบแสงแดดอ่อน ๆ ไม่ชอบแสงแดดมากเกินไป การปลูกหญ้าปักกิ่งจึงต้องเตรียมดินให้พร้อมก่อนเป็นอันดับแรก โดยเริ่มจาก 1.เตรียมดินร่วนก่อน 3 ส่วนและผสมดินทราย 1ส่วน นำมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้งให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแห้ง 2.ให้นำหญ้าปักกิ่งที่แยกมาจากต้นเดิม นำมาปักลงในดินที่ได้เตรียมไว้ เว้นห่างกันต้นละ 1 คืบโดยเฉลี่ย เมื่อหญ้าปักกิ่งงอกและโตเต็มที่แล้วจะขยายเข้าหากันเอง 3.การปลูกหญ้าปักกิ่ง สามารถนำเมล็ดมาปลูกได้อีกวิธีหนึ่ง โดยเอาเมล็ดจากดอกหญ้าปักกิ่งที่แก่แล้วมาขยี้ให้แตกละเอียด แล้วนำมาโรยลงบนดินที่เตรียมไว้ โดยใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ เมล็ดจะงอกเติบโต และควรรดน้ำวันละ 1 ครั้ง โดยในฤดูร้อนควรจะรดน้ำเป็นเช้าเย็นก็ได้ และคอยดูแลอย่าปล่อยให้น้ำขัง เพราะหญ้าปักกิ่งหากมีน้ำขังแล้ว หญ้าปักกิ่งอาจจะตายได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดการปลูกหญ้าปักกิ่ง คือ ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุงดินหรือฉีดยาฆ่าแมลง เพราะวิธีดังกล่าวจะไม่เหมาะกับการนำหญ้าปักกิ่งดังกล่าวไปรักษาโรคต่าง ๆ

วิธีการเก็บเกี่ยวหญ้าปักกิ่ง[แก้]

หญ้าปักกิ่งสามารถนำมาใช้เป็นยาควรจะมีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป แต่ถ้าเป็นการปลูกหญ้าปักกิ่งด้วยการเพาะเมล็ด หากจะนำหญ้าปักกิ่งมาใช้เป็นยา ควรต้องใช้เมื่อหญ้าปักกิ่งเริ่มมีอายุไม่ต่ำกว่า 5 เดือนขึ้นไป และสำหรับวิธีการใช้หญ้าปักกิ่งให้ใช้ได้ทั้งต้นและรากจะดีที่สุด

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Murdannia loriformis ที่วิกิสปีชีส์