วัดไผ่ล้อม (จังหวัดนนทบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดไผ่ล้อม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดไผ่ล้อม, เภี่ยะโต้
ที่ตั้งเลขที่ 1 หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดไผ่ล้อม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 6 บ้านเสาธงทอง ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ประวัติ[แก้]

วัดไผ่ล้อมเป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อาจเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งบนเกาะเกร็ด แต่ได้เป็นวัดร้างไปตั้งแต่ พ.ศ. 2308 เนื่องจากพม่าเข้าตีและยึดเมืองนนทบุรี จากนั้นเข้าตีกรุงศรีอยุธยาได้เมื่อ พ.ศ. 2310 จึงไม่มีพระสงฆ์และชาวบ้านดูแลวัด จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2317 ได้มีชาวมอญมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ (อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากกรมการศาสนาระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2313)[1] จนเมื่อวัดมีสภาพทรุดโทรมมากเพราะมีชาวบ้านไม่มาก ประกอบกับวัดถูกทิ้งร้างมานาน อำแดงแตนได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ อุโบสถ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2446 เนื่องจากที่ตั้งวัดอยู่กลางระหว่างวัดมอญอีก 2 วัด คือวัดปรมัยยิกาวาสและวัดเสาธงทอง คนมอญจึงเรียกวัดไผ่ล้อมในภาษามอญว่า เภี่ยะโต้ แปลว่า "วัดกลาง"[2]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2313 ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2313[3] ภายนอกมีกำแพงแก้ว ของเดิมก่ออิฐถือปูนเป็นกำแพงเตี้ยแบบกำแพงบัวหลังเจียด แต่ชำรุดมาก ได้สร้างกำแพงคอนกรีตสูง และมีซุ้มประตูกำแพงแก้วทั้งด้านหน้าและด้านหลังอุโบสถ ด้านหลังอุโบสถเดิมมีพระธาตุรามัญเจดีย์ขนาดใหญ่แต่ชำรุดปรักหักพัง ทางวัดได้สร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบองค์เจดีย์เดิม องค์พระเจดีย์ประดิษฐานอยู่บนฐานใหญ่ รอบฐานในทิศทั้งแปดมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวัดแบบมอญ มีกำแพงแก้วล้อมรอบพระธาตุรามัญเจดีย์ ทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีซุ้มประตูแบบมอญทั้งสองด้าน ด้านหน้าอุโบสถยังมีเจดีย์มอญขนาดย่อม 2 องค์ องค์ระฆังมีรูปทรงกลมคล้ายบาตรคว่ำ มีลายปูนปั้นปิดลายใบเทศประดับรอบองค์ระฆัง อยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม มีปลียอดแบบเจดีย์มอญทั่วไป มีการบูรณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หอระฆังเป็นเครื่องไม้ทั้งหมด หลังคาจัตุรมุขหน้าบันจำหลักลายก้านขด และรูปเสมากลางหน้าบันมีความสวยงาม ทั้งหอสวดมนต์ หมู่กุฏิ และหอระฆังอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-10-20. สืบค้นเมื่อ 2021-03-04.
  2. 2.0 2.1 "วัดไผ่ล้อม". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
  3. "วัดใผ่ล้อม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.[ลิงก์เสีย]