วัดสิงห์ท่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสิงห์ท่า
แผนที่
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อใหญ่
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสิงห์ท่า เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำชี ในตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร

ประวัติ[แก้]

วัดท่าสิงห์สร้างเมื่อ พ.ศ. 2324 มีประวัติการสร้างพร้อมกับการสร้างเมืองยโสธร[1] บนพื้นที่วัดร้าง ซึ่งได้ขุดค้นพบสิงห์หินและพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ที่มีหน้าตักกว้าง 3 เมตร จึงเรียกว่า วัดพระเจ้าใหญ่ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดสิงห์ท่า" ภายหลังได้บูรณะพระพุทธรูปแล้วจึงนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานของวัดสืบมา กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดสิงห์ท่าในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2545 เนื้อที่ประมาณ 3 งาน 14 ตารางวา โดยเจดีย์ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. 2545

เสนาสนะและโบราณวัตถุ[แก้]

เจดีย์มีตำนานเล่าว่าผู้สร้างได้เก็บพระพุทธรูปเก่าที่ถูกไฟไหม้เมื่อครั้งไฟไหม้เมืองยศสุนทร[2] ลักษณะของเจดีย์เป็นทรงจอมแหย่อมุมไม้สิบสอง ขนาดกว้างประมาณ 9 เมตร ยาวประมาณ 9 เมตร สูงประมาณ 12 เมตร ปรากฏหลักฐานการก่อสร้าง 2 สมัย สมัยแรกน่าจะเป็นเจดีย์ฐานสูงแต่บริเวณฐานชั้นล่างนี้ถูกก่อทับด้วยสมัยที่ 2 จึงไม่เห็นรูปทรงทางสถาปัตยกรรมส่วนนี้ได้ ส่วนชั้นถัดขึ้นไปก่ออิฐถือปูนย่อไม้สิบสองเช่นกัน มีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร ชั้นบัวปากระฆัง ย่อมุมต่อขึ้นรับกับบัลลังก์ ส่วนยอดเป็นบัวกลุ่มเหลืออยู่ 7 ชั้นลดหลั่นกัน สมัยที่สองก่อพอกทับฐานปัจจุบันเหลือหลักฐานที่เป็นบัวคว่ำบัวหงาย 2 ชั้น อยู่เพียงเล็กน้อยทางด้านทิศเหนือ การทรุดตัวขององค์เจดีย์สมัยแรกเพราะแนวอิฐที่ก่อเพิ่มนั้นไปประสานกับองค์เดิม[3]

พระประธานนามว่า หลวงพ่อใหญ่ หรือ หลวงพ่อสิงห์ฤทธิ์ปราบปวงมาร มีลักษณะแบบพื้นถิ่นอีสาน ประทับนั่งปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ พระเศียรใหญ่เมื่อเทียบกับพระวรกาย พระพักตร์กลม พระขนงโค้ง พระปรางอูม พระเนตรเปิด พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาว ครองจีวรแบบห่มดอง สังฆาฏิเป็นแผ่นแบน ยาวจรดพระนาภีที่เจาะเป็นรูแต่งขอบให้เป็นดอกไม้

อุโบสถเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมรูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีใบเสมาหินทรายปักอยู่โดยรอบ จำลักเป็นรูปกลีบบัวในวงกลมสองวง คั่นกลางด้วยจุดกลม ๆ โดยรอบ

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดสิงห์ท่า". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.
  2. "เจดีย์เก่าหลังวัดสิงห์ท่า". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "วัดสิงห์ท่า". พุทธศิลป์อีสาน.