ศรวณี โพธิเทศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศรวณี โพธิเทศ
เกิด5 สิงหาคม พ.ศ. 2486 (80 ปี)
สารนิตย์ โพธิเทศ
จังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทย
อาชีพนักร้อง
ปีที่แสดง2504−ปัจจุบัน
อาชีพทางดนตรี
แนวเพลง

สารนิตย์ โพธิเทศ เป็นที่รู้จักในนาม ศรวณี โพธิเทศ[1] (5 สิงหาคม พ.ศ. 2486) ชื่อเล่น นิตย์ เป็นนักร้องลูกกรุงหญิงชาวไทย โดยเป็นนักร้องลูกกรุงหญิงเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน 3 ปีซ้อน จากเพลง "น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ" (2519), "ตะแลงแกงแทงใจ" (2520) และ "พะวงรัก" (2521) ตามลำดับ และรางวัลอารีรัง (นักร้องยอดเยี่ยม) จากประเทศเกาหลีใต้

ประวัติ[แก้]

ศรวณี โพธิเทศ มีชื่อจริงว่าสารนิตย์ โพธิเทศ มีชื่อเล่นว่านิตย์ เกิดที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2486 เข้าศึกษาที่โรงเรียนสุรินทรศึกษาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากนั้นก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาศึกษาที่ต่อที่โรงเรียนการช่างสตรีพระนครใต้ (ปัจจุบันคือคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พระนครใต้)

โลกเสียงเพลง[แก้]

ศรวณีเป็นคนชอบและสนใจการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ทุกวันจะฝึกร้องเพลงในโอ่งมังกรและประกวดร้องเพลงตามเวทีต่าง ๆ ซึ่งเธอเองก็ได้รับชัยชนะแทบทุกครั้ง

ด้วยความใฝ่ฝันอยากจะเอาดีในอาชีพนี้ ในปีพ.ศ. 2504 ระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ คุณอิ๋มรุ่นพี่ที่หอพักก็ได้แนะนำให้มาสมัครเป็น “นักร้องดาวรุ่งพรุ่งนี้ของสุนทราภรณ์” ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงศิลปินคุณภาพภายใต้การฟูมฟักของครูเอื้อ สุนทรสนาน มีหลายคนประสบผลความสำเร็จได้บรรจุเข้ารับราชการ และบางคนก็เกิดอาการท้อถอยถอดใจกลางคัน โดย “ศรวณี” ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี กว่าที่จะได้รับบรรจุตำแหน่งศิลปินจัตวาสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ กินเงินเดือน 450 บาทโดยได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรก คือ “เธอเท่านั้น” ทำนอง ครูเอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ โดยครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ เป็นคนตั้งชื่อให้ว่าศรวณี แปลว่า หญิงผู้มีน้ำเสียงคมดั่งคมศร ได้ร่วมตระเวนร้องเพลงกับครูเอื้อทั้งในวงกรมประชาสัมพันธ์และวงสุนทราภรณ์หลังจากได้บรรจุรับราชการเพียง 4 ปี พ.ศ. 2515 เธอก็ต้องลาออกจากกรมประชาสัมพันธ์ เพราะภาระทางครอบครัว

หลังจากลาออกศรวณีก็มาร้องเพลงตามห้องอาหารกระทั่งคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตได้มาฟังและเกิดความชอบในน้ำเสียง จึงพาเธอไปพบคุณวินัย รุ่งอนันต์นักแต่งเพลง แต่ก็ไม่มีห้างแผ่นเสียงไหนรับเธอ ซึ่งในยุคเพลงไทยลูกกรุงเฟื่องฟูนักร้องมีผลงานเพลงของตัวเองเพราะราชรถมาเกยถึงตัก แต่นักร้องลูกหม้อวงกรมประชาสัมพันธ์คนนี้ “ศรวณี” เธอไขว่คว้าหาโอกาส และต้องจ่ายเงิน 5,000 บาทจากน้ำพักน้ำแรงร้องเพลงกลางคืน เพื่อผลิตผลงานเพลง ของวินัย รุ่งอนันต์ ชื่อว่าเพลง “น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ” เมื่อปี พ.ศ.2519 ต่อมาปี พ.ศ.2520 ก็ได้บันทึกเสียงเพลง “ตะแลงแกงแทงใจ”(ผลงานเพลงของวราห์ วรเวช)

รางวัล[แก้]

การลงทุนทำแผ่นเสียงครั้งนั้นทำให้เธอเข้าใจกระบวนการผลิต เรื่องค่าใช้จ่ายนักดนตรี ค่าห้องบันทึกเสียง รวมถึงการวิ่งแจกแผ่นตามสถานีวิทยุ และผลแห่งความวิริยอุตสาหะ เธอจึงประสบความสำเร็จในชีวิตนักร้อง ศรวณีได้รับรางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน ในปี 2519 เพลง น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ, ปี 2520 เพลง ตะแลงแกงแทงใจ และปี 2521 เพลง พะวงรัก

และในปีพ.ศ. 2521 ทางประเทศเกาหลีได้เชิญประเทศไทยให้ส่งนักร้องไปประกวดร้องเพลง ณ ประเทศเกาหลี ซึ่งศรวณี ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปร่วมการแข่งขัน โดยใช้บทเพลงที่มีชื่อว่า “พะวงรัก” และได้รับ “รางวัลอารีรังอวอร์ด” (รางวัลนักร้องยอดเยี่ยม)นับเป็นนักร้องจากประเทศไทยคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้

ปัจจุบัน[แก้]

ปัจจุบัน “ศรวณี โพธิเทศ” มีบุตรธิดา 2 คน คือ นายสมาธิ โพธิเทศ และ นางสาวสุวิภา โพธิเทศ โดยยังรับงานรับเชิญร้องเพลงอยู่

ตัวอย่างผลงาน[แก้]

  • พะวงรัก
  • ตะแลงแกงแทงใจ
  • น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ
  • อำลา-ที่เหลืออาลัย
  • ไม่มีแม้คำลา
  • ความคิดถึงเป็นส่วนหนึ่งของความรัก
  • ผู้ชำนาญการฆ่า
  • รักครั้งแรก
  • ไร้อาวรณ์
  • เธอเท่านั้น
  • คำขอร้องครั้งสุดท้าย
  • ยิ้มที่เปื้อนน้ำตา
  • คิดถึงทุกลมหายใจ
  • ฉันหรือคือกากี
  • สวรรค์ลำเอียง
  • ไม่น่าพบกันเลย
  • วิวาห์วาย
  • โลกต้องการสันติภาพ
  • อย่าร้องไห้เพื่อฉัน
  • ฉันอยู่เพื่อใคร
  • อำนาจแห่งความรัก
  • คิดดีแล้วหรือ
  • คิดถึงฉันเป็นคนสุดท้าย

เป็นต้น

รางวัล[แก้]

  • รางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำพระราชทาน จากเพลง "น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ" ปี พ.ศ. 2519
  • รางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำพระราชทาน จากเพลง "ตะแลงแกงแทงใจ" ปี พ.ศ. 2520
  • รางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำพระราชทาน จากเพลง "พะวงรัก" ปี พ.ศ. 2521
  • รางวัลอารีรังอวอร์ด จากเพลง "พะวงรัก" ประเทศเกาหลี ปี พ.ศ. 2521

อ้างอิง[แก้]

  1. บูรพา อารัมภีร (5 มีนาคม 2561). "เพลงของหมอวราห์". ศิลปวัฒนธรรม. (39:5), หน้า 60-61