สังคายนาไนเซียครั้งที่หนึ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สังคายนาไนเซียครั้งที่ 1

สังคายนาไนเซียครั้งที่หนึ่ง (อังกฤษ: First Council of Nicaea) เป็นสภาสังคายนาสากลครั้งแรกในศาสนาคริสต์ โดยจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราชทรงเรียกประชุมบรรดามุขนายกทั่วจักรวรรดิโรมันมาประชุมกันที่เมืองไนเซีย เพื่อหาข้อสรุปความเชื่อเกี่ยวกับสถานะของพระบุตร และความสัมพันธ์ระหว่างพระบุตรกับพระบิดา[1][2] และได้ข้อสรุปว่าแม้พระบิดาและพระบุตรจะต่างบุคคลกัน แต่มีความเป็นพระเจ้าร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว สภาสังคายนาคอนสแตนติโนเปิลครั้งที่หนึ่งได้ยืนยันข้อสรุปนี้อีกครั้งในปี ค.ศ. 381 และแถลงออกมาเป็นหลักข้อเชื่อไนซีน ซึ่งเป็นบรรทัดฐานความเชื่อทางศาสนาคริสต์กระแสหลักจวบจนในปัจจุบัน

ประวัติ[แก้]

ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 4 ได้เกิดข้อถกเถียงทางเทววิทยาขึ้นในคริสตจักรว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าหรือใหม่ เอเรียส บาทหลวงชาวแอฟริกาเหนือเสนอแนวคิดว่าพระบุตรมีสถานะต่ำกว่าพระบิดา พระบิดาคือพระเป็นเจ้าพระผู้สร้างเพียงพระองค์เดียว ส่วนพระบุตรเป็นสิ่งที่ถูกสร้างในภายหลัง แต่ก็ได้รับเกียรติให้ประเสริฐกว่ามนุษย์อื่นทั้งหมด แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในคริสตจักรสมัยนั้น แต่ขัดกับหลักตรีเอกภาพที่ถือว่าทั้งพระบิดาและพระบุตรล้วนแต่เป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวเสมอกัน จึงเกิดความแตกแยกขึ้นภายในคริสตจักร จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราชทรงเห็นว่าปัญหานี้จะส่งผลต่อความมั่นคงแห่งชาติ จึงประกาศเรียกบรรดามุขนายกจากทั่วคริสตจักรมาร่วมประชุมที่เมืองไนเซียในปี ค.ศ. 325 ประธานสภาฯ คืออัครมุขนายกอะเล็กซานเดอร์แห่งอะเล็กซานเดรีย ซึ่งมีความเห็นต่อต้านลัทธิเอเรียสอย่างรุนแรง สมาชิกที่สำคัญท่านอื่น ๆ เช่น นิโคลัสแห่งมิรา อะทาเนเชียสแห่งอะเล็กซานเดรีย เป็นต้น

ในที่สุดสภาฯ มีมติว่าพระบิดาและพระบุตรเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียว พระบุตรไม่ได้ถูกสร้าง แต่ทรงบังเกิดจากพระบิดาโดย "ร่วมธรรมชาติเดียวกัน" (homoousios) เอเรียสปฏิเสธไม่ยอมรับมตินี้ จึงถูกสภาสังคายนาขับออกจากคริสตจักร

อ้างอิง[แก้]

  1. The Seven Ecumenical Councils, NPNF.2, vol. 14, pp. 39, 44-94
  2. Leclercq, Henri (1911), "The First Council of Nicaea", The Catholic Encyclopedia, vol. 11, New York: Robert Appleton Company, สืบค้นเมื่อ 19 February 2014