วัดเขากง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเขากง
พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล วัดเขากง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเขากง, วัดเขากงมงคลมิ่งมิตรปฏิฐาราม
ที่ตั้งตำบลลำภู อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเขากง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลลำภู อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส บนพื้นที่ประมาณ 142 ไร่

ประวัติ[แก้]

จากหลักฐานทางโบราณคดี เชื่อว่าวัดเขากงสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1100 ถึง 1300 สมัยเดียวกับพระบรมธาตุไชยา ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุด้วยว่าเศษหม้อโบราณที่พบมากมายในบริเวณวัดเขากงเป็หม้อสมัยสุโขทัย โบราณวัตถุอื่น ๆ ได้แก่ ซากเจดีย์ 3 องค์ ซึ่งปรักหักพังเหลือเป็นหลักฐานปรากฏอยู่อย่างชัดเจน ก่อนรื้อถอนเพื่อใช้เป็นที่ก่อสร้างประดิษฐานพระพุทธรูปทักษิณมิ่งมงคล เป็นที่ก่อสร้างเจดีย์สิริมหามายาและเป็นที่ก่อสร้างอุโบสถหลังปัจจุบัน นอกจากนี้ บริเวณเขาทั้ง 3 ลูกในพื้นที่ที่เรียกว่า เขากง ยังพบเศียรพระพุทธรูปโบราณและเศียรพระโพธิสัตว์แบบพุทธศาสนานิกายมหายานมากมาย

จากนั้นมีสภาพเป็นวัดร้าง และได้สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ พ.ศ. 2421 มีหลวงพ่อเปาะเลาะ จันทูปะโน เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก มีความเจริญระยะหนึ่งแล้วกลายเป็นวัดร้าง จน พ.ศ. 2494 หลวงพ่อโท๊ะ อาภาสโร ได้มาจำพรรษาและเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะเป็นวัดมีพระสงฆ์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ[แก้]

อุโบสถสร้างขึ้นตามแบบของกรมการศาสนา มีลักษณะเป็นแบบทรงไทยสมัยใหม่ ด้วยเงินงบประมาณก่อสร้างจากรัฐบาลเป็นเงินหนึ่งล้านบาท โดยได้รับความกรุณาจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) เจ้าอาวาสวัดราชผาติการามวรวิหาร ได้ประสานงานขอรับงบประมาณจากรัฐบาล เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2522 และเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จมาทรงตัดลูกนิมิต เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2526[1]

จังหวัดได้ให้ทางรัฐและเอกชนร่วมมือกันปรับปรุงพื้นที่บริเวณรอบองค์พระและประกาศเป็นพระพุทธอุทยานเขากง และในเขตพุทธอุทยานเขากงยังมีอุโบสถแบบช้างหมอบถวายดอกบัวและพระเจดีย์สิริมมหามายารูปทรงระฆังคว่ำภายในโปร่ง วัดยังประดิษฐานของ พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา นั่งขัดสมาธิเพชรอยู่บนยอดเขา เป็นศิลปะสกุลช่างอินเดียตอนใต้แบบโจฬะ[2] มีขนาดหน้าตักกว้าง 17 เมตร สูงจากใต้พระเพลา ถึงพระเกศบัวตูม 23 เมตร ประดับด้วยโมเสกสีทองทั้งองค์ สร้างเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2512 บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมบรรจุดินจากสังเวชนียสถาน คือ ดินจากสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระอุระเบื้องซ้ายพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดเขากง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "พระพุทธอุทยานเขากง". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
  3. "วัดเขากง". มิวเซียมไทยแลนด์.